Monday, November 10, 2014

เอกสารเก่าเก็บ

เอกสารเก่าเก็บ เมื่อครั้งมีปัญหากับคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่



The world is a dangerous place, not because of those who do evil, but because of those who look on and do nothing.

โลกนี้เป็นที่อันตราย มิใช่เพราะคนทำสิ่งชั่วร้าย หากเพราะคนดูดายและไม่ทำอะไรต่างหาก  Albert Einstein




Sunday, October 26, 2014

โลกในศต.ที่ 21

เมื่อวานนี้ได้มีโอกาสแวะไปที่ห้างสหไทย อำเภอทุ่งสง เลยแวะเข้าไปในร้านหนังสือซีเอ็ด พบหนังสือออกใหม่ของอาจารย์จุลชีพ ชินวรรโณ อาจารย์ที่สอนผมสมัยแรกเข้าเรียนในระดับปริญญาเอก เมื่อปี 2552 ภาคฤดูร้อน ในรายวิชา ร.504 ความรู้เบื้องต้นทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ผมได้ทำสรุปการบรรยายของ รองศาสตราจารย์ ดร.จุลชีพ ชินวรรโณเก็บไว้ แล้วทำลิงก์ให้ดาวน์โหลดได้ฟรี ที่นี่
ปรากฏว่าเนื้อหาในการบรรยายทั้งหมด ปรากฏออกมาในรูปของหนังสือเล่มนี้สีสันสวยงาม (ดูภาพด้านล่าง) ใครสนใจอยากหามาเก็บไว้เป็นสมบัติส่วนตัว ขอแนะนำเลยนะครับ



Wednesday, October 22, 2014

จากยุคพลเอกเปรมถึงยุคนายชวน



รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้ยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม 2531 ภายหลังการเลือกตั้งได้มีเสียงเรียกร้องให้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พลเอกเปรม ติณสูลานนท์จึงไม่ยอมเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ แม้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่จะสนับสนุน ด้วยเหตุนี้ สภาผู้แทนราษฎรจึงลงมติเสนอชื่อพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณเป็นนายกรัฐมนตรี
ช่วงนี้เศรษฐกิจของเมืองไทยอยู่ในขั้นดี จากผลของการดำเนินงานของรัฐบาลที่ผ่านมา การก่อสร้างและธุรกิจที่ดินเจริญเติบโตมากจนประชาชนที่เป็นชาวไร่ชาวนาพากันขายที่ดิน และมีการซื้อขายที่ดินผ่านมืออย่างรวดเร็ว ประกอบกับการรบพุ่งต่อสู้กันของประเทศเพื่อนบ้านสงบลง รัฐบาลจึงประกาศนโยบายทำสนามรบให้เป็นสนามการค้า และพยายามดำเนินการให้คนไทยไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน
อย่างไรก็ดี ช่วงการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งก็ถูกขัดขวางจากการปฏิวัติของคณะทหารที่ใช้ชื่อว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัน ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2535 แล้วประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2532 และประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 แทน พร้อมกันนั้นได้เชิญนายอานันท์ ปันยารชุน มาเป็นนายกรัฐมนตรี
ภายหลังการเลือกตั้งในเดือนเมษายน 2535 สมาชิกสภาผู้แทนกลุ่มพรรคต่างๆ ที่เป็นเสียงข้างมากได้เชิญพลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบกเป็นนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 6 พฤษภาคม 2535 ระหว่างนั้นได้เกิดการประท้วงรัฐบาลจนเกิดการนองเลือดครั้งใหญ่จนรัฐบาลต้องลาออก เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2535 และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งนายอานันท์ ปันยารชุน เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งเพื่อยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ ภายหลังการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกนายชวน หลีกภัยเป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2535 

Thursday, October 16, 2014

การบริหารคนแบบคนใต้


"แล้วอีกอย่างหนึ่งนะที่สำคัญที่สุด คนนะไม่ใช่คอมพิวเตอร์ คนมันมีความร้อน มีอุณหภูมิ มีความร้อน ความหนาว แต่ละช่วง แต่ละวัน ฉะนั้น ที่สำคัญที่สุดการบริหารความรู้สึกของคนให้ได้ เรื่องใหญ่นะ บริหารความรู้สึกคน เราไม่รู้ว่าแต่ละวันเขาไปเจออะไรมา สมมติว่าเขาทะเลาะมากับแฟนที่บ้าน เราก็ต้องหมั่นสังเกต วิเคราะห์คนให้ออกว่าวันนี้ทำไมหน้าตาไม่เหมือนเมื่อวาน น้ำเสียงก็เหมือนกัน ต้องรู้ถึงความรู้สึกเขาให้ได้ เพราะฉะนั้น เวลาเราจะมอบงานก็อย่าไปมอบในช่วงนั้น เดี๋ยวมันก็ด่ากลับมาแหละ ถ้ารอได้ก็รอ เพื่อนอารมณ์ไม่ดี ขืนไปมอบหมายงานก็เป็นเรื่อง นี่คือการบริหารงานของคนใต้ แต่ละวันสำหรับบางคนเหมือนกับเปลี่ยนไป 3-4 เวลาเลย เช้า สาย บ่าย เย็น ไปกันคนละเรื่อง คืออารมณ์มันไม่เสถียร แต่บางคนอารมณ์เยือกเย็นเสถียรตลอด คนที่อารมณ์ร้อนก็จะร้อนตลอดอันนี้ไม่เป็นไร แต่ว่าที่มาแบบเย็นบ้าง ร้อนบ้าง เราเดาไม่ถูก เราก็ต้องหาทางเข้าให้ถูก
สัมภาษณ์ผู้อำนวยการโรงเรียนท่านหนึ่ง 

อาชีพที่รวยนิ้วมือ

"อาชีพนี้เป็นอาชีพที่รวยนิ้วมือ (เน้นเสียงหนัก) ไม่ได้ร่ำรวยอย่างอื่น มันเป็นคุณค่าทางใจ แต่ก็ถูกต่อว่าว่าครูเป็นหนี้เป็นสินเยอะแยะ แหม่แทบอยากจะฆ่าให้ตายเลยไอ้พวกที่ให้ข่าวอย่างนั้น ไปบอกว่าครูสร้างหนี้สร้างสิน แล้วทำไมคุณถึงไม่ไปดูว่าไอ้หนี้สินที่เขาเอาไปสร้างนะ เขาเอาไปทำอะไร เขามีที่ เขามีไร่ เขามีสวน เขาทำสวนยาง เขาทำสวนปาล์ม เป็นอาชีพเสริมของเขา เสาร์-อาทิตย์ เขาก็ไม่มีเวลาไปฉ้อโกงตรงไหน ไม่ไปเบียดเบียนตรงไหน ถูกไหมคะอาจารย์ ในเวลาราชการเขามาสอนเต็มที่ เท่าที่เขาจะทำได้ จะเห็นนะคะว่าไม่มีใครไปดูแลสวนของตนเองในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เขาไปเสาร์-อาทิตย์ เขาไปช่วงปิดเทอม แล้วคุณจะมาเบียดเบียนอะไรละกับครู" - สัมภาษณ์ครูในจังหวัดสุราษฎร์ธานีท่านหนึ่ง

Wednesday, October 15, 2014

PPT หน้าที่พลเมืองและจิตสำนึกสาธารณะ

พาวเวอร์พ้อยท์นี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา ทักษะชีวิต ที่ผมใช้สอนในหัวข้อ หน้าที่พลเมืองและจิตสำนึกสาธารณะให้กับนักศึกษาหมวดวิชาศึกษาทั่วไปชั้นปีที่ 1 ท่านใดสนใจ ดาวน์โหลดกันได้ ที่นี่ครับ



Tuesday, October 14, 2014

การทำซ้ำหัวตาราง

ปัญหาประการหนึ่งของการทำงานด้วย MS-Word ก็คือเรื่องหัวตารางที่เราพิมพ์ไว้ในหน้าที่ 1 แต่เมื่อทำงานต่อเนื่องไปยังหน้าที่ 2 แล้ว หัวตารางกลับไม่ได้ตามไปอยู่ในหน้าที่ 2 ด้วย หลายคนปล่อยเลยตามเลย สำหรับคนที่ยังไม่รู้ไม่ทราบ วิธีการเป็นอย่างนี้ครับ

ผลลัพธ์ที่ได้ เป็นอย่างภาพด้านล่างนี้นะฮะ



Monday, October 13, 2014

ข้อดีของประชาธิปไตยที่ถูกกำกับโดยเสรีนิยม

ข้อดีของประชาธิปไตยที่ถูกกำกับโดยเสรีนิยม (Liberal Democracy) ซึ่งพวกเผด็จการที่ปกครองประเทศอยู่ ณ ขณะนี้ไม่รู้จัก ก็คือ..

“เสรีนิยมเป็นแนวความคิดทางการเมืองที่อำนาจรัฐแม้จะเป็นอำนาจของเสียงข้างมากและเป็นอำนาจที่แข็งแกร่งแต่ก็จะจำกัดอำนาจของตนและปล่อยให้คนที่มีความคิด และความรู้สึกที่แตกต่างออกไปจากตนจะยังมีพื้นที่ที่จะยื่นอยู่ได้”

- โฆเซ่ ออร์เตก้า อี กาเซต์, 1930 -

http://fnfthailand.org/library-of-freedom/liberal-ideas

Sunday, October 12, 2014

วางมือจากสิ่งที่คุณทำสักพัก

"วางมือจากสิ่งที่คุณทำสักพัก แล้วใคร่ครวญดูสิว่า อะไรที่ทำแล้วได้ผล และอะไรที่ทำแต่ไม่เคยได้ผล คนบางคนก็ทำซ้ำอย่างเดิมอยู่นั่นแหละ มีแต่คนบ้าเท่านั้น ที่ทำอะไรแบบเดิมๆ แล้วคาดหวังว่าผลที่ได้จะแตกต่างไปจากสิ่งที่มันเป็นอยู่"
# มิตรสหายท่านหนึ่ง
หลักคิดนี้ ผมนำไปสอนนักศึกษาเรื่องการอ่านหนังสือเตรียมสอบ การอ่านหนังสือและจดโน้ตแบบเดิมๆ ก็เหมือนภาพด้านล่างนี้ หลายครั้งอ่านมาก อ่านเยอะเท่าไหร่ คะแนนและผลสอบที่ได้ก็ไม่ค่อยดี บางทีเราอาจต้องมาทบทวนวิธีการเดิมๆ ของเราเสียใหม่



 ถ้าอยากให้ผลการเรียนที่ได้รับ แตกต่างออกไป ลองวิธีการใหม่ๆ บ้างในการอ่านและจดโน้ต ตัวอย่างเช่น การทำแผนผังความคิด (Mind Map) แบบนี้

ใครสนใจวิธีการทำแผนผังความคิดโดยละเอียด อ่านได้จาก ลิงก์ต่อไปนี้
http://www.siraekabut.com/2013/07/mind-map/ 


Saturday, October 11, 2014

ออกแบบอย่างไรให้องค์กรแกร่ง

ผมมีโอกาสไปนั่งสนทนาพูดคุยกับอาจารย์รุ่นน้องในหลักสูตรทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์ ณ ร้านกาแฟแห่งหนึ่ง ระหว่างรอกินกาแฟน้องอาจารย์ก็หยิบหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจมาให้อ่านฆ่าเวลา เผอิญเปิดไปเจอหัวข้อที่น่าสนใจ เรื่อง "ออกแบบอย่างไรให้องค์กรแกร่ง"
อ่านแล้วเห็นว่าเนื้อหาน่าสนใจก็เลยถ่ายรูปเก็บไว้ตั้งใจว่าหากมีโอกาสก็จะเอามาสอนนักศึกษาทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์ที่ผมสอน เนื้อหาน่าสนใจอย่างไร? อ่านได้จากข้างล่างนี้ครับ



ประชาธิปไตยกับการทำน้ำหวาน

เมื่อวันพุธที่ 8 และวันศุกร์ที่ 10 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกที่ผมได้พบกับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่ลงทะเบียนเรียนวิชา 935-123 ทักษะชีวิต (Life Skills) ในหัวข้อ "หน้าที่พลเมืองและจิตสำนึกสาธารณะ" วิชานี้มีอาจารย์ร่วมกันสอนหลายท่าน และผมก็เป็นหนึ่งในนั้น รับผิดชอบสอนนักศึกษาทั้งหมด 5 กลุ่ม กลุ่มละ 1 ครั้ง ครั้งละ 3 ชั่วโมง เฉพาะวันพุธ และวันศุกร์ที่ผ่านมาเป็นนักศึกษากลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 5


ในหัวข้อที่เกี่ยวกับหน้าที่พลเมืองนั้น ผมบอกนักศึกษาว่า จะรู้ว่าพลเมืองมีหน้าที่อะไรนั้น ก็ต้องรู้ก่อนว่า เป็นพลเมืองในระบอบอะไร? จากนั้นจึงถามว่าปัจจุบันเราอยู่ภายใต้ระบอบการปกครองอะไร? เผด็จการหรือประชาธิปไตย?
จากนั้นผมก็เริ่มสอนเรื่องประชาธิปไตยว่า ประชาธิปไตยมีองค์ประกอบที่สำคัญและขาดไม่ได้ก็คือ "การเลือกตั้ง" แต่มีเฉพาะการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวยังไม่พอ และย้ำว่าปัจจุบันนี้ระบอบประชาธิปไตยที่นานาประเทศใช้กันอยู่คือ ระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีหรือระบอบเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democracy) อ่านรายละเอียดที่นี่
ถ้าองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ของประชาธิปไตย (Democracy) คือการเลือกตั้ง องค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ในการทำน้ำหวาน อย่างน้ำผลไม้กระเจี๊ยบ น้ำลำไย น้ำมะตูม น้ำมะพร้าว ฯลฯ ก็คือ "น้ำ" ฉะนั้น หากเปรียบว่าน้ำผลไม้ดังกล่าวคือ ประชาธิปไตย การเลือกตั้งก็คือน้ำ นั่นเอง
แต่การมีองค์ประกอบแค่น้ำเพียงอย่างเดียว ยังไม่พอที่จะเรียกว่าเป็นน้ำผลไม้ต่างๆ เช่นเดียวกัน การมีแต่การเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวยังไม่พอที่จะเป็นประชาธิปไตย แต่การจะเป็นประชาธิปไตยโดยให้ไม่มีการเลือกตั้งก็ไม่ได้ การเลือกตั้งจึงเป็นเงื่อนไขที่สำคัญและจำเป็น (necessary condition) แต่ก็เป็นเงื่อนไขที่ไม่เพียงพอ
ถ้าจะทำให้ประชาธิปไตยตั้งมั่นยั่งยืน นอกจากจะให้มีการเลือกตั้งแล้ว ยังจะต้องทำในเรื่องอื่นๆ อีกมาก นั่นคือ การสร้างสถาบันทางการเมืองอย่างรัฐสภา พรรคการเมือง สถาบันที่ดูแลเรื่องการเลือกตั้ง หน่วยงานต่างๆ ที่คอยตรวจสอบสถาบันทางการเมืองและนักการเมือง การสร้างสถาบันส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพ และคุ้มครองไม่ให้เกิดการละเมิดในเรื่องดังกล่าว ทั้งหมดนี้เราเรียกกันว่า กระบวนการของการสร้างประชาธิปไตย (Democratization)
อย่างไรก็ดี สำหรับประเทศไทยแล้ว ดูเหมือนว่า เฉพาะแค่ให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งอย่างที่ผมบอกไว้ว่า การเลือกตั้งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของประชาธิปไตย ไม่ต่างจาก "น้ำ" ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการทำน้ำหวานผลไม้ เฉพาะแค่การเลือกตั้งประเทศไทยเราก็ไม่ค่อยจะมีอย่างยั่งยืนถาวร เนื่องจากเกิดการรัฐประหารยึดอำนาจอยู่บ่อยครั้ง แล้วผู้ยึดอำนาจก็ใช้ระบบของ "การแต่งตั้ง" แทน หรือไม่ก็กำหนดให้ "การแต่งตั้ง" เป็นส่วนผสมอยู่ในระบบที่พวกเผด็จการที่ยึดอำนาจเขาควบคุมได้อยู่เสมอๆ เช่น การมี ส.ว. ที่มาจากทั้งการเลือกตั้งและการแต่งตั้ง เขาจะไม่ยอมให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งล้วนๆ แล้วอย่างนี้ จะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร มันก็เหมือนกับการที่เอา อย่างอื่นที่ไม่ใช่ "น้ำ" เทผสมลงไปเพื่อทำน้ำผลไม้ ก็รังแต่จะทำให้น้ำผลไม้เน่าเสียไปเปล่าๆ 

Wednesday, October 1, 2014

จัสติน เกรย์

มีบทกลอนบทหนึ่งที่เล่าเกี่ยวกับคนที่มีอีโก้สูง ที่ถึงแม้ว่าเขาจะแพ้ แต่ยังไงเขาก็ต้องเป็นคนถูกต้อง ซึ่งกล่าวว่า
พ่อหนุ่ม จัสติน เกรย์ ผู้ไม่เคยผิด
เขายอมตายเพื่อปกป้องความคิดตัวเอง
เขาจะเป็นฝ่ายถูก
เขาจะมีเหตุผลของตัวเอง
สำหรับเขาแล้ว การมีชีวิตอยู่พร้อมกับความผิด
มันก็เหมือนการตายทั้งเป็น

ทุกครั้งที่ผมเห็นคนรอที่จะข้ามถนนตรงทางม้าลาย ผมชอบนึกถึงบทกลอนนี้เสมอ เพราะผมกำลังเห็นคนที่มั่นใจที่สุดคนหนึ่ง ที่คิดว่าเขาเป็นคนที่ถูกต้องที่สุดกำลังจะเดินข้ามถนน ในขณะที่มีรถวิ่งผ่านเต็มไปหมด
ในหัวของเขาคิดเพียงสิ่งเดียวคือ รถทุกคันต้องหยุดให้เขาเดินข้ามถนนโดยไม่มีข้อแม้ใดๆ เขาทำสิ่งที่ถูกต้อง ดังนั้น คนอื่นต้องเป็นคนผิด ในโลกของความเป็นจริง ผมก็เห็นคนแบบนี้อยู่เหมือนกันคือ พวกที่ไม่ยอมรับความจริง โทษคนอื่น แทนที่จะโทษตัวเอง คนที่โต้เถียงคนอื่น แทนที่จะรับฟังคนอื่น เป็นคนที่มองโลกโดยใช้ความคิดตัวเองเป็นใหญ่ ไม่แคร์คนอื่น
ทุกครั้งที่ผมเจอคนแบบนี้ ผมมักจะเตือนสติตัวเองอยู่เสมอๆ ว่า ผมกำลังเป็น จัสติน เกรย์ อยู่หรือเปล่า 
 Robert T. Kiyosaki
 
 
 
 
 

Monday, September 29, 2014

คาถาของคนที่คิดใหญ่

คาถาของคนที่คิดใหญ่

1) อย่ามีปมด้อย อย่าดูถูกตัวเอง ทุกอย่างเป็นไปได้ พยายามสลายข้อจำกัดของตัวเองอยู่เสมอ
2) ใช้คำของคนที่คิดใหญ่ หมั่นมองโลกตามความเป็นจริงและคิดในแง่บวกอยู่เสมอๆ
3) มองอนาคตให้ไกลขึ้น พูดง่ายๆ ว่า มองกว้าง คิดไกล และใฝ่สูง
4) มองงานของคุณให้ใหญ่ขึ้น แล้วลงมือทำในเรื่องเล็กๆ มุ่งสู่เป้าหมายหลักที่แน่ชัด
5) อย่าคิดเรื่องจุกจิก แต่ให้คิดอย่างละเอียดถี่ถ้วน รอบคอบ และวางแผนงานอยู่เสมอทั้งระยะสั้นและระยะยาว
6) เติบโตโดยการคิดใหญ่ 
 
 
 
 
 

Monday, September 8, 2014

แก่นแท้ทุนนิยม

ในบรรดาคำจำกัดความของคำว่า 'ทุนนิยม' นั้น ผมชอบคำจำกัดความของ Joseph Schumpeter (ค.ศ. 1883-1950) มากที่สุด เขาให้คำจำกัดความทุนนิยมว่าอย่างไรนะหรือครับ? เขาว่าไว้อย่างนี้ครับ...

 

ทุนนิยมโดยธรรมชาติธาตุแท้ของมัน คือ รูปแบบหรือวิธีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ มันไม่เคยหยุดและไม่มีทางหยุดอยู่กับที่...แรงขับดันพื้นฐานที่หมุนจักรกลของทุนนิยมให้ทำงานและผลักดันให้หมุนต่อไปอย่างไม่หยุดหย่อนมาจากสินค้าสำหรับลูกค้ารายใหม่ๆ วิธีการผลิตหรือระบบการขนส่งคมนาคมระบบใหม่ๆ ตลาดใหม่ๆ และรูปแบบการจัดองค์การอุตสาหกรรมแบบใหม่ๆ ที่วิสาหกิจทุนนิยมสร้างมันขึ้นมา การเปิดตลาดใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นในต่างประเทศหรือตลาดภายใน และการพัฒนาการจัดองค์การจากร้านหัตถศิลป์ไปสู่โรงงานการผลิต...
สะท้อนถึง (ถ้าจะยืมคำของชีววิทยามาใช้ ก็คือ)
กระบวนการกลายพันธุ์ในแบบเดียวกันในทางอุตสาหกรรม ที่ก่อให้เกิดการปฏิวัติโครงสร้างทางเศรษฐกิจ จากภายในอย่างไม่หยุดหย่อน ทำลายโครงสร้างเก่าอย่างไม่หยุดยั้ง สร้างของใหม่ขึ้นทดแทนอย่างไม่หยุดนิ่ง กระบวนการทำลายเพื่อสร้างสรรค์นี้ (Creative destruction) นี่เอง คือ แก่นแท้ของทุนนิยม

Thursday, September 4, 2014

อ่อนแอเกินกว่าจะรับมอบเสรีภาพ

 หน้า 388-389

...และถึงแม้ว่ามนุษย์จะได้เสรีภาพมา พวกเขาก็จะนำมันส่งกลับมาวางคืนแทบเท้าผู้ทรงอำนาจ ผู้ให้ขนมปังและความสงบทางจิตใจแก่พวกเขาได้ มนุษย์นั้นอ่อนแอเกินกว่าจะรับมอบเสรีภาพเป็นของขวัญ สิ่งที่มนุษย์ต้องการไม่ใช่เสรีภาพ แต่คืออาหารเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ใครผู้ใดก็ตามที่ทำให้พวกเขามีกินมีใช้ได้ เขาก็จะบูชาคนคนนั้นราวกับเป็นผู้มาโปรด...




Wednesday, September 3, 2014

การเป็นพลเมืองแบบเบิร์ก

 แนะนำหนังสือน่าอ่าน ที่นี่

การเป็นพลเมืองแบบเบิร์ก (Edmund Burke) ก็คือการอนุญาตให้คนเป็นพลเมืองที่หลากหลายระดับพร้อมๆ กันได้ถือเป็นเรื่องดี ซึ่งถือเป็นพหุนิยมของการเป็นพลเมือง ส่วนการบังคับให้บุคคลมีแต่ความจงรักภักดีหรือมีหน้าที่ต่อรัฐเท่านั้น ย่อมไม่เพียงพอและไม่เป็นผลดีแต่ประการใด  ด้วยเหตุที่ว่ามันจะนำไปสู่รัฐที่ทรงอำนาจล้นพ้น 



Saturday, August 23, 2014

ชีวิตกับการเดินทาง


ชีวิตกับการเดินทาง เราไม่รู้ว่าวันสุดท้ายของชีวิตจะไปจบที่ตรงไหน เมื่อไหร่ อย่างไร แม้เป้าหมายของการเดินทางจะสำคัญ แต่เรื่องราวในระหว่างการเดินทางก็สำคัญไม่แพ้กัน

เรื่องราวในชีวิตผมก็เหมือนกัน ชีวิตผมเกิดที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เข้าเรียนระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนเทศบาลวัดรามประดิษฐ์ จบแล้วก็มาเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนชาย หรือโรงเรียนปากพนัง จากนั้นพ่อก็วางแผนส่งผมให้มาเรียนระดับมัธยมปลายที่สงขลา โรงเรียนมหาวชิราวุธ ผมพักอาศัยอยู่กับน้า พักอาศัยอยู่ในซอยหลังโรงเรียนวรนารีเฉลิม พ่อผมทำอาชีพประมงอวนลาก ส่วนแม่นอกจากจะเป็นแม่บ้านเลี้ยงลูกๆ แล้ว ก็ยังเปิดร้านโชว์ห่วยค้าขายของชำ ขายข้าวตามสั่ง และคอหมูย่าง 
เรียนจบมัธยมปลาย ผมก็สอบเอ็นทรานต์โดยวิธีรับตรงได้ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีเมื่อปี 2539 เลือกวิชาเอกภาษาอังกฤษเป็นวิชาเอก ส่วนวิชาโทเป็นรัฐศาสตร์ แต่ใจรักรัฐศาสตร์มากกว่าวิชาเอก ประทับใจอาจารย์ผู้สอนคนหนึ่งคืออาจารย์ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ได้แรงบันดาลใจจนตัดสินใจเรียนต่อระดับปริญญาโทไปต่อทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์ที่ นิด้าหรือสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เข้ารุ่นปี 2544 
เพื่อนรุ่นเดียวกับผมมีอยู่ราว 70 กว่าคน แต่คนที่เลือกแผนทำวิทยานิพนธ์มีไม่ถึง 10 คน ผมเลือกอาจารย์พลภัทร บุราคมเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ทำวิทยานิพนธ์สาขาบริหารการเงินและการคลัง อาจารย์พลภัทร เป็นอีกคนที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผมในการเดินทางสายวิชาการ ผมเรียนไม่ทันจบก็เกิดเหตุการณ์สำคัญกับชีวิต (ผมเขียนเล่าไว้ในกิตติกรรมประกาศงานวิทยานิพนธ์ของผม ที่นี่

เรียนจบปริญญาโทพร้อมรางวัลวิทยานิพนธ์ระดับชมเชย ผมกลับมาบวชให้พ่อ และแม่ สึกออกมาก็หางานทำจากความช่วยเหลือของชนินทร์ ป้อมบุบผา เพื่อนรุ่นน้องที่เรียนด้วยกันเมื่อสมัยเรียนปริญญาโทที่นิด้า ทำให้ได้งานที่สถาบันพัฒนาสยามของ ศาสตราจารย์ พิเศษ ดร.สมชัย ฤชุพันธุ์ น้องชายของคุณมีชัย ฤชุพันธุ์ ทำงานอยู่ราว 2 ปี ได้สอบเป็นอาจารย์ราชภัฏภูเก็ต นอกจากสมัครสอบที่ราชภัฏภูเก็ตแล้ว ยังได้ส่งเอกสารสมัครสอบที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ด้วย แต่ก็มีปัญหาความอยุติธรรมบางประการจนกลายเป็นเรื่องเป็นราว (อ่านที่นี่)
ต่อมาปี 2550 ผมสมัครสอบเป็นอาจารย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี เพราะอยากจะกลับมาอยู่ใกล้บ้านให้มากขึ้นขึ้น สอนอยู่ที่สุราษฎร์ธานีได้ 3 ปี แบบไม่มีนักศึกษาและหลักสูตรทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์เป็นของตัวเอง ครบ 3 ปีก็ได้มีโอกาสไปสมัครเรียนต่อระดับปริญญาเอกที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ (อ่านที่นี่)
เรื่องราวของชีวิตกับการเดินทางนับแต่นั้นจนถึงวันนี้ยังไม่จบ แต่ระหว่างทางกลับมีเรื่องราวอะไรต่างๆ มากมาย ไว้มีโอกาสจะนำมาเล่าให้ฟังต่อนะครับ




Friday, August 22, 2014

ความรุนแรงไม่เลือกข้าง


ผมซื้อหนังสือเล่มนี้มาอ่านก็หลายวันแล้ว เป็นเรื่องราวข้อเท็จจริงและเหตุการณ์สำคัญๆ ทางการเมืองของไทยในช่วง 203 วันก่อนที่จะเกิดการรัฐประหารโดยกองทัพเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
ประเด็นหนึ่งที่ผมอ่านแล้วรู้สึกอยากจะเขียนบล็อกนี้ขึ้นมาก็คือ การต่อสู้ของกลุ่มหลักๆ ทั้ง 2 ฝ่าย (ฝ่าย กปปส. และฝ่าย นปช.) ต่างก็ใช้ความรุนแรงกันทั้งนั้น และหลายต่อหลายครั้ง ความซวยกลับตกไปที่ประชาชนคนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ อย่างกรณีเหตุสลดสะเทือนใจเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2557 คนร้ายใช้เครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม 79 ยิงระเบิดใส่บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีราชดำริ ถนนราชดำริ เขตปทุมวัน กทม. เป็นเหตุให้ ด.ช.กรวิชญ์ ยศอุบล (น้องเคน) อายุ 4 ขวบ และ ด.ญ.พัชราภร ยศอุบล (น้องเค้ก) อายุ 6 ขวบ เสียชีวิตทั้งคู่

และในหลายเหตุการณ์ ต่างฝ่าย (ทั้งฝ่าย กปปส. และฝ่าย นปช.) ต่างก็สูญเสียคนของตน อย่างวันที่ 23 เมษายน 2557 ไม้หนึ่ง ก.กุนที กวีเสื้อแดงถูกประกบยิงเสียชีวิตระหว่างอยู่บนรถกะบะ กลายเป็นข่าวครึกโครมขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ หรือกรณียิงนายขวัญชัย ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2557 โดยใช้อาวุธสงครามกราดยิงจากระยะไกล

หรืออย่างเหตุการณ์ที่นายสุทิน ธราทิน แกนนำกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ หรือ กปท. ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2557 ขณะนำมวลชนเคลื่อนขบวนเดินทางไปที่หน่วยเลือกตั้งวัดศรีเอี่ยม เนื่องจากมีรายงานว่ายังมีการเปิดให้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งล่วงหน้าได้อยู่

 ความรุนแรงไม่ได้เลือกข้าง ผู้กระทำความรุนแรงเกิดมาจากทั้ง 2 ฝ่าย การเลือกเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยไม่เห็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากอีกฝ่าย จึงเป็นเรื่องของอคติโดยแท้ มองไม่เห็นสภาพความเป็นจริงทางการเมืองของไทย ผมขอแนะนำว่าถ้าจะเลือกจุดยืนแล้ว เราไม่ควรยึดจุดยืนเข้าข้างฝ่ายใด ไม่ว่าจะเป็น กปปส. หรือ นปช. แต่ควรเลือกที่จะยืนอยู่บนจุดยืนที่ไม่เอาความรุนแรงต่างหาก ในเรื่องนี้เราไม่ควรที่จะถือหางฝ่าย กปปส. หรือฝ่าย นปช. โดยมองไม่เห็นความรุนแรงที่เกิดมาจากฝ่ายตนเลย


ชาวใต้ระกำ


ต้องยอมรับว่า การขับเคลื่อนของ "กปปส." ภายใต้การนำของ "พระสุเทพ เทือกสุบรรณ" มาราธอน 6 เดือน เป็นเหตุและปัจจัยสำคัญยิ่งที่ทำให้ "เครือข่ายทักษิณ" พังครืน และเป็นตัวจุดชนวนให้ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ผบ.ทบ. นำกำลังทหาร 3 เหล่าทัพออกมา "ปฏิวัติ-รัฐประหาร" ได้เป็นผลสำเร็จแบบง่ายดาย
"ม็อบ กปปส." ซึ่งว่ากันไปแล้ว ฐานกำลังหลักปฏิเสธไม่ได้ว่า ห้องเครื่องสำคัญคือ "คนปักษ์ใต้" ทั้ง 14 จังหวัด แต่ 3 เดือนแห่งการ "ปฏิวัติ" คนภาคใต้กลับไม่ได้รับอนิสงฆ์อะไรเลย นอกจาก "กำนันสุเทพ" ได้บวช เปลี่ยนสถานภาพใหม่ เป็น "พระสุเทพ ปภากโร" จากนั้นแล้วล้วน "ติดลบ"
ที่แลเห็นเป็นรูปธรรม จับต้องได้คือ ราคา "ยางพารา" พืชเศรษฐกิจหลักที่เปรียบประดุจกระดูกสันหลังของคนปักษ์ใต้ราคา เมื่อเดือนสิงหาคม 2556 ตกเหลือกิโลกรัมละ 80 บาท "ชาวใต้" มีการรวมตัวเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลในขณะนั้นมีการประกันให้ในราคากิโลกรัมละ 120 บาท
เมื่อไม่ได้ดังข้อเรียกร้อง พากันปิดถนนทั้งขึ้น-ทั้งล่องที่อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช เกิด "ชะอวดโมเดล" และขยายพื้นที่มาปิดถนนหน้า "โค.ออป" จังหวัดสุราษฎร์ธานี กับประจวบคีรีขันธ์
บัดนี้ เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2557 ราคายางพาราหล่นตุ๊บ อยู่ที่กิโลกรัมละ 50 บาท "คนใต้" มิมีใครกล้าเปิดประเด็นเรียกร้องให้ "คสช." ประกันราคายาง ทุกคนพากันกลัวกรงเล็บ "กฎอัยการศึก"
ขนาด "นักการเมือง" ที่ฝีปากจัดจ้าน สวนได้ทุกเม็ด พากันสวมบท "กบจำศีล" หายหัวไปหมด

 ที่มาของภาพ ที่นี่

คนใต้นอกจากจะไร้ความสุขกับราคายางตกแล้ว ข่าวคราว "เชิงลบ" ไหลออกมาไม่หยุด
ล่าสุด ภาพเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ผนึกกำลังกับทหาร-ตำรวจตระเวนชายแดน อาสาสมัครกว่าครึ่งพันเข้ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกหาดนพรัตน์ เกาะพีพี พร้อมกับลุยโค่นยางพารากว่า 300 ไร่ราพณาสูร
ไม่นับ การยกกำลังไปเข้าจัดระเบียบอย่างเข้มงวดบริเวณชายหาดที่จังหวัดภูเก็ต-กระบี่
  จรัญ พงษ์จีน, แหล่งข่าวไม่ขอเปิดเผย
_______________________________ 
แหล่งที่มาของข่าวล่าสุด ที่นี่

Tuesday, August 12, 2014

คัดเกรด

ข้อมูลการสัมภาษณ์ต่อไปนี้ทำเอาผมตกตะลึง ไม่คิดว่าตัวเลขที่ครูผู้ให้การสัมภาษณ์จะสูงมากถึง 80% สังคมของคนชั้นล่างๆ ในสังคม ไม่ได้เป็นสังคมที่สวยงามแบบที่คนชั้นกลางเขาจินตนาการหรอกนะครับ รากฐานปัญหาของสังคมไทยส่วนหนึ่งดูได้จากเรื่องเล่าต่อไปนี้

"...เด็กในระดับมัธยมศึกษาของที่นี่ โรงเรียนของเราก็ต้องทำใจหน่อย เพราะเด็กที่ได้มาก็จะเป็นเด็กที่คนละเกรดกับโรงเรียนในเมือง พูดง่ายๆ ก็คือ คนละเกรดกับของที่อื่น แล้วบริบทของโรงเรียนแห่งนี้นะคะ เด็กประมาณ 80% จะเป็นสภาพครอบครัวที่แตกแยก บางส่วนก็เป็นเด็กที่อยู่กับพ่อและกับแม่เลี้ยง หรือกับพ่อเลี้ยงอะไรอย่างนี้ เด็กนักเรียนจริงๆ ก็ไม่ได้เป็นคนที่นี่ พื้นฐานเด็กจริงๆ พ่อแม่ต้องมาทำงานเป็นลูกจ้าง มาจากต่างอำเภอ และพ่อแม่ก็ต้องมาทำงานเป็นลูกจ้างโรงงานบ้าง ทำงานบริษัทบ้าง ลักษณะครอบครัวเป็นครอบครัวแตกแยก บางคนก็อยู่กับปู่กับย่า เป็นเด็กโดนทิ้ง บริบทของเด็กที่นี่เป็นเด็กที่ครอบครัวแตกแยก เราจะมีความรู้สึกว่าเด็กจะเป็นเด็กที่เกเร ก้าวร้าว คือเรียกร้องความสนใจ ในระดับประถมศึกษายังไม่ค่อยจะมีปัญหา แต่ช่วงมัธยมศึกษาเด็กจะมีปัญหาเยอะ...

Wednesday, August 6, 2014

การโจรกรรมทางวิชาการ

สมัยตอนเรียนคอร์สเวิร์กหรือลงทะเบียนเรียนรายวิชาต่างๆ จำนวน 8 รายวิชา (รวม 24 หน่วยกิต) ก่อนที่ผมจะลงทะเบียนวิทยานิพนธ์ทั้งหมด 36 หน่วยกิตนั้น มีอยู่รายวิชาหนึ่งที่อาจารย์ผู้สอนได้สอนเรื่องการโจรกรรมทางวิชาการ หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า plagiarism 
การโจรกรรมทางวิชาการเป็นปัญหาใหญ่มากสำหรับสังคมเรา แต่เดิมผมเองก็ไม่ค่อยเข้าใจนัก อย่างการที่ไปลอกความคิดนักวิชาการท่านนั้นท่านนี้มา แล้วเราก็อ้างอิง ทำแบบนี้ก็ยังถือว่ายังไม่ถูก ถ้าจะให้ถูกต้อง ต้องใส่สิ่งที่ลอกไว้ในเครื่องหมายคำพูดทั้งหมด "..." ไม่ว่าเราจะลอกมาสั้นหรือยาว
แต่ถ้าเป็นกรณีที่เราไม่ได้คัดลอกคำพูดมา หากแต่เป็นการถอดข้อความมา หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า paraphrase ถึงแม้ว่าจะไม่ได้คัดลอกเนื้อความมาตรงๆ แต่เราก็ต้องอ้างอิงแหล่งที่มาที่เราไปถอดข้อความเขามาทุกครั้ง การไม่อ้างอิง แสดงว่ามีเจตนาที่จะโจรกรรมทางวิชาการ
มีหนังสือเล่มหนึ่ง เขียนโดย รองศาสตราจารย์ ดร.อาทิวรรณ โชติพฤกษ์ อาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือเล่มนั้น ชื่อว่า ก้าวสู่ความเป็นนักวิจัยมืออาชีพ (2553) ได้กล่าวถึงผู้ที่เข้าข่ายการโจรกรรมทางวิชาการว่า แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ไว้ดังนี้  (อาทิวรรณ โชติพฤกษ์, 2553, น. 108)

ประเภทแรก คือ ผู้ที่จงใจทำการโจรกรรมทางวิชาการ อันได้แก่
                   (1) ผู้ที่คัดลอกงานของผู้อื่นมาใช้ทั้งหมดและอ้างว่างานดังกล่าวเป็นงานของตนเอง (คนประเภทนี้เรียกว่า Ghost Writer)
                             (2) ผู้ที่คัดลอกงานส่วนสำคัญของผู้อื่นมาใช้โดยไม่ทำการอ้างอิง (คนประเภทนี้เรียกว่า Photocopier)
                   (3) ผู้ที่คัดลอกประเด็นสำคัญจากงานผู้อื่นมาดัดแปลงโดยไม่ทำการอ้างอิง (คนประเภทนี้เรียกว่า Poor Disguise)
                   (4) ผู้ที่คัดลอกงานของผู้อื่นจากหลายๆ แหล่งโดยไม่ทำการอ้างอิง และนำข้อมูลเหล่านั้นมาปรับให้เข้ากันได้ (คนประเภทนี้เรียกว่า Potluck Paper)
                   (5) ผู้ที่นำงานวิจัยในอดีตของตนเองมานำเสนอให้ดูเป็นงานวิจัยใหม่ (คนประเภทนี้เรียกว่า Self Stealer)
ประเภทที่สอง คือ ผู้ที่ทำการโจรกรรมทางวิชาการอย่างไม่ได้ตั้งใจ อันได้แก่
                   (1) ผู้ที่นำข้อมูลของผู้อื่นมาใช้แบบผิดๆ (คนประเภทนี้เรียกว่า Misinformer)
                   (2) ผู้ที่นำข้อมูลของคนอื่นมาใช้มากมายแต่ขาดความเป็นเอกลักษณ์ (originality) (คนประเภทนี้เรียกว่า Resourceful Citer)
 ดร.อาทิวรรณ กล่าวทิ้งท้ายเอาไว้ว่า ผู้ที่ทำการโจรกรรมทางวิชาการประเภทแรกถือว่าเป็นความผิดร้ายแรงยิ่งกว่าพวกประเภทที่สอง

 
 
 
 

 
 
 

Tuesday, August 5, 2014

การศึกษาสำหรับผู้ถูกครอบงำ


ผมตั้งชื่อบล็อคนี้ว่า การศึกษาสำหรับผู้ถูกครอบงำ เพราะต้องการจะให้สอดคล้องไปด้วยกันกับงานของ เปาโล แฟรร์ เจ้าของผลงานที่ชื่อว่า การศึกษาการสำหรับผู้ถูกกดขี่ (อ่านหนังสือเล่มดังกล่าวได้ ที่นี่)
เหตุที่ผมเปลี่ยนจากคำว่า ผู้ถูกกดขี่ --> มาเป็น ผู้ถูกครอบงำ ก็เพื่อที่จะให้เข้ากับบริบทสภาพแวดล้อมหรือสถานการณ์การปกครองของไทยที่เป็นอยู่ในเวลานี้ซึ่งบอกได้เลยว่า ไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่นี้คือรูปแบบการปกครองแบบเผด็จการทหาร ขณะที่ผู้คนจำนวนหนึ่งซึ่งพึงพอใจและสนับสนุนรูปแบบการปกครองดังกล่าวนี้ ด้วยหวังว่ารูปแบบการปกครองดังกล่าวจะแก้ปัญหาต่างๆ ที่สั่งสมมาตั้งแต่อดีตซึ่งก็คือ รูปแบบการปกครองประชาธิปไตยที่ลุ่มๆ ดอนๆ เพราะถูกบอนไซอยู่บ่อยครั้งโดยฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ ประชาธิปไตยแบบนี้ในภาษานักวิชาการมักเรียกว่า ประชาธิปไตยไร้เสรี บ้างก็เรียกว่าประชาธิปไตยแบบอำนาจนิยมดังกรณีสมัยทักษิณ เป็นต้น
สำหรับคนที่ชื่นชอบหรือสนับสนุนรูปแบบการปกครองแบบเผด็จการทหารที่เป็นอยู่นี้ บอกได้เลยว่า นี่คือการกดขี่รูปแบบหนึ่งซึ่งมาแบบเนียนๆ ในรูปของการครอบงำ (domination) โดยที่ตัวท่านเองนั่นแหละรู้สึกเต็มใจกับการครอบงำนี้ ทั้งๆ ที่เป็นรูปแบบการปกครองที่ละเมิดสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีของตัวท่านเองแท้ๆ แต่ท่านก็ยอมเพราะตัวท่านเองเป็นผลผลิตจากการครอบงำ
ครอบงำยังไง? นะเหรอครับ
รูปแบบการปกครองแบบเผด็จการโดยทหารนี้ เป็นแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็ง หากมองให้ออกก็ต้องย้อนกลับไปดูอย่างมีมิติทางประวัติศาสตร์ ผ่านกาลเวลาอันยาวนาน
ท่านคงจะทราบอยู่ว่า เผด็จการโดยทหารนี้เป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับรัฐบาลจากการเลือกตั้งแน่นอนว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้งย่อมอ้างอำนาจและความชอบธรรมจากเสียงข้างมากอันเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของประชาธิปไตย
แม้ว่าประชาธิปไตยโดยรัฐบาลจากการเลือกตั้งจะเลวร้ายยังไง ท่านก็คงรู้ดีว่ายังไง ยังไงมันก็คือประชาธิปไตย จริงไหม? แม้ว่าท่านจะอ้างได้ว่าก็นี่มันไม่ใช่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ขอบอกในทีนี้ไว้เลยนะครับ ไม่มีหรอกครับประชาธิปตง ธิปไตยที่สมบูรณ์อะไรนั่น มันไม่เคยมี เป็นแค่เพียงข้ออ้างเท่านั้นเอง
อย่างที่บอกว่า เผด็จการโดยทหารซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามกับฝั่งประชาธิปไตยที่ปกครองประเทศอยู่ทุกวันนี้ ไม่ใช่ไม่มีที่มา ที่มาและความชอบธรรมแบบเผด็จการนี้มาจากความคิดและแรงงสนับสนุนจากตัวท่านซึ่งเป็นผลผลิตของการครอบงำโดยการศึกษาของรัฐไทยมานานแสนนาน (ตัวผมเองก็เคยเป็น แต่พอหลุดจากการครอบงำดังกล่าว ผมก็ประกาศเลยว่า ผมเหมือนหอยไม่มีเปลือก)
ทีวีทุกช่องบอกได้เลยว่า หลักๆ แล้วต่างเป็นเครื่องมือของเผด็จการ เสียงเพลงชาติและเนื้อหาที่อยู่ในนั้นก็ถูกเขียนขึ้นโดยฝ่ายที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับประชาธิปไตย วันหยุดจำนวนมากในรอบ 365 วันนี่ก็ใช่ หนังสือพิมพ์จำนวนมากซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์กระแสหลักก็ใช่ สถาบันการศึกษา ชื่อถนน ชื่อสถานที่สำคัญๆ ต่างเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองและการครอบงำทั้งสิ้น นักวิชาการเรียกการครอบงำเหล่านี้ว่าเป็น "ระบอบของความจริง" (truth regime of truth) หรือ "การประกอบสร้างความจริงทางสังคม" (social construction of reality)
สมมติง่ายๆ ท่านลองเปิดฟังเสียงลำธารนี้ดู (ฟังสักพักก่อน ก่อนที่จะอ่านเนื้อหาที่ผมจะเขียนถัดไป)
เมื่อเราฟังเสียงและชมภาพ อำนาจของเสียงและภาพจะทำให้จิตใจเราดำดิ่งลงสู่ความสงบ นี่แค่เสียงและภาพธรรมชาติยังมีพลังได้ขนาดนี้
จากนั้นให้ท่านลองจินตนาการถึง เสียงและภาพที่ผ่านหน้าจอทีวีที่ท่านเปิดดูทุกวี่วัน โฆษณาเอย ละครที่เปิดอยู่ทุกเวลา หนังจักรๆ วงศ์ๆ ในตอนเช้าวันเสาร์ - อาทิตย์ เพลงชาติเช้า-เย็น ข่าวตอนค่ำ ภาพยนตร์ที่ลงทุนสร้างอย่างยิ่งใหญ่อลังการ เพลงประจำสถาบัน ของเหล่านี้มีพลังอำนาจต่อจิตใจมนุษย์อย่างเราๆ ท่านๆ อย่างมหาศาล และของเหล่านี้ไม่ได้สร้างขึ้นมาอย่างลอยๆ แต่มันถูกผลิตสร้างขึ้นมาอย่างมี "จุดมุ่งหมาย" ทำให้ "ตัวตน" (the self) ของท่านอยู่ฝากฝั่งใดฝากฝั่งหนึ่งในทางการเมือง (อ่านที่นี่)
หากนิยามว่า การศึกษาไม่ใช่การอบรมสั่งสอนและการให้ความรู้ที่จำกัดอยู่แต่ในห้องเรียน แต่ลองนิยามว่า การศึกษาปรากฏอยู่ได้ในทุกที่ตั้งแต่ทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ นโยบายของรัฐ แบบเรียน หลักสูตรต่างๆ เราๆ ท่านๆ ทั้งหมดก็ล้วนถูกครอบงำโดยการครอบงำนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เราสนับสนุนฝากฝั่งใดฝากฝั่งหนึ่งในทางการเมือง กระบวนการนี้กระทำกันมานาน มีลักษณะไม่ต่างไปจากก้อนภูเขาน้ำแข็งที่อยู่ใต้น้ำและไม่อาจมองเห็นได้ชัด
และแน่นอน สำหรับสังคมไทย การศึกษาแทบทั้งหมดที่เป็นกระแสหลักต่างล้วนเป็นเครื่องมือของเผด็จการมานานแล้ว และท่านก็เป็นผลผลิตของมันในฐานะผู้ที่ถูกครอบงำนั่นเอง 

Saturday, August 2, 2014

รัฐที่ใช้กำลังบังคับ


2 วันที่ผ่านมาผมใช้เวลาไปกับการอ่านหนังสือ 2 เล่ม เล่มแรก เป็น ายงานการวิจัยเรื่อง นิธิ เอียวศรีวงศ์ ใน/กับวิกฤตการเมืองไทย เขียนโดย รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นิธิ เอียวศรีวงศ์ ชื่อนี้สำหรับชนชั้นกลางทั่วๆ ไปที่ไม่ค่อยรู้เรื่องทางวิชาการอาจจะไม่รู้จัก แต่ถ้าบอกว่าเป็นคนๆ เดียวกันกับที่ หมอก้องหรือนายแพทย์ก้อง สรวิชย์ด่าอาจารย์นิธิ ในแบบคนชั้นกลางที่ไม่ประสีประสาทางการเมืองเอาไว้ว่า ตอนเด็กอาจารย์นิธิแม่คงไม่รัก-พ่อไม่อุ้ม (ดูรายละเอียดที่นี่) ก็พอจะนึกออก ผมแนะนำเลยนะครับว่า สำหรับคนชั้นกลางที่ไม่ค่อยอ่านหนังสือวิชาการและไม่ค่อยสนใจการเมืองอย่างจริงๆ จังๆ ในระดับลงลึกไปถึงรากเหง้าของสังคมไทยจริงๆ ควรอย่างยิ่งที่จะหารายงานวิจัยของอาจารย์ไชยันต์มาอ่าน แทนที่จะเอาเวลาไปดูหนังดูละครหรือเสพแต่ข่าวดารา พอถึงตอนแสดงความเห็นทางการเมือง ไกลสุดของความคิดก็ไปได้แค่หมอก้องเท่านั้น
................. 
เล่มที่สอง ที่ผมอ่านในช่วง 2 วันมานี้ก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความรู้ฉบับพกพา ของสำนักพิมพ์เปิดโลกหรือ Open Worlds สำนักพิมพ์นี้เขาผลิตหนังสือความรู้ฉบับพกพาออกมาเป็นจำนวนมาก ไล่ตั้งแต่ ประชาธิปไตย ญี่ปุ่นสมัยใหม่ จีนสมัยใหม่ คานธี เนลสัน แมนเดลา โลกาภิวัตน์ ความเป็นส่วนตัว สถาปัตยกรรม ลินคอล์น ศิลปะสมัยใหม่ ทุนนิยม กฎหมย สถิติ ฯลฯ (ดูรายละเอียดที่นี่)

ด้วยความที่สนใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ดังจะเห็นได้จากเขียนอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ตอนเรียนคอร์สเวิร์กระดับ ป.เอก ไว้ 2 ชิ้น (ดาวน์โหลดได้ที่นี่ ชิ้นที่ 1 และ ชิ้นที่ 2) ผมก็เลยตัดสินใจซื้อ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความรู้ฉบับพกพามานั่งอ่านนอนอ่านจนจบเล่มราวกับคนติดยาเสพติดยังไงยังงั้น
มีอยู่เรื่องหนึ่งอาจแล้วก็ติดใจ ก็เลยอยากจะคัดลอกมาให้ได้อ่านกัน สำหรับคนชั้นกลางที่ไม่ค่อยประสีประสาในทางการเมือง Paul Wikinson ผู้เขียน เขียนหัวข้อหนึ่งไว้อย่างน่าสนใจ นั่นคือ "ลักษณะสำคัญของรัฐที่ใช้กำลังบังคับ" ส่วน กษิร ชีพเป็นสุข ผู้แปลก็แปลไว้อย่างน่าอ่านเพราะเนื้อหาส่วนนี้มันเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมืองของไทยไม่มากก็น้อย อ่านกันเองก็แล้วกันนะครับ
ลักษณะสำคัญของรัฐที่ใช้กำลังบังคับ 
อะไรคือคุณสมบัติสำคัญของรัฐที่ใช้กำลังบังคับ? ไม่น่าแปลกใจเลยที่โดยรวมแล้วรัฐเหล่านี้จะขัดแย้งกับคุณลักษณะหลักๆ ของรัฐที่เป็นเสรีประชาธิปไตย ในขณะที่รัฐกลุ่มหลังได้อำนาจโดยความยินยอมของผู้ถูกปกครอง นั่นคือ ผ่านการเลือกตั้งเสรีที่มีขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ระบอบการปกครองที่ใช้กำลังบังคับโดยทั่วไปจะได้อำนาจจาก การรัฐประหาร (coup) การปฏิวัติ หรือการก่อจลาจลที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งมักได้รับการสนับสนุนจากประชาชนส่วนน้อย และมักใช้การโจมตีข่มขวัญพลเมืองเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการยึดอำนาจ เมื่อได้อำนาจมาแล้ว รัฐที่ใช้กำลังบังคับก็จะดำเนินการเต็มที่อย่างแทบจะเป็นไปตามสัญชาตญาณในการใช้ความรุนแรงหรือสร้างความกลัวเพื่อข่มขู่และกดทับผู้ใดก็ตามที่อาจกลายเป็นภัยคุกคามอำนาจตนถึงแม้ว่าภัยคุกคามหรือผู้ไม่เห็นด้วยกับตนนั้นจะมีอยู่แต่ในจินตนาการมากกว่าที่จะมีตัวตนจริงๆ ก็ตาม
เมื่อควบคุมกลไกรัฐรวมทั้งทหารและตำรวจได้แล้ว รัฐที่ใช้กำลังบังคับมักถือสิทธิกุมอำนาจไว้กับตัวเองและใช้ทุกวิธีเท่าที่ทำได้เพื่อรักษาการผูกขาดอำนาจเอาไว้ กล่าวอีกอย่างคือรัฐจะยอมรับความเป็นเผด็จการและใช้อำนาจอย่างไร้ความปรานีโดยสิ้นเชิง แม้รัฐประเภทนี้จะพยายามใช้ศัพท์แสงที่สื่อถึงความชอบธรรมและความชอบด้วยกฎหมายอยู่ไม่ขาด แต่ก็ไม่มีหลักนิติธรรมอย่างที่รู้จักกันในประเทศที่เสรีประชาธิปไตยทำงานได้ดี ไม่มีข้อจำกัดในรัฐธรรมนูญหรือการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจใดๆ สามารถจำกัดอำนาจของรัฐที่ใช้กำลังบังคับ เพราะรัฐแบบนี้มองว่าตนเองอยู่เหนือกฎหมาย กฎหมายก็คืออะไรก็ตามที่รัฐจะตราเมื่อใดก็ได้ ไม่มีตุลาการอิสระ พวกที่ประกาศใช้ "กฎหมาย" ในระบอบเผด็จการก็คือตัวแทนที่มีชีวิตของระบอบนั้น ส่วนหน่วยงานที่คนเหล่านั้นเรียกว่าศาลก็ไม่ต่างอะไรจากการล้อเลียนกระบวนการยุติธรรม การฆ่าตัดตอน การทรมาน การเนรเทศ และกระทั่งการสังหารหมู่ล้วนเกิดขึ้นได้ภายใต้การสั่งการจากระบอบเผด็จการ ซึ่งแท้จริงแล้วก็เป็นผู้กุมอำนาจในระบอบเองที่คอยบัญชาให้มีการทำเรื่องเลวร้ายเหล่านั้น
หมายเหตุ
ข้อความทั้งหมดคัดลอกมาจากหน้า 70-71  
สำหรับกรณีสังคมไทย รัฐใช้กำลังบังคับยังไง? อ่านกันได้ ที่นี่

Thursday, July 31, 2014

วัฒนธรรมทางการเมืองไทย

วัฒนธรรมทางการเมืองไทยเป็นวัฒนธรรมที่ "ไม่ชอบความขัดแย้ง" แต่ไม่ได้ไร้เดียงสาจนไม่ยอมรับว่าความขัดแย้งเป็นปรกติธรรมดาของสังคม แต่คนไทยคงชอบที่จะเห็นความขัดแย้งถูกระงับไปโดยเร็วด้วยอำนาจเด็ดขาดหรือถึงจุดสิ้นสุดในตัวเอง ดังนั้น ระหว่างการ "ปล่อยคนผิดให้หลุดสัก 10 คนยังดีกว่าเอาคนถูกติดคุกคนเดียว" กับ "เอาคนถูกติดคุกสัก 10 คน ยังดีกว่าปล่อยให้ทะเลาะกันไม่เลิกโดยไม่รู้ว่าใครผิดใครถูก"
ถ้าเลือกอย่างหลัง คนที่ไปจุดประเด็นความเดือดร้อนจนทะเลาะกันไม่เลิกโดยไม่รู้ว่าใครผิดใครถูกนั่นแหละคือคนที่ไม่น่าเชื่อถือที่สุด
ไชยันต์ ไชยพร วิเคราะห์ความคิดของนิธิ เอียวศรีวงศ์ข้างต้นเอาไว้ว่า
วัฒนธรรมอำนาจนิยม สัมฤทธิผลนิยมในสังคมไทยทำให้วัฒนธรรมทางการเมืองไทยเป็นวัฒนธรรมที่ไม่มีมิติของการตรวจสอบควบคุมให้เกิดความยุติธรรมในสังคมได้ และยังให้ความสำคัญกับคติ "ความสงบเรียบร้อย" อันเป็นมรดกตกทอดจากสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นที่ตั้ง และที่สำคัญอีกด้านหนึ่งยังสะท้อนวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยมอย่างชัดเจนด้วย (หน้า 147)
 

ทบทวนการเมืองไทย

สำหรับคนชั้นกลางไส้กลวงที่ไม่ประสีประสาและไร้เดียงสาทางการเมืองซึ่งคงพอจะรู้แล้วว่าอะไรเป็นอะไรในการเมืองไทยปัจจุบัน ดูที่นี่
ผมขอถือโอกาสนี้ ทบทวนการเมืองไทยให้ฟังสักรอบ...
เริ่มต้นจากการที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอยหรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า "พ.ร.บ.เหมาเข่ง" ร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านสภาในวาระ 3 เมื่อ 04.24 น. ของวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 ด้วยคะแนน 310 - 0 เสียง สำหรับผู้ที่งดออกเสียง 4 คะแนน ประกอบด้วย (1) น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล (2) นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ (3) นายวรชัย เหมะ ผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.เดิม ก่อนถูกแก้ไขเพิ่มส่วนที่เป็นปัญหาเข้ามาในชั้นกรรมาธิการ และ (4) นพ.เหวง โตจิราการ เหตุการณ์ครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์วอล์กเอาต์ไปเมื่อร่างผ่านวาระ 2 ก่อนหน้าจะลงมติในวาระที่ 3
การผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว ฝ่ายต่างๆ ได้ทักท้วงกันอย่างเข้มเข้น แม้แต่คนเสื้อแดงเอง แต่แกนนำพรรคเพื่อไทย ไม่ฟังเสียง และประเมินสถานการณ์ผิดพลาดด้วยการเรียกประชุม ส.ส. สั่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.เต็มที่ ห้ามโหวตสวนและห้ามงดออกเสียง สุดท้าย ร่าง พ.ร.บ.นี้ไปพบจุดจบโดยวุฒิสภาโหวตคว่ำเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 และก่อนหน้านั้น ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้อนุมัติถอนร่าง พ.ร.บ. ทำนองเดียวกันอีก 6 ฉบับ ตามเสียงเรียกร้องในขณะนั้น แต่อะไรอะไรก็หยุดไม่อยู่แล้ว แม้รัฐบาลจะถอยกรูด เพราะนี้เป็นการ "รุกฆาต" ในกระดานทางการเมืองที่ฝ่ายพรรคเพื่อไทยเดินหมากผิด
การอนุมัติร่าง พ.ร.บ. กลายเป็นประเด็นการเมือง ที่ถูกขยายออกไปอย่างกว้างขวางกลายเป็นการชุมนุมขับไล่ระบอบทักษิณครั้งใหญ่ที่สุดอีกครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ภายหลังจากการชุมนุมที่นำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
วันที่ 15 พฤศจิกายน นายสุเทพ เทือกสุบรรณขึ้นเวทีราชดำเนิน ประกาศยกระดับการต่อสู้เป็นการขจัดระบอบทักษิณแบบถอนรากถอนโคนให้หมดไปจากแผ่นดินไทย ระหว่างการชุมนุมเกิดการปะทะขึ้นหลายต่อหลายครั้งทำให้มีผู้เสียชีวิต 28 รายและบาดเจ็บจำนวนมาก วันที่ 3 ธันวาคม 2556 นายสุเทพ ประกาศให้รัฐบาลคืนอำนาจให้ประชาชน ตามมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ และจะใช้มาตรา 7 ตั้งนายกรัฐมนตรีใหม่จากคนที่ไม่สังกัดพรรคการเมือง ให้มีสภาประชาชน และปฏิรูปการเมือง
วันที่ 9 ธันวาคม 2556 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้ทูลเกล้าฯ ถวายร่างพระราชกฤษฎีกายุบสภาและได้ทรงโปรดเกล้าฯ ในวันเดียวกัน กำหนดให้เลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 จากนั้นจึงเป็นบทบาทของ 5 เสือ กกต.ชุดใหม่ที่มีนายสมชัย ศรีสุทธิยากร เป็นฝ่ายจัดเลือกตั้ง สำหรับนายสมชัย เคยมีบทบาทในองค์กรพีเน็ต จับตาเลือกตั้ง มีประวัติร่วมบอยคอตการเลือกตั้งร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ในปี 2548 และเป็นพิธีกรบลูสกาย บทบาทของ กกต.ในยุคนี้ เป็นที่วิจารณ์กว้างขวางว่า ไม่เต็มใจทำหน้าที่และทำแต่เรื่องซึ่งไม่ใช่หน้าที่
ในวันเลือกตั้ง มีประชาชน 20 ล้านออกมาใช้สิทธิ แม้ฝ่ายต่อต้านขัดขวางทุกวิถีทาง แต่ท้ายสุด ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เพราะไม่ได้เลือกในวันเดียวกันอันเป็นคำวินิจฉัยที่ถูกวิจารณ์มากที่สุดและกระทบเกียรติภูมิของศาลรัฐธรรมนูญมากที่สุดอีกครั้งหนึ่ง
เวลาผ่านไป 6 เดือน การขับไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และรัฐบาลยังไม่ประสบผลสำเร็จ ค่าใช้จ่ายราคาแพงลิ่วในการขับไล่รัฐบาล (นายสุเทพ แจ้งภายหลังว่าประมาณ 1,400 ล้านบาท) ด้วยการสร้างภาพฝ่ายหนึ่งเป็นม็อบคนดี รักชาติและกู้ชาติ อีกฝ่ายเป็นคนเลว โกง ชั่วชาติและขี้ข้า ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นวาทกรรมและภาพมายาไว้กำจัดฝ่ายตรงข้าม โดยไม่ได้ตระหนักว่าทุกฝ่ายต่างก็มีดีมีชั่วอยู่ด้วยกันทั้งนั้น
นายสุเทพ ประกาศเผด็จศึกครั้งแล้วครั้งเล่า มาตรการชุดหลังในต้นเดือนพฤษภาคม คือ การไล่ล่าจับตัวรัฐมนตรี เพื่อบีบให้ ครม.รักษาการพ้นไป จะได้เกิดสุญญากาศ และนำไปสู่การตั้ง นายกรัฐมนตรีคนกลาง ขณะที่กลุ่ม นปช. ระดมคนเสื้อแดงมาชุมนุมที่ถนนอักษะ คุมเชิงกับม็อบของนายสุเทพ
ในที่สุด "พระเอกขี่ม้าขาว" ราวกับในหนังจักรๆ วงศ์ๆ ในสายตาของคนชั้นกลางบางจำพวกซึ่งนำโดย "กองทัพบก" ได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกในวันที่ 20 พฤษภาคม เรียกตัวกลุ่มต่างๆ 7 กลุ่ม ทั้งตัวแทนม็อบ กปปส. กลุ่ม นปช. รัฐบาล ฝ่ายค้าน เข้าเจรจาที่สโมสรทหารบกในวันที่ 21 พฤษภาคม แต่ยังตกลงกันไม่ได้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ได้มอบการบ้าน 5 ข้อให้ 7 ฝ่ายไปหาข้อสรุป แล้วมาประชุมต่อในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 อันเป็นแผนที่หลายคนทราบในเวลาต่อมาว่านี้คือ กลยุทธ์ "ขุดบ่อล่อปลา" ของกองทัพ
ในการเจรจาวันที่ 22 พฤษภาคม เมื่อ นายชัยเกษม นิติสิริ รักษาการ รมว.ยุติธรรม ยืนยันว่ารัฐบาลรักษาการจะไม่ลาออก พล.อ.ประยุทธ  ประกาศยึดอำนาจทันที และสั่งควบคุมตัวผู้เข้าร่วมประชุม
ประกาศของ คสช. ที่ออกมาหลังจากนั้น ได้เรียกตัวฝ่ายต่างๆ เข้ารายงานตัว และควบคุมตัวไว้ก่อนทยอยปล่อย (รวมถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) ปรากฏเป็นเรื่องราวเล่าขาน ของผู้ถูกเรียกตัวให้ได้อ่านกันทั่วไปในเว็บไซต์ต่างๆ
ขณะที่ในภาคเหนือ อีสาน มีการเรียกรายงานตัวแกนนำเสื้อแดง และพรรคเพื่อไทย รวมถึงการเข้าจับกุมแกนนำเสื้อแดงหลายคน
ขณะที่วันที่ 26 พฤษภาคมก็ได้มีพระบรมราชโอการโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
นับแต่นั้น เรื่องราวของการรัฐประหารยึดอำนาจอันเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอันจะขาดเสียไม่ได้ (necessary condition) สำหรับสังคมไทยและประชาธิปไตยแบบไทยๆ ก็ดำเนินไป  

หมายเหตุ สำหรับผู้ที่สนใจข้อเท็จจริงทางการเมืองของไทยโดยละเอียดในช่วง 203 วันก่อนที่จะมีการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 หาซื้อหนังสือเล่มนี้ที่จัดทำโดยกองบรรณาธิการมติชนมาอ่านเถอะครับ (อ่านคำแนะนำหนังสือได้ ที่นี่) และอย่าปิดหูปิดตาตัวเองไม่ยอมอ่านเพราะเหตุว่าเป็นสำนักพิมพ์มติชน อ่านเอาข้อมูลข้อเท็จจริงกันก่อน ท่านจะเชื่อหรือไม่ก็ย่อมเป็นสิทธิของผู้อ่านอยู่แล้ว แต่การไม่ยอมเปิดใจอ่านแล้วขังตัวเองอยู่ในกะลาของความไม่รู้ (อวิชชา) นี่ มันเป็นเรื่องที่น่าสมเพชยิ่งนัก



ชนชั้นที่ดัดจริต


"คนชั้นกลางที่ไหนๆ ก็แล้วแต่ มันมักจะน่ารังเกียจทั้งนั้น โดยเฉพาะคนชั้นกลางไทย เพราะมันไม่อ่านหนังสือ ไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นมันเป็นพวกดัดจริต เห็นแก่ตัว ไม่เข้าใจอะไร แล้วนึกว่าตัวเก่ง เที่ยวตัดสินอะไรต่างๆ อยู่ตลอดเวลา" (หน้า 112)

Tuesday, July 29, 2014

ตัวตนที่อ่อนปวกเปียก

“ความรู้ทางมนุษยศาสตร์และประวัติศาสตร์อย่างที่ผมปรารถนาและปฏิบัติมิได้มีไว้รับใช้ชาติ กลุ่มชน หรืออุดมการณ์ใดๆ แต่เพื่อการเติบโตทางปัญญาและจริยธรรมของปัจเจกที่เป็นตัวของตัวเองและเป็นอิสระจากยากล่อมประสาททั้งหลาย” (ธงชัย วินิจจะกูล)

น่าคิดเหมือนกันว่าสุดท้ายแล้ว
ในทุกๆ วันที่เราดำเนินชีวิต เราเป็นตัวของตัวเองจริงหรือเปล่า? หรือเอาเข้าจริง เรา "เต้น" ไปตามจังหวะของยากล่อมประสาททั้งหลายบรรดามี (ชาติ ศาสน์ กษัตริย์, คุณธรรมที่ยึดถือ, ลัทธิ, ความเชื่อ, สถาบันการศึกษาที่ 'บ่มเพาะ' ผ่านระยะเวลาอันยาวนานนับตั้งแต่เรายังเป็นเด็กจนปัจจุบัน, โฆษณาชวนเชื่อผ่านสื่อต่างๆ ทีวี วิทยุ ละครน้ำเน่า สื่อกระแสหลักที่เปิดกล่อมเราอยู่แทบทุกเวลานาที, ตัณหาความอยากส่วนตัว, อิทธิพลจากเพื่อนหรือคนใกล้ชิด, ผู้สอน (ซึ่งนับรวมผมเข้าไปด้วย) ที่ 'มักจะ' ครอบงำความคิด (domination) ผู้เรียนด้วยการพูด คิด เขียน และจูงจมูกให้เราเชื่อตาม อ้างหลักฐานโน่นนี่นั่น นักคิดของคนนั้นคนนี้ กล่อมประสาททุกวี่วัน หากไม่เชื่อตามฟังตามก็มีสิทธิสอบไม่ผ่าน เขาจึงมีอำนาจเหนือเรา ฯลฯ)

มันเป็นกระบวนการของการกระทำให้ตัวเองเป็นซับเจค (Subjectification)
ซับเจคนั้นเป็นผู้กระทำ (action) มากกว่าเป็นผู้ถูกกระทำ อย่างไรก็ดี ผู้ถูกกระทำนั้นก็คือตัวผู้กระทำเองคือกระทำให้ตัวเองเป็นซับเจค เช่น ถ้าต้องการที่จะมีสุขภาพดี ก็ต้องดูแลสุขภาพ ทานอาหารที่ดี เราทำตัวเราเองเพราะตกอยู่ใต้วาทกรรมสุขภาพดี, หากรักชาติมากๆ จนกลายเป็นคนที่ 'คลั่งชาติ' ก็อาจทำอะไรกับตัวเองถึงขนาดสักไปตามร่างกายเพราะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของลัทธิชาตินิยม (nationalism) บางครั้งอาจเกิดกลุ่มอาการต้องการจะปกป้องสถาบันด้วยความจงรักภักดี จึงต้องกำจัดฝ่ายตรงข้าม จงเกลียดจงชัง ประณามหยามเหยียดแบบต่างๆ ลดคุณค่าอีกฝ่ายลงเป็นควายชนิดที่ไม่มีวัวปนอยู่เลยก็อาจเป็นได้ ฯลฯ

แล้วใครที่คิดว่าตัวเองเป็นอิสระ เอาเข้าจริงยังมีเรื่องของ 'จิตไร้สำนึก' ที่ควบคุมมันไม่ได้อีกละ? มันพร้อมจะโผล่ปรากฏมาตอนไหนก็ไม่รู้ เช่น ตอนพูดหลุดปาก ตอนเราฝันละเมอ ตอนเจ็บไข้ได้ป่วย ล้มหมอนนอนเสื่อ ฯลฯ

"ตัวตน" ของเราจึงอ่อนปวกเปียก เหมือนก้อนดินที่ชุ่มด้วยน้ำ พร้อมที่จะถูกปั้นแต่งออกมาในรูปแบบต่างๆ