Tuesday, July 22, 2014

คำว่าประชาธิปไตย

คำว่า "ประชาธิปไตย" เป็นสิ่งที่ชนชั้นปกครองช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 เกลียดชังอย่างรุนแรง โดยประณามว่าระบอบนี้เป็น "การปกครองโดยฝูงชน" ของ "พวกสามัญชนคนต่ำช้า" ตามคำกล่าวของ เอ็ดมันด์ เบิร์ค ส่วนแมคคอลีย์ นักประวัติศาสตร์อังกฤษแห่งพรรควิกซึ่งมีแนวปฏิรูปก็ยืนกรานไม่ต่างกับพวกนิยมกษัตริย์ โดยกล่าวว่า "สิทธิการเลือกตั้งสำหรับบุคคลทั่วไปนั้นจะเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อจุดประสงค์ทั้งหมดของการมีรัฐบาล" และ "เข้ากันไม่ได้โดยเด็ดขาดกับการดำรงอยู่ของอารยธรรม"
Edmund Burke

แม้แต่ตอนที่ชนชั้นปกครองถูกกดดันจากชนชั้นล่างกลุ่มต่างๆ จนต้องยอมมอบสิทธิการออกเสียงเลือกตั้ง แต่พวกเขาก็ยังหาทางให้เอาคุณสมบัติเรื่องทรัพย์สินมาเป็นตัวกำหนด เพื่อกีดกันชนชั้นล่างๆ ไม่ให้มีสิทธิอยู่ดี พระราชบัญญัติปฏิรูปของสหราชอาณาจักร ฉบับปี 1832 ขยายสิทธิเลือกตั้งให้พลเมือง (ชาย) จำนวน 2 แสนคนเป็น 1 ล้านคน ซึ่งเท่ากับไม่ถึงหนึ่งในห้าของจำนวนประชากรเพศชายวัยผู้ใหญ่ (ในสหราชอาณาจักรนับตั้งแต่ชนชั้นปกครองยอมรับว่าชนชั้นกลางควรมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในปี 1832 นั้น ยังต้องใช้เวลาอีกถึง 95 ปีกว่าที่จะยอมให้ผู้ชายในวัยผู้ใหญ่ทุกคนมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้)
พระราชบัญญัติ ฉบับปี 1867 ซึ่งประกาศใช้ท่ามกลางความปั่นป่วนวุ่นวายอย่างหนักนั้น เพิ่มจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งให้มีมากขึ้น แต่ครึ่งหนึ่งของประชากรเพศชายก็ยังไม่ได้สิทธินี้ และ "พวกผู้นำทั้งพรรคอนุรักษนิยมและเสรีนิยมต่างก็ไม่คิดให้กฎหมายฉบับนี้สถาปนารัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยขึ้น" (หน้า 624-625)

อ่านมาถึงตรงนี้ ทำให้ผมได้รู้ว่า ประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยของตะวันตกเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิในการเลือกตั้งของ "พวกสามัญชนคนต่ำช้า" ไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายดายเอาเสียเลย

ไหนๆ ก็พูดถึงเรื่อง 'ประชาธิปไตย' แล้ว ก็อยากจะชวนให้ผู้อ่านให้ได้มาพิจารณาลักษณะสำคัญ 3 ประการของรัฐประชาธิปไตยตะวันตกกันเสียเลย

ในรายงานการวิจัย เรื่อง 'บทวิพากษ์ธรรมวิทยาแห่งพลเมืองไทยของประกาศกร่วมสมัย' หน้า 212 - 213 อาจารย์สมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่าลักษณะสำคัญของรัฐประชาธิปไตยมี 3 ประการที่สัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก ได้แก่



1) ส่วนที่มาจากการเลือกตั้งของรัฐ ควบคุมส่วนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของรัฐ โดยทั่วไป เรามักจะพูดถึงลักษณะข้อนี้อย่างเป็นรูปธรรมว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งควบคุมกองทัพ (และข้าราชการประจำอื่นๆ) แต่ความจริง "ส่วนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของรัฐ" มีเนื้อหาที่ครอบคลุมกว้างขวางกว่ากองทัพ หรือข้าราชการประจำทั่วไป และแตกต่างกันในแต่ละสังคม

2) ส่วนที่มาจากการเลือกตั้งของรัฐอยู่ภายใต้อิทธิพล กระทั่งการควบคุมของประชาชนอีกต่อหนึ่ง

3) ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน และระหว่างประชาชนด้วยกัน อยู่บนพื้นฐานที่ทุกคนเสมอภาคกันภายใต้กฎหมาย โดยไม่มีข้อยกเว้น

No comments:

Post a Comment