Tuesday, June 25, 2013

ว่าด้วยศาสตร์การตีความ (Hermeneutic)

           ในการตีความตัวบท (Text) หนึ่งๆ นั้น Hans-Georg Gadamer ชี้ว่า จะต้องให้ความสำคัญกับมิติของเวลา (Time) และระยะห่างของเวลา (Distance) เป็นอย่างมาก กล่าวคือ จะต้องพิจารณาเวลาระหว่าง เวลาปัจจุบันของผู้ตีความ และ เวลาของตัวบทที่ถูกผลิตขึ้น การอ่านตัวบทในลักษณะเช่นนี้ Gadamer อธิบายว่าเป็นการกระทำในลักษณะของการผนวกรวม (Appropriation) ร่วมกันระหว่างผู้ตีความกับตัวบทจนกลายเป็นความเข้าใจที่ผู้ตีความรับรู้ และเมื่อความเข้าใจอุบัติขึ้น การอุบัติขึ้นนี้จะเรียกว่าเป็น การประสานขอบฟ้า (Fusion of Horizon) ของการรับรู้ระหว่างโลกของผู้ตีความกับโลกที่อยู่ในตัวบทซึ่ง Gadamer ชี้ว่าเป็นแก่นของศิลปะแห่งการเข้าใจตัวบท (Ricoeur, 1991; ปอล ริเกอร์, เขียน, คงกฤช ไตรยวงค์, แปล, 2556,  น. 84) อย่างไรก็ดี หากการประสานขอบฟ้านี้ฝ่ายผู้อ่านตัวบทในฐานะผู้ตีความได้นำเอาการรับรู้ของตัวเองหรือโลกของตัวเองเข้าไปครอบงำหรือมีอิทธิพลต่อโลกของตัวบทมากจนเกินไปก็จะเกิดสภาพการณ์ของการ ยัดเยียด ขอบฟ้าของผู้ตีความให้กับตัวบทที่ผู้อ่านตัวบทหรือผู้ตีความตัวบทเข้าไปปะทะอันจะนำไปสู่การประสบกับปัญหาของการตีความ ฉะนั้น ในการตีความผู้อ่านตัวบทหรือผู้ตีความจะต้องพึงตระหนักอยู่เสมอด้วยการรักษาระยะห่างระหว่างตัวเองกับตัวบท

            ในส่วนขององค์ประกอบของการตีความนั้นไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร (2551, น. 15) ได้จำแนกไว้ 3 ประการสำคัญ คือ (1) สิ่งที่ถูกตีความซึ่งเน้นที่ตัวบท (Text) (2) กิจกรรมการตีความ และ (3) ผลการตีความซึ่งบันทึกไว้ในรูปตัวบท กล่าวเฉพาะในส่วนของกิจกรรมการตีความ กิจกรรมดังกล่าวก็คือการทำสิ่งที่ไม่คุ้นเคยหรือไม่เคยชินให้กลายเป็นสิ่งที่คุ้นเคยผ่านการสร้างความเข้าใจของผู้ตีความใน 3 ระดับ ได้แก่ ระดับการอธิบาย (Explanation) ระดับความเข้าใจ (Understanding) และระดับการผนวกรวม (Appropriation) (โปรดดูภาพประกอบ) (Ghasemi et al, 2011, p. 1623)

บรรณานุกรม

ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร. (2551). ภาษากับการเมือง/ความเป็นการเมือง. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์
            มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ปอล ริเกอร์, เขียน, คงกฤช ไตรยวงค์, แปล. (2556). ชีวิตที่แสวงหาเรื่องเล่า (น. 75-94). เรื่องเล่า อัตลักษณ์ และความยุติธรรมในปรัชญาของปอล ริเกอร์. กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์   คบไฟ.
Ghasemi, A, Taghinejad, M, Kabiri, A, and Imani, M. (2011). Ricoeur’s Theory of
            Interpretation: A Method for Understanding Text (Course Text).
            World Applied Sciences Journal, Vol. 15, No.11 (pp. 1623-29).
Ricoeur, Paul. (1991). Life in Quest of Narrative. On Paul Ricoeur: Narrative and
           Interpretation. David Wood, ed. London: Routledge.