Thursday, July 31, 2014

วัฒนธรรมทางการเมืองไทย

วัฒนธรรมทางการเมืองไทยเป็นวัฒนธรรมที่ "ไม่ชอบความขัดแย้ง" แต่ไม่ได้ไร้เดียงสาจนไม่ยอมรับว่าความขัดแย้งเป็นปรกติธรรมดาของสังคม แต่คนไทยคงชอบที่จะเห็นความขัดแย้งถูกระงับไปโดยเร็วด้วยอำนาจเด็ดขาดหรือถึงจุดสิ้นสุดในตัวเอง ดังนั้น ระหว่างการ "ปล่อยคนผิดให้หลุดสัก 10 คนยังดีกว่าเอาคนถูกติดคุกคนเดียว" กับ "เอาคนถูกติดคุกสัก 10 คน ยังดีกว่าปล่อยให้ทะเลาะกันไม่เลิกโดยไม่รู้ว่าใครผิดใครถูก"
ถ้าเลือกอย่างหลัง คนที่ไปจุดประเด็นความเดือดร้อนจนทะเลาะกันไม่เลิกโดยไม่รู้ว่าใครผิดใครถูกนั่นแหละคือคนที่ไม่น่าเชื่อถือที่สุด
ไชยันต์ ไชยพร วิเคราะห์ความคิดของนิธิ เอียวศรีวงศ์ข้างต้นเอาไว้ว่า
วัฒนธรรมอำนาจนิยม สัมฤทธิผลนิยมในสังคมไทยทำให้วัฒนธรรมทางการเมืองไทยเป็นวัฒนธรรมที่ไม่มีมิติของการตรวจสอบควบคุมให้เกิดความยุติธรรมในสังคมได้ และยังให้ความสำคัญกับคติ "ความสงบเรียบร้อย" อันเป็นมรดกตกทอดจากสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นที่ตั้ง และที่สำคัญอีกด้านหนึ่งยังสะท้อนวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยมอย่างชัดเจนด้วย (หน้า 147)
 

ทบทวนการเมืองไทย

สำหรับคนชั้นกลางไส้กลวงที่ไม่ประสีประสาและไร้เดียงสาทางการเมืองซึ่งคงพอจะรู้แล้วว่าอะไรเป็นอะไรในการเมืองไทยปัจจุบัน ดูที่นี่
ผมขอถือโอกาสนี้ ทบทวนการเมืองไทยให้ฟังสักรอบ...
เริ่มต้นจากการที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอยหรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า "พ.ร.บ.เหมาเข่ง" ร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านสภาในวาระ 3 เมื่อ 04.24 น. ของวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 ด้วยคะแนน 310 - 0 เสียง สำหรับผู้ที่งดออกเสียง 4 คะแนน ประกอบด้วย (1) น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล (2) นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ (3) นายวรชัย เหมะ ผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.เดิม ก่อนถูกแก้ไขเพิ่มส่วนที่เป็นปัญหาเข้ามาในชั้นกรรมาธิการ และ (4) นพ.เหวง โตจิราการ เหตุการณ์ครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์วอล์กเอาต์ไปเมื่อร่างผ่านวาระ 2 ก่อนหน้าจะลงมติในวาระที่ 3
การผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว ฝ่ายต่างๆ ได้ทักท้วงกันอย่างเข้มเข้น แม้แต่คนเสื้อแดงเอง แต่แกนนำพรรคเพื่อไทย ไม่ฟังเสียง และประเมินสถานการณ์ผิดพลาดด้วยการเรียกประชุม ส.ส. สั่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.เต็มที่ ห้ามโหวตสวนและห้ามงดออกเสียง สุดท้าย ร่าง พ.ร.บ.นี้ไปพบจุดจบโดยวุฒิสภาโหวตคว่ำเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 และก่อนหน้านั้น ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้อนุมัติถอนร่าง พ.ร.บ. ทำนองเดียวกันอีก 6 ฉบับ ตามเสียงเรียกร้องในขณะนั้น แต่อะไรอะไรก็หยุดไม่อยู่แล้ว แม้รัฐบาลจะถอยกรูด เพราะนี้เป็นการ "รุกฆาต" ในกระดานทางการเมืองที่ฝ่ายพรรคเพื่อไทยเดินหมากผิด
การอนุมัติร่าง พ.ร.บ. กลายเป็นประเด็นการเมือง ที่ถูกขยายออกไปอย่างกว้างขวางกลายเป็นการชุมนุมขับไล่ระบอบทักษิณครั้งใหญ่ที่สุดอีกครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ภายหลังจากการชุมนุมที่นำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
วันที่ 15 พฤศจิกายน นายสุเทพ เทือกสุบรรณขึ้นเวทีราชดำเนิน ประกาศยกระดับการต่อสู้เป็นการขจัดระบอบทักษิณแบบถอนรากถอนโคนให้หมดไปจากแผ่นดินไทย ระหว่างการชุมนุมเกิดการปะทะขึ้นหลายต่อหลายครั้งทำให้มีผู้เสียชีวิต 28 รายและบาดเจ็บจำนวนมาก วันที่ 3 ธันวาคม 2556 นายสุเทพ ประกาศให้รัฐบาลคืนอำนาจให้ประชาชน ตามมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ และจะใช้มาตรา 7 ตั้งนายกรัฐมนตรีใหม่จากคนที่ไม่สังกัดพรรคการเมือง ให้มีสภาประชาชน และปฏิรูปการเมือง
วันที่ 9 ธันวาคม 2556 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้ทูลเกล้าฯ ถวายร่างพระราชกฤษฎีกายุบสภาและได้ทรงโปรดเกล้าฯ ในวันเดียวกัน กำหนดให้เลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 จากนั้นจึงเป็นบทบาทของ 5 เสือ กกต.ชุดใหม่ที่มีนายสมชัย ศรีสุทธิยากร เป็นฝ่ายจัดเลือกตั้ง สำหรับนายสมชัย เคยมีบทบาทในองค์กรพีเน็ต จับตาเลือกตั้ง มีประวัติร่วมบอยคอตการเลือกตั้งร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ในปี 2548 และเป็นพิธีกรบลูสกาย บทบาทของ กกต.ในยุคนี้ เป็นที่วิจารณ์กว้างขวางว่า ไม่เต็มใจทำหน้าที่และทำแต่เรื่องซึ่งไม่ใช่หน้าที่
ในวันเลือกตั้ง มีประชาชน 20 ล้านออกมาใช้สิทธิ แม้ฝ่ายต่อต้านขัดขวางทุกวิถีทาง แต่ท้ายสุด ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เพราะไม่ได้เลือกในวันเดียวกันอันเป็นคำวินิจฉัยที่ถูกวิจารณ์มากที่สุดและกระทบเกียรติภูมิของศาลรัฐธรรมนูญมากที่สุดอีกครั้งหนึ่ง
เวลาผ่านไป 6 เดือน การขับไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และรัฐบาลยังไม่ประสบผลสำเร็จ ค่าใช้จ่ายราคาแพงลิ่วในการขับไล่รัฐบาล (นายสุเทพ แจ้งภายหลังว่าประมาณ 1,400 ล้านบาท) ด้วยการสร้างภาพฝ่ายหนึ่งเป็นม็อบคนดี รักชาติและกู้ชาติ อีกฝ่ายเป็นคนเลว โกง ชั่วชาติและขี้ข้า ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นวาทกรรมและภาพมายาไว้กำจัดฝ่ายตรงข้าม โดยไม่ได้ตระหนักว่าทุกฝ่ายต่างก็มีดีมีชั่วอยู่ด้วยกันทั้งนั้น
นายสุเทพ ประกาศเผด็จศึกครั้งแล้วครั้งเล่า มาตรการชุดหลังในต้นเดือนพฤษภาคม คือ การไล่ล่าจับตัวรัฐมนตรี เพื่อบีบให้ ครม.รักษาการพ้นไป จะได้เกิดสุญญากาศ และนำไปสู่การตั้ง นายกรัฐมนตรีคนกลาง ขณะที่กลุ่ม นปช. ระดมคนเสื้อแดงมาชุมนุมที่ถนนอักษะ คุมเชิงกับม็อบของนายสุเทพ
ในที่สุด "พระเอกขี่ม้าขาว" ราวกับในหนังจักรๆ วงศ์ๆ ในสายตาของคนชั้นกลางบางจำพวกซึ่งนำโดย "กองทัพบก" ได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกในวันที่ 20 พฤษภาคม เรียกตัวกลุ่มต่างๆ 7 กลุ่ม ทั้งตัวแทนม็อบ กปปส. กลุ่ม นปช. รัฐบาล ฝ่ายค้าน เข้าเจรจาที่สโมสรทหารบกในวันที่ 21 พฤษภาคม แต่ยังตกลงกันไม่ได้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ได้มอบการบ้าน 5 ข้อให้ 7 ฝ่ายไปหาข้อสรุป แล้วมาประชุมต่อในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 อันเป็นแผนที่หลายคนทราบในเวลาต่อมาว่านี้คือ กลยุทธ์ "ขุดบ่อล่อปลา" ของกองทัพ
ในการเจรจาวันที่ 22 พฤษภาคม เมื่อ นายชัยเกษม นิติสิริ รักษาการ รมว.ยุติธรรม ยืนยันว่ารัฐบาลรักษาการจะไม่ลาออก พล.อ.ประยุทธ  ประกาศยึดอำนาจทันที และสั่งควบคุมตัวผู้เข้าร่วมประชุม
ประกาศของ คสช. ที่ออกมาหลังจากนั้น ได้เรียกตัวฝ่ายต่างๆ เข้ารายงานตัว และควบคุมตัวไว้ก่อนทยอยปล่อย (รวมถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) ปรากฏเป็นเรื่องราวเล่าขาน ของผู้ถูกเรียกตัวให้ได้อ่านกันทั่วไปในเว็บไซต์ต่างๆ
ขณะที่ในภาคเหนือ อีสาน มีการเรียกรายงานตัวแกนนำเสื้อแดง และพรรคเพื่อไทย รวมถึงการเข้าจับกุมแกนนำเสื้อแดงหลายคน
ขณะที่วันที่ 26 พฤษภาคมก็ได้มีพระบรมราชโอการโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
นับแต่นั้น เรื่องราวของการรัฐประหารยึดอำนาจอันเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอันจะขาดเสียไม่ได้ (necessary condition) สำหรับสังคมไทยและประชาธิปไตยแบบไทยๆ ก็ดำเนินไป  

หมายเหตุ สำหรับผู้ที่สนใจข้อเท็จจริงทางการเมืองของไทยโดยละเอียดในช่วง 203 วันก่อนที่จะมีการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 หาซื้อหนังสือเล่มนี้ที่จัดทำโดยกองบรรณาธิการมติชนมาอ่านเถอะครับ (อ่านคำแนะนำหนังสือได้ ที่นี่) และอย่าปิดหูปิดตาตัวเองไม่ยอมอ่านเพราะเหตุว่าเป็นสำนักพิมพ์มติชน อ่านเอาข้อมูลข้อเท็จจริงกันก่อน ท่านจะเชื่อหรือไม่ก็ย่อมเป็นสิทธิของผู้อ่านอยู่แล้ว แต่การไม่ยอมเปิดใจอ่านแล้วขังตัวเองอยู่ในกะลาของความไม่รู้ (อวิชชา) นี่ มันเป็นเรื่องที่น่าสมเพชยิ่งนัก



ชนชั้นที่ดัดจริต


"คนชั้นกลางที่ไหนๆ ก็แล้วแต่ มันมักจะน่ารังเกียจทั้งนั้น โดยเฉพาะคนชั้นกลางไทย เพราะมันไม่อ่านหนังสือ ไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นมันเป็นพวกดัดจริต เห็นแก่ตัว ไม่เข้าใจอะไร แล้วนึกว่าตัวเก่ง เที่ยวตัดสินอะไรต่างๆ อยู่ตลอดเวลา" (หน้า 112)

Tuesday, July 29, 2014

ตัวตนที่อ่อนปวกเปียก

“ความรู้ทางมนุษยศาสตร์และประวัติศาสตร์อย่างที่ผมปรารถนาและปฏิบัติมิได้มีไว้รับใช้ชาติ กลุ่มชน หรืออุดมการณ์ใดๆ แต่เพื่อการเติบโตทางปัญญาและจริยธรรมของปัจเจกที่เป็นตัวของตัวเองและเป็นอิสระจากยากล่อมประสาททั้งหลาย” (ธงชัย วินิจจะกูล)

น่าคิดเหมือนกันว่าสุดท้ายแล้ว
ในทุกๆ วันที่เราดำเนินชีวิต เราเป็นตัวของตัวเองจริงหรือเปล่า? หรือเอาเข้าจริง เรา "เต้น" ไปตามจังหวะของยากล่อมประสาททั้งหลายบรรดามี (ชาติ ศาสน์ กษัตริย์, คุณธรรมที่ยึดถือ, ลัทธิ, ความเชื่อ, สถาบันการศึกษาที่ 'บ่มเพาะ' ผ่านระยะเวลาอันยาวนานนับตั้งแต่เรายังเป็นเด็กจนปัจจุบัน, โฆษณาชวนเชื่อผ่านสื่อต่างๆ ทีวี วิทยุ ละครน้ำเน่า สื่อกระแสหลักที่เปิดกล่อมเราอยู่แทบทุกเวลานาที, ตัณหาความอยากส่วนตัว, อิทธิพลจากเพื่อนหรือคนใกล้ชิด, ผู้สอน (ซึ่งนับรวมผมเข้าไปด้วย) ที่ 'มักจะ' ครอบงำความคิด (domination) ผู้เรียนด้วยการพูด คิด เขียน และจูงจมูกให้เราเชื่อตาม อ้างหลักฐานโน่นนี่นั่น นักคิดของคนนั้นคนนี้ กล่อมประสาททุกวี่วัน หากไม่เชื่อตามฟังตามก็มีสิทธิสอบไม่ผ่าน เขาจึงมีอำนาจเหนือเรา ฯลฯ)

มันเป็นกระบวนการของการกระทำให้ตัวเองเป็นซับเจค (Subjectification)
ซับเจคนั้นเป็นผู้กระทำ (action) มากกว่าเป็นผู้ถูกกระทำ อย่างไรก็ดี ผู้ถูกกระทำนั้นก็คือตัวผู้กระทำเองคือกระทำให้ตัวเองเป็นซับเจค เช่น ถ้าต้องการที่จะมีสุขภาพดี ก็ต้องดูแลสุขภาพ ทานอาหารที่ดี เราทำตัวเราเองเพราะตกอยู่ใต้วาทกรรมสุขภาพดี, หากรักชาติมากๆ จนกลายเป็นคนที่ 'คลั่งชาติ' ก็อาจทำอะไรกับตัวเองถึงขนาดสักไปตามร่างกายเพราะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของลัทธิชาตินิยม (nationalism) บางครั้งอาจเกิดกลุ่มอาการต้องการจะปกป้องสถาบันด้วยความจงรักภักดี จึงต้องกำจัดฝ่ายตรงข้าม จงเกลียดจงชัง ประณามหยามเหยียดแบบต่างๆ ลดคุณค่าอีกฝ่ายลงเป็นควายชนิดที่ไม่มีวัวปนอยู่เลยก็อาจเป็นได้ ฯลฯ

แล้วใครที่คิดว่าตัวเองเป็นอิสระ เอาเข้าจริงยังมีเรื่องของ 'จิตไร้สำนึก' ที่ควบคุมมันไม่ได้อีกละ? มันพร้อมจะโผล่ปรากฏมาตอนไหนก็ไม่รู้ เช่น ตอนพูดหลุดปาก ตอนเราฝันละเมอ ตอนเจ็บไข้ได้ป่วย ล้มหมอนนอนเสื่อ ฯลฯ

"ตัวตน" ของเราจึงอ่อนปวกเปียก เหมือนก้อนดินที่ชุ่มด้วยน้ำ พร้อมที่จะถูกปั้นแต่งออกมาในรูปแบบต่างๆ
 

ผู้ที่เรียนประวัติศาสตร์


เฮาเวิร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardner, ค.ศ. 1943 - ปัจจุบัน) ผู้เสนอทฤษฎี Theory of Multiple Intelligence

Gardner เล่าเรื่องของผู้ที่เรียนประวัติศาสตร์ไว้อย่างน่าสนใจว่า ผู้ที่เรียนประวัติศาสตร์มักจะชอบทำงานกับหลักฐานบันทึกที่เป็นตัวหนังสือ ภาพ หรือรูปแบบอื่นๆ รวมถึงชอบรื้อหลักฐานมาประกอบใหม่และตีความ ประวัติศาสตร์แตกต่างจากวิทยาศาสตร์ตรงที่เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวและไม่อาจผลิตซ้ำหรือตีความอย่างตรงไปตรงมาได้ (Unlike science, historical events occur only once and cannot be replicated exactly or interpreted unambiguously.)
นักประวัติศาสตร์ต้องคาดเดาแรงจูงใจของบุคคลในอดีต แต่ละยุคสมัยจึงมีการเรียบเรียงประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่ (Historians must impute motives to personages from the past; each generation will necessarily rewrite history.)
กระนั้นก็ตาม นักประวัติศาสตร์ต้องเคารพข้อเท็จจริงและพยายามรวบรวมหลักฐานที่ถูกต้องให้ครบถ้วนที่สุดเท่าที่จะทำได้  (Yet historians are bound to respect the facts and to strive for as accurate and comprehensive a record as possible.)
สาขาวิชาอื่นๆ ตั้งแต่พันธุกรรมศาสตร์จนถึงเศรษฐศาสตร์ต่างก็มีระเบียบและข้อจำกัดที่คล้ายๆ กัน
หากประเมินคร่าวๆ คนคนหนึ่งจะใช้เวลาประมาณ 10 ปีเพื่อเรียนรู้สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ก่อนจะได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชานี้ (ตัวเลข 10 ปีนี้เป็นเกณฑ์เฉลี่ยโดยทั่วๆ ไปซึ่งรวมไปถึงสาขาวิชาอื่นๆ ด้วย) และโดยมากแล้วความเชี่ยวชาญนั้นๆ ได้มาจาก 2 แหล่ง นั่นคือ แหล่งแรก ได้มาจากการอบรมสั่งสอนในแบบที่เป็นทางการอย่างในสถาบันการศึกษา และแหล่งที่สอง ได้มาจากแบบที่ไม่เป็นทางการมากนักจากกระบวนการฝึกฝนต่างๆ และการเรียนรู้ด้วยตนเอง
ป.ล. 
ใครสนใจอยากดูตัวอย่างงานประวัติศาสตร์ดีๆ โดยผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ที่เป็นคนไทย ผมแนะนำให้ลองหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านกันดู กำเนิดสยามจากแผนที่ ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ (Siam Mapped: A History of the Geo-Body) ซึ่งเป็นหนังสือที่ปรับปรุงมาจากดุษฎีนิพนธ์ของ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ต้นฉบับภาษาอังกฤษมีให้ดาวน์โหลดนะครับ ที่นี่ ส่วนฉบับแปลภาษาไทยหาซื้อได้ทั่วไป เล่มนี้เลยครับ 

Sunday, July 27, 2014

ขำ ไม่ออก


ผมมีอาชีพเป็นครูนี่ ที่สำคัญมากส่วนหนึ่ง เพราะเชื่อในไอเดียเรื่องการศึกษาสมัยใหม่ (ซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาจากยุค เอ็นไล้เทนเม้นท์ครับ ระบบและไอเดียเรื่องการศึกษาของเราปัจจุบันที่ชนชั้นกลางรักเจ้าทั้งหลายผ่านมานี่ เอามาจากฝรั่งครับ) คือ ไอเดียที่ว่า ทุกคนมีความเป็นเหตุผลในตัวเอง และสามารถที่จะพัฒนาการใช้เหตุผลได้ ให้ยอมรับความจริงของโลกที่ว่า แต่ละคนมีความเฉพาะของตัวเอง มีความคิดในการมองโลกต่างๆ ได้หลากหลายและวิธีอยู่ร่วมกันในโลกสมัยใหม่ คือการเปิดเสรีให้แต่ละคนพัฒนาเหตุผลของตัวเอง แล้วนำมาแลกเปลี่ยนกัน
บางทีก็รู้สึกหดหู่จริงๆ เหมือนกันที่ปีหนึ่งๆ รัฐไทยทุ่มงบประมาณการศึกษามหาศาล แต่ผลิตคนรักเจ้าที่สะท้อนความล้มเหลวในการใช้เหตุผล ล้มเหลวในการพัฒนาความเป็นคนที่มีจิตใจ เปิดกว้างตามหลักการของการศึกษาสมัยใหม่นี้ และหดหู่ว่า เราเป็นส่วนหนึ่งของอาชีพ (ระบบการศึกษา) ที่มันล้มเหลวอย่างมโหฬารนี้ได้ยังไง (ที่ ขำ ไม่ออกคือ มีหลายคน ดันมา ตั้งคำถามประเภท ผมเป็นอาจารย์ได้ยังไง...แหม คุณเอ๋ย ที่ผมกำลังทำอยู่นี้ คือ หัวใจของหลักการการศึกษาสมัยใหม่เลยครับ ที่น่าถามมากกว่า คือพวกคุณผ่านการศึกษากันมาได้ยังไงนี่? คิดเป็นแบบนกแก้วนกขุนทอง ที่ถูกป้อนให้พูดตามอะไรที่ยัดๆ ใส่สมองมาเลย ไม่รู้จักตั้งคำถามกับสิ่งที่ถูกป้อนมาเลย และไม่รู้เลยว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง สามารถมองได้หลายๆ แบบ และคนเราคิดไม่เหมือนกันได้ (โว้ย) ครับ)
ข้อความข้างต้นมาจาก เฟสบุ๊คของอาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่านหนึ่ง โพสต์ไว้เมื่อวันพุธที่ 5 กุมพันธ์ 2557  

สำหรับสังคมไทยแล้ว ต่อให้ข้อความข้างต้นที่แกพูดมาจะถูกต้องทั้งหมด แต่บอกได้เลยว่า แกก็ยังผิดอยู่ดี

งานเล็กๆ

 หัวข้อหนึ่งในหนังสือของ Leo Babauta ชื่อว่า งานเล็กๆ เขาต้องการบอกว่า งานชิ้นใหญ่ๆ เป็นเรื่องหนักหนาเกินไป การจะทำงานชิ้นใหญ่ให้ง่ายขึ้น ก็ซอยงานใหญ่ให้เป็นงานเล็กๆ รู้จักสร้างข้อจำกัดด้วยการแบ่งงานออกเป็นงานเล็กๆ แล้ว ลงมือทำมันโดยกำหนดระยะเวลาให้แล้วเสร็จ เช่น แล้วเสร็จภายใน 1 ชั่วโมงข้างหน้า หากว่ายังยากอยู่ก็อาจกำหนดระยะเวลาให้น้อยลง พร้อมๆ กับซอยงานให้เล็กลงไปอีก เช่นภายใน 20 นาที จะได้รู้สึกว่า เป็นเรื่องง่ายๆ 

เหตุที่ต้องทำเช่นนี้ ก็เพื่อจะได้ไม่ทิ้งงานที่เราต้องทำ แล้วไปทำเรื่องอื่นที่ไม่สำคัญ เราต้องจดจ่อกับงานที่สำคัญ และถ้ารู้สึกว่างานใหญ่มาก ก็จงแบ่งงานนั้นให้เล็กลง เพื่อจะได้รู้สึกว่าไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่จะทำมันให้เสร็จ
ครั้นเมื่อลงมือทำงานเล็กๆ จำนวนมาก มันก็จะสะสม กองรวมและประกอบกันขึ้นเป็นงานใหญ่ไปเอง 
"ยิ่งแบ่งงานให้เล็กลงเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น เพราะนั่นหมายถึงแนวโน้มที่เราจะทำเสร็จมากขึ้น" 
"เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณพบว่าตัวเองกำลังผัดผ่อนงานสำคัญออกไป ให้ลองคิดว่าจะแบ่งมันออกเป็นงานที่เล็กลงได้หรือไม่ จากนั้นเริ่มลงมือทำ อย่าผัดวันประกันพรุ่ง แต่ลงมือทำทันที" 
งานเล็กๆ ย่อมดีกว่างานใหญ่ๆ เสมอ 
 
 

ถูกใจก็ใช่ว่าจะถูกต้อง

 
เห็นภาพนี้แล้วทำให้ผมนึกถึงประโยคหนึ่งขึ้นมาได้ "ถูกใจก็ใช่ว่าจะถูกต้อง
การถูกอกถูกใจของคนจำนวนมากเป็นล้านๆ ที่เต็มไปด้วยความเชื่อ ก็หาได้เปลี่ยนให้สิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้องได้ไม่ ตัวอย่างเรื่องโลกแบนกับโลกกลม ตัวอย่างเรื่องมนุษย์ถือกำเนิดมาจากลิงมิใช่พระเจ้าสร้าง ตัวอย่างเรื่องรัฐประหารยึดอำนาจก่อนแล้วจะสร้างให้เกิดประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ตัวอย่างเหล่านี้อาจทำให้คนที่เชื่อแสดงความถูกใจเพื่อยืนยันความเชื่อของตัวเอง 
แต่อย่างที่บอก "ถูกใจก็ใช่ว่าจะถูกต้อง" ความจริงก็ยังคงเป็นความจริง แม้จะไม่มีใครเชื่อเลยก็ตาม หรือแม้จะมีคนที่ยืนยันความถูกต้องนั้นแค่เพียงคนเดียว ความถูกต้องยังคงเป็นความถูกต้อง
และความถูกต้องก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องทำให้คนถูกใจเสมอไป ความถูกต้องไม่ได้เกี่ยวอะไรกับความถูกใจ ต่อให้ไม่มีใครถูกใจ ความถูกต้องก็ยังคงเป็นความถูกต้องอยู่วันยังค่ำ
แน่นอนว่า กด like เป็นล้าน ก็ใช่ว่าจะทำให้เรื่องนั้นๆ เป็นเรื่องที่ถูกต้องเสมอไป 
 

ความดีคืออะไร

"ความดีคืออะไร" ไม่ใช่คำถามใหม่แต่อย่างใด มันเก่าแก่พอๆ กับสังคมมนุษย์ที่ถือกำเนิดขึ้นมา เอาอย่างนี้ละกัน ผมจะทดลองอธิบายโดยอิงกับคำพูดของท่าน ป. อ. ปยุตฺโต ข้างล่างนี้

หากว่าตามที่ท่าน ป. อ. ปยุตฺโตว่าไว้ว่า "ทุกสิ่งที่มีอยู่ มีอยู่อย่างมีเงื่อนไข" ถ้าเช่นนั้น เรื่องของ "ความดี" ก็เช่นกัน มันมีอยู่โดยมีอยู่อย่างมีเงื่อนไข เงื่อนไขที่ว่านี้ก็คือบริบทสภาพแวดล้อมหรืออาจจะพูดได้ว่าเป็นฐานคิดของการมีอยู่ในเรื่องนั้นๆ ในที่นี้ก็คือเรื่องของ "ความดี" 
นิยาม "ความดี" ของแต่ละคน แต่ละสังคม แน่นอนว่าอาจไม่เหมือนกัน นอกจากความเข้าใจของคนเราแต่ละคน หรือสังคมแต่ละสังคมจะแตกต่างกันมากมายแล้ว ในแนวตั้งก็ยังมีระดับที่แตกต่างกันอย่างมากด้วย เมื่อนำความดีในนิยามของแต่ละคนหรือของแต่ละสังคมมาพูดกันอาจจะฟันธงลงไปไม่ได้ว่าใครเป็นฝ่ายถูก เพราะอาจจะถูกทั้งคู่ แต่ถูกภายใต้เงือนไขที่แตกต่างกัน เพราะอิงฐานคิดกันคนละอย่าง 
แต่สำหรับฐานคิดของ "ศาสนาพุทธเถรวาทแบบไทย" นั้นนิยามของความดีที่ว่ากันว่ามีลักษณะของอัตตวิสัย (subjective) แต่พุทธเถรวาทแบบไทยได้นิยามไว้ชัดเจนเป็นวัตถุวิสัย (objective) มากๆ พิสูจน์ได้ ไม่เลื่อนลอย แต่ก็นั่นแหละครับ มันก็ยังเป็นนิยามที่อิงอยู่กับศาสนาพุทธ มิใช่ศาสนาอื่น ซึ่งสังคมอื่นและคนที่เชื่อแบบอื่นอาจไม่ยอมรับก็ได้ ความดีจึงยังเป็นคำที่มีปัญหาอยู่นั่นเอง (อ่านรายละเอียดที่นี่)
ยังไงๆ ก็ลองอ่านงานชิ้นนี้ของผมดูก็แล้วกัน แล้วคุณจะเข้าใจว่า "ความดีคืออะไร" ในแบบของพุทธเถรวาทแบบไทย

Saturday, July 26, 2014

คนอินโทรเวิร์ต (introvert)

คุณเคยสำรวจตัวเองไหมว่าเป็นคนแบบไหน? 
คำถามดังกล่าวปรากฏอยู่บนหลังปกหนังสือแปลเล่มนี้ Quiet เขียนโดย Susan Cain

ผมเพิ่งมาตระหนักได้ไม่นานครับว่าลักษณะของผมเอง โน้มเอียงไปในลักษณะของคนประเภท อินโทรเวิร์ต (introvert) คนประเภทที่ว่า มีพลังกายพลังใจงอกงามได้ก็ต่อเมื่อปลีกวิเวกไปหาความสงบอยู่คนเดียว และชอบหลีกหนีการพบปะสังสรรค์กับคนกลุ่มใหญ่ และคนประเภทนี้มีสัดส่วนประชากร 1 ใน 3 ของโลก
คนอินโทรเวิร์ตเป็นคนประเภทตรงข้ามกับพวก เอ็กซ์โทรเวิร์ต (extrovert) พวกหลังนี้เป็นพวกที่จิตใจพองโตทุกครั้งที่ได้อยู่กับเพื่อนฝูง และทนอยู่คนเดียวนานๆ ไม่ได้
หนังสือเล่มนี้เป็นผลงานการศึกษาร่วม 7 ปีของ Susan Cain ที่บอกเล่าเรื่องราวของประเภทคนอินโทรเวิร์ด คนเงียบๆ ไม่ชอบเข้าสังคมหรือเข้าสังคมไม่เก่ง ขี้กลัว หลายครั้งก็ขี้อาย บางคนเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนแต่เป็นคนหัวรุนแรง บางก็เป็นคนเงียบแต่แข็งแกร่ง พวกอินโทรเวิร์ดเป็นพวกที่มักหลบลี้หนีหน้า แน่นอนว่ามีคำอื่นที่นำมาใช้กับคนประเภทนี้ คำนั้นก็คือ "นักคิด" หรือเป็น "คนเงียบในโลกของคนปากโทรโข่ง" คนที่พูดแต่ละทีโลกจะอึ้ง
Carl Jung นักจิตวิทยาชาวสวิสผู้ทรงอิทธิพล บอกว่า พวกอินโทรเวิร์ตมักจะถูกดึงดูดเข้าหาโลกภายในของความคิดและความรู้สึก ชอบอยู่ลำพัง ใช้เวลาครุ่นคิด และสำรวจเข้าไปภายในตัวเอง ส่วนพวกเอ็กซ์โทรเวิร์ดมักถูกดึงดูดเข้าหาชีวิตภายนอกของผู้คนและกิจกรรมต่างๆ อินโทรเวิร์ดมุ่งเน้นไปที่ความหมายของสิ่งต่างๆ รอบตัว ขณะที่พวกเอ็กซ์โทรเวิร์ดจะกระโจนลงไปในตัวเหตุการณ์หรือกิจกรรมนั้นๆ มนุษย์อินโทรเวิร์ตจะรีชาร์จแบตเตอรี่ภายในตัวเองด้วยการอยู่คนเดียว ส่วนมนุษย์เอ็กซ์โทรเวิร์ดจำเป็นต้องรีชาร์จแบตเตอรี่เมื่อพวกเขาคิดว่ายังไม่ได้เข้าสังคมมากพอ 
 Charles Darwin

ตัวอย่างคนอินโทรเวิร์ตเด่นๆ ก็เช่น ชาร์ลส์ ดาร์วิน ในตอนเป็นเด็กเขาเข้ากับคนง่าย แต่ก็ชอบที่ใช้เวลาเดินชมธรรมชาติคนเดียวเป็นเวลานานๆ มากกว่า ตอนเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ไม่เปลี่ยนไป ดูได้จากจดหมายฉบับหนึ่งที่เขาเขียนถึงนักคณิตศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงชื่อมิสเตอร์แบ๊บเบจ ที่เชิญเขาไปร่วมงานเลี้ยงอาหารเย็นว่า
"มิสเตอร์แบ๊บเบจที่รัก ผมรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณอย่างมากที่ท่านส่งบัตรเชิญให้ผมไปร่วมงานปาร์ตี้ แต่ผมเกรงว่าจะรับไว้ไม่ได้ เพราะว่าถ้าผมไป ผมก็จะพบกับบางคนที่นั่น ซึ่งเป็นคนที่ผมได้สาบานกับนักบุญทุกองค์ในสวรรค์ไว้ว่าผมจะไม่มีวันออกไปข้างนอก"
(อ่านเรื่องราวของชาร์ลส์ ดาร์วิน 2 ตอนจบได้ที่นี่ครับ ตอนที่ 1 และตอนที่ 2
อ่านที่ผมเล่าให้ฟังทั้งหมดข้างตนก็ลองกลับไปคิดๆ ดูละกันนะครับว่า คุณเป็นคนแบบไหน? เพราะอะไรจะดีเท่ากับการ 'รู้จักตัวเอง' (Know Thyself) อย่างที่โสคราตีส (Socrates, 470-399 ปีก่อนคริสตกาล) ว่าไว้ละครับ

Thursday, July 24, 2014

พูดอย่างทำอีกอย่าง

ผมนั่งอ่านสาระสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (๒๕๕๒-๒๕๖๑) แล้วก็นึกขำกับการกระทำของรัฐไทยในลักษณะ 'พูดอย่างทำอีกอย่าง' มาดูกันเฉพาะแค่เรื่อง 'เป้าหมายยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง' ก็แล้วกัน


พูดเฉพาะแค่ข้อ ๓) กับข้อ ๔) ก็พอ ข้อที่ ๓) บอกว่ามีวัฒนธรรมประชาธิปไตย
คำถามก็คือการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลจากการเลือกตั้งซึ่งเป็นรัฐบาลตัวแทนที่มาจากอำนาจของประชาชนนั้น ถือเป็นตัวอย่างการสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยตรงไหนมิทราบ?
พอทำรัฐประหารยึดอำนาจแล้วเสร็จในระยะเวลา ๖๐ กว่าวัน http://ilaw.or.th/node/3184 ภายหลังจากคณะผู้ยึดอำนาจฉีกรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกติกาหลักของสังคมที่สมาชิกในสังคมตกลงยอมรับร่วมกัน คณะรัฐประหารก็ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งไม่ได้เป็นวิถีหรือครรลองตามระบอบประชาธิปไตยใดๆ เลย ประกาศใช้รัฐธรรมนูญเองเออเองโดยเรียกมันว่ารธน.ฉบับชั่วคราว ซึ่งอันที่จริงแล้ว ผมจะบอกให้ว่า รัฐธรรมนูญของประเทศนี้ไม่เคยมีฉบับที่ถาวรเลยสักฉบับ ฉบับชั่วคราวนี้ก็เป็นฉบับที่ ๑๙ แล้ว ขณะที่รัฐธรรมนูญของประเทศสหรัฐฯ เขาใช้แค่ฉบับเดียว และใช้กันมา ๒๐๐ กว่า ปี โดยมาจากอำนาจของประชาชนอย่างแท้จริง
 
 http://www.thailaws.com/law/thaiacts/e_constitution012.pdf

ลองคิดเปรียบเทียบดูก็แล้วกันว่ากรณีของไทย การร่างรัฐธรรมนูญ - ประกาศใช้ - ไม่พอใจก็ฉีก - ฉีกแล้วร่างใหม่อีก - แล้วประกาศใช้ใหม่อีก ทำแบบนี้กันมาซ้ำแล้วซ้ำอีก มันเป็นการสร้างวัฒธรรมประชาธิปไตยให้เป็นตัวอย่างแก่เด็กและเยาวชนตรงไหนมิทราบ?
ยังไม่แค่นั้นนะครับ ฝ่ายที่รัฐประหารยึดอำนาจยังเขียนใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญในมาตราสุดท้ายไว้อย่างน่าเกลียดอีกด้วยว่า ไอ้สิ่งที่ตัวเองทำไปแล้วในอดีต (ล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งโดยการรัฐประหารยึดอำนาจอธิปไตยไปจากประชาชนเจ้าของประเทศ) นี้ และที่จะทำต่อไปในอนาคต (ซึ่งไม่รู้อีกนานแค่ไหนและทำอะไร) ให้ถือว่า 'หากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง' แหม่! สร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยน่าดูเลยนะครับ
แล้วอย่างนี้จะให้คนไทยใฝ่ดี...มีวัฒนธรรมประชาธิปไตยได้อย่างไร ก็เห็นๆ ตัวอย่างระดับชนชั้นนำ (elites) หรือชนชั้นปกครอง (ruling classes) ของประเทศกันอยู่ว่า การกระทำแบบนี้นี่มันเป็นเผด็จการชัดๆ

หมายเหตุ
ที่ผมพูดมาทั้งหมดนี้ ผมใช้สิทธิในข้อที่ ๔) ของเป้าหมายุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองอยู่นะครับ ที่บอกว่า "คนไทยคิดเป็น..." จึงเรียนมาเพื่อทราบ


ว่าด้วยพุทธะ

พุทธคุณ ๙ นี้เป็นสิ่งที่ผมใช้สวดมนต์ก่อนนอนเพื่อระลึกนึกถึงพระพุทธองค์ในฐานะที่พุทธองค์เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่พัฒนาตัวเองจนบรรลุศักยภาพของความเป็นมนุษย์ ความหมายของพุทธคุณ ๙ ก็น่าสนใจ ลองอ่านกันดูนะครับ
๑) อรหํ (เป็นพระอรหันต์ คือ เป็นผู้บริสุทธิ์ ไกลจากกิเลส ทำลายกำแห่งสังสารจักรได้แล้ว เป็นผู้ควรแนะนำสั่งสอนผู้อื่น ควรได้รับความเคารพบูชา)
๒) สมฺมาสมฺพุทฺโธ (เป็นผู้ตรัสรู้ชอบเอง)
๓) วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน (เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชา คือความรู้ และจรณะ คือ ความประพฤติ)
๔) สุคโต (เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว คือ ทรงดำเนินพระพุทธจริยาให้เป็นไปโดยสำเร็จผลด้วยดี พระองค์เองก็ได้ตรัสรู้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญพุทธกิจก็สำเร็จประโยชน์ยิ่งใหญ่แก่ชนทั้งหลายในที่ที่เสด็จไป และได้ประดิษฐานพระศาสนาไว้ แม้ปรินิพพานแล้วก็เป็นประโยชน์แก่มหาชนสืบมา)
๕) โลกวิทู (เป็นผู้รู้แจ้งโลก คือ ทรงรู้แจ้งสภาวะอันเป็นคติธรรมดาแห่งโลกคือสังขารทั้งหลาย ทรงหยั่งทราบอัธยาศัยสันดานแห่งสัตวโลกทั้งปวง ผู้เป็นไปตามอำนาจแห่งคติธรรมดาโดยถ่องแท้ เป็นเหตุให้ทรงดำเนินพระองค์เป็นอิสระ พ้นจากอำนาจครอบงำแห่งคติธรรมดานั้น และทรงเป็นที่พึ่งแห่งสัตว์ทั้งหลายผู้ยังจมอยู่ในกระแสโลกได้) 
๖) อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ (เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ฝึกได้ ไม่มีใครยิ่งไปกว่า คือ ทรงเป็นผู้ฝึกคนได้ดีเยี่ยม ไม่มีผู้ใดเทียมเท่า) 
๗) สตฺถา เทวมนุสฺสานํ (เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย)
๘) พุทฺโธ (เป็นผู้ตื่นและเบิกบานแล้ว คือ ทรงตื่นเองจากความเชื่อถือและข้อปฏิบัติทั้งหลายที่ถือกันมาผิดๆ ด้วย ทรงปลุกผู้อื่นให้พ้นจากความหลงงมงายด้วย อนึ่ง เพราะไม่ติด ไม่หลง ไม่ห่วงกังวลในสิ่งใดๆ มีการคำนึงประโยชน์ส่วนตนเป็นต้น จึงมีพระทัยเบิกบาน บำเพ็ญพุทธกิจได้ถูกต้องบริบูรณ์ โดยถือธรรมเป็นประมาณ การที่ทรงพระคุณสมบูรณ์เช่นนี้ และทรงบำเพ็ญพุทธกิจได้เรียบร้อยบริบูรณ์เช่นนี้ ย่อมอาศัยเหตุคือความเป็นผู้ตื่น และย่อมให้เกิดผลคือทำให้ทรงเบิกบาน) 
๙) ภควา (ทรงเป็นผู้มีโชค คือ จะทรงทำการใด ก็ลุล่วงปลอดภัยทุกประการ หรือ เป็นผู้จำแนกแจกธรรม) 
เนื้อหาของ พุทธคุณ ๙ ทั้งหมดข้างต้น ผมคัดมาจากหนังสือ พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม (Dictonary of BUDDHISM) ของพระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต)




ใครสนใจอยากอ่านทั้งเล่ม ไม่ต้องไปหาซื้อหรอกครับ เขามีให้ดาวน์โหลด ที่นี่เลยครับ
http://www.watnyanaves.net/uploads/File/books/pdf/dictionary_of_buddhism_pra-muan-dhaama.pdf

อีกเล่มก็ดีมากๆ สำหรับคนที่สนใจพุทธศาสนาแบบเอาจริงเอาจัง ผมอ่านเล่มนี้สมัยตอนบวช อ่านจบไป ๒ รอบ และตัดสินใจซื้อไว้เล่มนึงเป็นของมือสอง ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๗ อ่านแล้วก็ได้อะไรไปคิดต่ออีกมากมาย พยายามหาสารคดีมาดูประกอบ (ชมได้ที่นี่) ทุกวันนี้ก็ยังกลับไปอ่านไปค้นอยู่เรื่อยๆ เมื่อสงสัยหรือไม่เข้าใจ เพราะท้ายเล่มท่านปยุตโตได้ทำดัชนีให้สืบค้นไว้อย่างดีทีเดียว เล่มนี้หนาอยู่สักหน่อยหนา 1,000 กว่าหน้า ดาวน์โหลดได้ที่นี่เลยครับ



อันนี้ คือ ความประสงค์ประการหนึ่งของท่าน ป. อ. ปยุตฺโต ในการแต่ง พุทธธรรม เล่มนี้ขึ้นมาครับ (ปรากฎอยู่ที่หน้า ๑๑๔๕)

ใช่ว่าผมจะเขียนเชียร์ตำราพุทธธรรมเล่มนี้ของท่าน ป. อ. ปยุตฺโตก็หาไม่ ข้อวิพากษ์วิจารณ์งานเขียนชิ้นนี้ก็มีนะครับ ใครอยากรู้ว่าถูกวิพากษ์วิจารณ์โจมตียังไง ก็ลองอ่านจากวารสารปัญญา (คลิกได้เลยครับ) ของศาสตราจารย์ ดร.สมภาร พรหมทา เล่มนี้ดูนะครับ (อ่านตั้งแต่หน้า ๔๘๑ เป็นต้นไป)



Wednesday, July 23, 2014

การจดจ่อ


ตื่นมาแต่เช้า ผมก็นั่งอ่านทบทวนหนังสือ ทำน้อยให้ได้มาก ของ Leo Babauta เป็นรอบที่ ๓ แล้ว Babauta ให้ความสำคัญกับการจดจ่อ เป็นอย่างมาก ทั้ง (๑) การจดจ่อกับเป้าหมาย (๒) จดจ่อกับปัจจุบัน (๓) จดจ่อกับงานที่อยู่ตรงหน้า และ (๓) จดจ่อกับความคิดเชิงบวก พลังของการจดจ่อสำคัญกว่าเรื่องใดๆ ทั้งหมด เพราะอะไรนะเหรอครับ? Babauta บอกว่า
เพราะในยุคเทคโนโลยีอย่างในปัจจุบัน ข้อมูลมากมายไหลบ่าเข้ามาและต่างเรียกร้องเวลาจากเรานั่นเอง
การจดจ่อก็คงเหมือนกับการมีสติซึ่งก่อให้เกิดสมาธิ สติมาปัญญาก็เกิด (wisdom of hindsight) นั่นแหละครับ Batauta จึงแนะนำให้ทำงานที่ละอย่างและพยายามทำให้เรียบง่ายที่สุดเท่าที่จะทำได้ด้วยการจดจ่อกับแค่งานเดียวด้วยการสร้างข้อจำกัดและเลือกแต่สิ่งสำคัญจริงๆ
การสร้างข้อจำกัดทำได้ง่ายๆ เช่น กำหนดระยะเวลาของการทำงาน เช่น จะทำงานชิ้นนี้ตั้งแต่เวลา 08.00 - 09.00 น. หรืองานชิ้นนี้ต้องแล้วเสร็จใน 3 วัน โดยเอางานที่สำคัญต่อเป้าหมายของเราจริงๆ ขึ้นมาทำก่อนงานอื่นๆ 
Babauta เสนอวิธีทำงานที่ละอย่างไว้ดังต่อไปนี้ (หน้า ๔๒-๔๓ ของหนังสือทำน้อยให้ได้มาก)  
 ๑) ทำงานที่สำคัญที่สุดเป็นอย่างแรกในตอนเช้า ถ้าคุณทำงานสำคัญเสร็จ ๒-๓ อย่างในช่วงเช้า เวลาที่เหลือในวันนั้นก็ถือเป็นกำไร
๒) ถ้าอยากทำงานให้เสร็จตามกำหนด จงกำจัดสิ่งรบกวนทุกอย่าง ถ้าเป็นไปได้อย่าเปิดอีเมล เฟสบุ๊ค หรือแม้กระทั่งอินเทอร์เน็ต ปิดโทรศัพท์มือถือ พยายามไม่รับโทรศัพท์ จดจ่อกับงานนั้นและพยายามทำให้เสร็จโดยไม่กังวลถึงสิ่งอื่น
๓) ถ้าคุณนึกอยากทำงานอื่นขึ้นมา อยากเปิดเฟสบุ๊ค อยากเปิดอีเมล อย่าเข้าเว็บไซต์ จงห้ามใจตัวเองไว้ ชะลอความอยากของตัวเองไว้ก่อน แล้วกลับไปทำงานที่อยู่ตรงหน้า
๔) หากมีงานอื่นแทรก ให้จดลงสมุดเล่มเล็กๆ หรือโน้ตไว้ในโทรศํพท์มือถือ หรือบันทึกไว้ในไฟล์คอมพิวเตอร์ แล้วก็กลับไปทำงานที่อยู่ตรงหน้าต่อ การทำแบบนี้จะเป็นการบังคับใจตัวเองและสร้างวินัยให้กับตัวเองไปในตัว เพื่อให้จดจ่อกับงานที่อยู่ตรงหน้านั่นเอง
๕) เมื่อคุณทำงานที่อยู่ตรงหน้าเสร็จแล้วจึงค่อยตรวจดูงานที่แทรกเข้ามาที่เราโน้ตไว้ เพิ่มงานเหล่านั้นลงไปในรายการสิ่งที่ต้องทำ ปรับเปลี่ยนตารางงานใหม่ถ้าจำเป็น
๖) ถ้างานแทรกมีความเร่งด่วนมากจนคุณไม่อาจทำงานตรงหน้าให้เสร็จก่อนได้ ให้จดไว้ว่างานที่ทำอยู่ไปถึงไหนแล้ว จากนั้นจึงรวบรวมเอกสารหรือบันทึกที่เกี่ยวข้องกับงานนั้นไว้ด้วยกัน ใส่ไว้ในแฟ้ม "งานที่กำลังทำอยู่" และเมื่อคุณกลับมาทำอีกครั้ง คุณก็สามารถหยิบแฟ้มขึ้นมาดูแล้วทำต่อจากส่วนที่ค้างไว้ได้ทันที
Babauta เล่าว่า ระหว่างนั่งทำงานทีละอย่างนี้ ให้สูดหายใจลึกๆ ยืดเส้นยืดสาย และหยุดพักบ้าง จงสนุกไปกับชีวิต พยายามรักษาสุขภาพจิตให้ดีอยู่เสมอ
หากคุณไม่สามารถจดจ่อให้จิตใจอยู่กับงานหรืออยู่กับปัจจุบันได้ เพราะจิตใจของคุณอาจล่องลอยไปอยู่ที่อื่น นั่นเป็นเรื่องปกติ ใครๆ ก็เป็นกันทั้งนั้น 
เขาบอกว่า อย่าตำหนิตัวเองเลยครับ อย่าท้อถอย ก็แค่ฝึกฝนต่อไป ฝึกฝนทุกครั้งที่นึกขึ้นได้ แล้วพาใจตัวเองให้กลับมาจดจ่อกับงานที่อยู่ตรงหน้า และอยู่กับปัจจุบัน
"ผมไม่มีอะไรที่ต้องทำกับอดีต หรือแม้แต่อนาคต ผมอยู่กับปัจจุบัน"
- ราล์ฟ วอลโด  เอเมอร์สัน -

Tuesday, July 22, 2014

คำว่าประชาธิปไตย

คำว่า "ประชาธิปไตย" เป็นสิ่งที่ชนชั้นปกครองช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 เกลียดชังอย่างรุนแรง โดยประณามว่าระบอบนี้เป็น "การปกครองโดยฝูงชน" ของ "พวกสามัญชนคนต่ำช้า" ตามคำกล่าวของ เอ็ดมันด์ เบิร์ค ส่วนแมคคอลีย์ นักประวัติศาสตร์อังกฤษแห่งพรรควิกซึ่งมีแนวปฏิรูปก็ยืนกรานไม่ต่างกับพวกนิยมกษัตริย์ โดยกล่าวว่า "สิทธิการเลือกตั้งสำหรับบุคคลทั่วไปนั้นจะเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อจุดประสงค์ทั้งหมดของการมีรัฐบาล" และ "เข้ากันไม่ได้โดยเด็ดขาดกับการดำรงอยู่ของอารยธรรม"
Edmund Burke

แม้แต่ตอนที่ชนชั้นปกครองถูกกดดันจากชนชั้นล่างกลุ่มต่างๆ จนต้องยอมมอบสิทธิการออกเสียงเลือกตั้ง แต่พวกเขาก็ยังหาทางให้เอาคุณสมบัติเรื่องทรัพย์สินมาเป็นตัวกำหนด เพื่อกีดกันชนชั้นล่างๆ ไม่ให้มีสิทธิอยู่ดี พระราชบัญญัติปฏิรูปของสหราชอาณาจักร ฉบับปี 1832 ขยายสิทธิเลือกตั้งให้พลเมือง (ชาย) จำนวน 2 แสนคนเป็น 1 ล้านคน ซึ่งเท่ากับไม่ถึงหนึ่งในห้าของจำนวนประชากรเพศชายวัยผู้ใหญ่ (ในสหราชอาณาจักรนับตั้งแต่ชนชั้นปกครองยอมรับว่าชนชั้นกลางควรมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในปี 1832 นั้น ยังต้องใช้เวลาอีกถึง 95 ปีกว่าที่จะยอมให้ผู้ชายในวัยผู้ใหญ่ทุกคนมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้)
พระราชบัญญัติ ฉบับปี 1867 ซึ่งประกาศใช้ท่ามกลางความปั่นป่วนวุ่นวายอย่างหนักนั้น เพิ่มจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งให้มีมากขึ้น แต่ครึ่งหนึ่งของประชากรเพศชายก็ยังไม่ได้สิทธินี้ และ "พวกผู้นำทั้งพรรคอนุรักษนิยมและเสรีนิยมต่างก็ไม่คิดให้กฎหมายฉบับนี้สถาปนารัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยขึ้น" (หน้า 624-625)

อ่านมาถึงตรงนี้ ทำให้ผมได้รู้ว่า ประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยของตะวันตกเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิในการเลือกตั้งของ "พวกสามัญชนคนต่ำช้า" ไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายดายเอาเสียเลย

ไหนๆ ก็พูดถึงเรื่อง 'ประชาธิปไตย' แล้ว ก็อยากจะชวนให้ผู้อ่านให้ได้มาพิจารณาลักษณะสำคัญ 3 ประการของรัฐประชาธิปไตยตะวันตกกันเสียเลย

ในรายงานการวิจัย เรื่อง 'บทวิพากษ์ธรรมวิทยาแห่งพลเมืองไทยของประกาศกร่วมสมัย' หน้า 212 - 213 อาจารย์สมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่าลักษณะสำคัญของรัฐประชาธิปไตยมี 3 ประการที่สัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก ได้แก่



1) ส่วนที่มาจากการเลือกตั้งของรัฐ ควบคุมส่วนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของรัฐ โดยทั่วไป เรามักจะพูดถึงลักษณะข้อนี้อย่างเป็นรูปธรรมว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งควบคุมกองทัพ (และข้าราชการประจำอื่นๆ) แต่ความจริง "ส่วนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของรัฐ" มีเนื้อหาที่ครอบคลุมกว้างขวางกว่ากองทัพ หรือข้าราชการประจำทั่วไป และแตกต่างกันในแต่ละสังคม

2) ส่วนที่มาจากการเลือกตั้งของรัฐอยู่ภายใต้อิทธิพล กระทั่งการควบคุมของประชาชนอีกต่อหนึ่ง

3) ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน และระหว่างประชาชนด้วยกัน อยู่บนพื้นฐานที่ทุกคนเสมอภาคกันภายใต้กฎหมาย โดยไม่มีข้อยกเว้น

จากกบฏไต้ผิงถึงกบฏไทย ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่

 ความทุกข์ยากของชาวนาอันเกิดจากความเสื่อมของจักรวรรดิแมนจูหนักหนาสาหัสมากขึ้นจากการรุกล้ำของต่างชาติ สภาพการณ์ต่างๆ เลวร้ายจนไม่อาจทนได้ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่แถบภูเขาที่ไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์นักตามพรมแดนระหว่างมณฑลต่างๆ ชาวนาจีนเริ่มมีปฏิกิริยาอย่างที่มักเคยกระทำมาก่อนเมื่อประสบปัญหาทำนองนี้ในอดีต พวกเขาเข้าร่วมกับกลุ่มนิกายทางศาสนาที่ไม่พอใจรัฐบาลและลุกฮือขึ้นสู้พวกเจ้านาย สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ "กบฏไต้ผิง" (ค.ศ. ๑๘๕๐-๑๘๖๔) ซึ่งแท้จริงแล้วก็คือการโจมตีอำนาจรัฐแบบการปฏิวัติอย่างนองเลือดนั่นเอง
ขบวนการดังกล่าวเริ่มขึ้นในหมู่ชาวนา กรรมการ และปัญญาชนที่ยากจนไม่กี่คนทางตอนใต้ของจีนในช่วงกลางทศวรรษ ๑๘๔๐ หัวหน้ากบฏคือ หงซิ่วฉวน

หงซิ่วฉวนเป็นครูที่มาจากครอบครัวชาวนา ซึ่งเห็นตัวเองในนิมิตว่าเป็นน้องชายพระเยซู และได้รับบัญชาจากพระเจ้าให้ทำลายปีศาจร้ายในโลกและก่อตั้ง "อาณาจักรสวรรค์" แห่ง "สันติสุขอันยิ่งใหญ่" (ไต้ผิง ในภาษาจีน) ขึ้น เขาเทศน์สั่งสอนเรื่องความเสมอภาคอย่างเคร่งครัดระหว่างประชาชน มีการแบ่งสรรที่ดินกันอย่างเท่าเทียม ชุมชนเป็นเจ้าของสินค้าและทรัพย์สินร่วมกัน และยุติการแบ่งแยกความแตกต่างทางสังคมที่มีมาแต่โบราณ รวมถึงการยกเลิกธรรมเนียมที่ถือว่าสตรีมีสถานะเป็นรองบุรุษด้วย สานุศิษย์ของเขามีความมุ่งมั่นและวินัยที่ช่วยให้พวกเขาได้รับความสนับสนุนอย่างกว้างขวางและเอาชนะกองทัพที่ส่งมาปราบพวกตนได้หลายครั้ง ในปี ๑๘๕๓ ขบวนการเคลื่อนไหวซึ่งตอนนี้มีผู้สนับสนุนราว ๒ ล้านคนก็เข้ายึดหนานจิงเมืองหลวงเกาของจีนได้สำเร็จ และปกครองดินแดนราวร้อยละ ๔๐ ของประเทศในฐานะเป็นรัฐรัฐหนึ่ง
อุดมการณ์ความเสมอภาคของขบวนการไต้ผิงไม่อาจอยู่ได้ตลอดรอดฝั่งในเวลาไม่นานนัก ผู้ดำรงตำแหน่งสูงๆ ก็เริ่มทำตัวเป็นเหมือนราชสำนักในอดีต หงซิ่วฉวนเองเริ่ม "ใช้ชีวิตอย่างหรูหราฟุ่มเฟือย และมีนางสนมมากมาย" ในชนบทชาวนายากจนที่แทบอดตายยังต้องเสียภาษี แม้ว่าจะต่ำกว่าอัตราเดิมเล็กน้อย
บัดนี้ผู้นำกบฏไต้ผิงละทิ้งอุดมการณ์ของตนเองนั้นเป็นการซ้ำรอยเหตุการณ์ทำนองเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในการกบฏของชาวนาครั้งก่อนๆ ในจีน ชาวนาซึ่งไม่รู้หนังสือซึ่งทำไร่ไถ่นากระจัดกระจายกันไปตามผืนดินอันกว้างใหญ่ไพศาลไม่ได้เป็นพลังอันแข็งแกร่งมากพอจะจะควบคุมกองทัพและผู้นำของตนเองได้ ทั้งบรรดาผู้นำก็พบว่าทรัพยากรทางวัตถุไม่ได้มีมากพอจะบรรลุอุดมการณ์เพื่อความสมบูรณ์พูนสุขของทุกคนตามความใฝ่ฝัน ทางเลือกง่ายๆ ก็คือการกลับสู่หนทางปกครองแบบเดิมและใช้อภิสิทธิ์แบบเดิมที่มีอยู่คู่กัน
หมายเหตุ

ผมใช้เวลาวันละเล็กละน้อยนั่งอ่านหนังสือเล่มนี้ของคริส ฮาร์มันที่ซื้อมาได้ซักพัก จนถึงวันนี้อ่านมาถึงหน้า  ๕๘๒-๕๘๓ (จากจำนวน ๑๐๔๑ หน้า) พอดีเนื้อหาข้างต้นที่ผมคัดลอกมานี้เกี่ยวกับ "กบฏไต้ผิง" อ่านแล้วน่าสนใจและเกิดความคิดจะตั้งหัวข้อบล็อกนี้ขึ้นมา (จากกบฏไต้ผิงถึงกบฏไทย ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่) ก็แค่นั้น
 
คริส ฮาร์มัน

 
 

บทเรียนที่ควรรับฟัง

หากประชาชนทั้งประเทศ (ไม่เอาทหารที่ยึดอำนาจอะนะ) ตกลงเขียนรัฐธรรมนูญกันว่าให้วานรเป็นนายกฯ ได้ แล้วทุกคนเลือกวานรให้เป็นนายกฯ ก็ต้องยอมรับและว่าไปตามกติกาของรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ใช่จะมายอมรับการเขียนรัฐธรรมนูญจากการยึดอำนาจของทหาร

ถ้าให้ทหารยึดอำนาจแล้วเขียนรัฐธรรมนูญ ก็อย่าเรียกมันว่าประชาธิปไตยแบบสากล ถ้าจะเรียกมันว่าเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ (อยากรู้ก็คลิกดู) ละก็พอได้ 
ส่วนเมื่อได้วานรมาเป็นนายกฯ แล้ว เราในฐานะประชาชนก็ช่วยกันตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของวานร จะทุจริต จะคอร์รัปชั่น แต่งตั้งโยกย้ายใคร ก็เป็นหน้าที่ของคนทุกคนในฐานะสมาชิกของสังคม ก็การออกมาเดินขบวนประท้วงไล่รัฐบาลที่ออก พรบ.นิรโทษกรรมที่ผ่านมานี่ไม่ใช่เหรอที่เป็นกระบวนการประชาธิปไตย แล้วรัฐบาลก็มีสิทธิทำ 2 อย่าง คือ ไม่ยุบสภา ก็ลาออกซึ่งก็เป็นกลไกในระบอบประชาธิปไตย แต่ไม่ใช่จะมาสนับสนุนหรือยอมรับหรือรับได้ให้ทหารมายึดอำนาจ
เราไม่เห็นเหรอว่า เวลาทหารยึดอำนาจ ทหารทำอะไร? ฉีกรัฐธรรมนูญ ออกคำสั่งเป็นร้อยฉบับ ละเมิดสิทธิเสรีภาพอะไรตั้งมากมายแต่งตั้งโยกย้ายใครต่อใครก็ได้ ตั้งงบประมาณเองก็ได้ แล้วคุณทำอะไรได้บ้างกับพฤติกรรมของทหารเมื่อเทียบกับรัฐบาลจากการเลือกตั้ง? นั่งดูและชื่นชมอยู่เฉยๆ เหรอ?
ถ้าคุณยัง 'รับได้' โดยเชื่อว่า 'ถ้ามันจะทำให้ประเทศเดินหน้าไปในทิศทางทีดีขึ้น' แล้วคุณจะรู้อนาคตดังกล่าวได้อย่างไร? คุณฝากความหวังทั้งหมดไว้กับทหารงั้นเหรอ? แทนที่จะเป็นตัวคุณเอง? ประชาธิปไตยนะ เขาฝากความหวังไว้กับตัวเราเอง อำนาจก็อยู่ที่เรา ไม่ใช่เอาไปฝากไว้กับใคร
แล้วคุณรู้ไหมว่า ประชาธิปไตยของเรานี่มันเป็นแบบไหน? ผมเอาภาพมาให้คุณดูก็แล้วกัน ตลอดประวัติศาสตร์นับแต่ 2490 (ทำไมผมถึงบอกว่า 2490 อ่านได้ ที่นี่) หน้าตาประชาธิปไตยไทยที่ทหารอยากให้เป็นก็เป็นแบบในภาพนี่แหละ คุณอาจแย้งผมโดยยกเอาเหตุการณ์จากประสบการณ์ส่วนตัวมาสนับสนุนเหตุผลของคุณ แต่ผมเอาประสบการณ์ทั้งหมดของประเทศที่เรียบเรียงกันมาเป็นทศวรรษมาให้คุณอ่าน ที่นี่ (แต่คุณไม่คิดจะเปิดใจอ่านแม้แต่น้อย)
ลองคิดเอาเองก็แล้วกันว่า ระหว่างตำรากับประสบการณ์ส่วนตัวนิดๆ หน่อยๆ ของคุณบทเรียนแบบไหนน่ารับฟังกว่ากัน?

การเขียนบล็อก

หลายคนที่อ่านบล็อกของผม อาจนึกสงสัยในใจว่าผมเขียนบล็อกเพราะอะไร?

ผมเขียนบล็อกด้วยเหตุผลอย่างน้อย 4 ประการด้วยกัน ครั้งแรกสุดนั้นผมเขียนบล็อกของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เรียกกันว่า Share PSU เนื่องจากทีมงานจาก ม.อ.หาดใหญ่มาจัดอบรมการเขียนบล็อกให้คณาจารย์ ม.อ.วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี ผมได้เข้าอบรมและเห็นว่าน่าสนใจก็เลยเริ่มเขียนตั้งแต่นั้นมา อันนี้เป็นเป็นบล็อกแรกของผมครับ
http://share.psu.ac.th/blog/pisan-surat/1915 
ผมเขียนตั้งแต่ปี 2550 สำหรับเหตุผลการเขียนบล็อกของผมนะเหรอครับ
ประการแรก ผมต้องการเสนอข้อคิดและความเห็นทั้งที่เป็นของตัวเองและที่ตัวเองชอบซึ่งอ่านเจอมานำเสนอให้กับสาธารณชนได้อ่านอะไรที่ดีๆ อ่านเจอตรงไหนก็เอามาแชร์ มีประสบการณ์อะไรที่คิดว่าเป็นประโยชน์ก็เอามาแบ่งปัน เพราะเราเป็นสัตว์สังคมไงครับ แม้ว่าผมจะชอบชีวิตแบบปัจเจกอยู่มากก็ตาม แต่ก็ตระหนักดีว่าการอยู่กันเป็นสังคมนั้นได้ประโยชน์กว่ามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกัน ย่อมจะช่วยยกระดับคุณภาพของสังคมให้ดีขึ้นในท้ายที่สุด 
ประการที่สอง ผมเขียนบล็อกเพื่อจะได้ใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงสำหรับงานเขียนในเชิงวิชาการต่อไปในอนาคต การบันทึกอะไรไว้ขณะที่ความคิดยังสดใหม่อยู่ ย่อมดีกว่าการปล่อยให้ความคิดนั้นระเหยหายไปกับอากาศ กลับมาอ่านอีกครั้งก็จะได้รู้ว่า ณ ช่วงเวลานั้น ความคิดเราเป็นอย่างนั้น อนาคตต่อไปความคิดเราก็เปลี่ยนแปลงไปอีกเมื่อมีข้อมูลใหม่ๆ เข้ามา ทำให้ได้ทบทวนตัวเองทุกครั้งที่กลับมาอ่านสิ่งที่ตัวเองเขียนไว้ในอดีต การเขียนบล็อกทำให้การสืบค้นข้อมูลของตัวเองง่ายขึ้นอย่างมาก เพราะผมมักจะทำลิงก์หรือทำอ้างอิงทิ้งเอาไว้ด้วย และนี่คือประโยชน์ประการที่สอง
ประการที่สาม ช่วยพัฒนาฝีมือในการเขียนและสไตล์การเขียนของตัวเองให้ดีขึ้น ฝึกการนำเสนอเนื้อหาและการเรียบเรียงลำดับความคิด การฝึกเขียนบ่อยๆ ทำให้ความสามารถในการเขียนดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ผมพยายามที่จะเขียนโดยใช้ภาษาง่ายๆ ซึ่งทำได้ยาก บางครั้งก็ขยายความให้เยอะๆ ในแง่หนึ่งทำให้เป็นคนละเอียดขึ้น พยายามทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย การเขียนบล็อกมันดีตรงที่ไม่จำกัดจำนวนหน้า จะเขียนเยอะเท่าไหร่ก็ได้ เขียนจนหมดสิ่งที่จะเขียนและไม่รู้จะเขียนอะไรต่อไป ผมเชื่อว่าการเขียนบ่อยๆ ทำให้ภาษาเราดีวันดีคืน สอดคล้องกับวิชาชีพตัวเองนั่นคือนักวิชาการ
ประการที่สี่ ผมไม่ต้องแคร์สื่อ ไม่ต้องรอให้ใครมาสัมภาษณ์ ไม่ต้องส่งความคิดตัวเองไปตีพิมพ์ที่ไหน ทุกวันนี้ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศช่วยให้เราทุกคนไม่ต้องพึ่งสื่อกระแสหลักอีกต่อไป ทุกคนสามารถมีพื้นที่ของตัวเองที่จะสื่อสารกับสาธารณะได้ทุกที่และตลอดเวลา 24 ชั่วโมง หากเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ ทำให้อำนาจในการสื่อสารมาอยู่คนธรรมดาๆ อย่างเราๆ ท่านๆ มากขึ้นซึ่งในอดีตการจะทำเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมากๆ พูดง่ายๆ ว่า อำนาจของประชาชนในฐานะพลเมืองคนหนึ่งของสังคมมีเพิ่มมากขึ้น จะเขียนอะไรก็ได้ (แต่ก็ต้องมีความรับผิดชอบด้วย) โดยไม่ต้องผ่านกอง บก.หรือกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์หรือสำนักพิมพ์ไหน จะแชร์ของมูลตัวเองให้ใครดาวน์โหลดทั้งที่เป็นบทความหรือหนังสือทำเองในรูปของ PDF หรือไฟล์ DOC ก็ทำได้ง่ายมากๆ ด้วยเหตุดังนั้น คนธรรมดาแบบเราจึงมีอำนาจเท่ากับเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ใหญ่ๆ เพราะไม่ว่าเว็บไซต์ไหนๆ ต่างก็มีหน้าเว็บฯ 1 หน้า เท่าๆ กับบล็อกของเราซึ่งก็มี 1 หน้าเท่าๆ กัน หรือจะให้มีมากกว่านั้นก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้เช่นกัน 
เท่าที่นึกออกตอนนี้เกี่ยวกับเหตุผลของการเขียนบล็อกของผมที่สำคัญๆ ก็มี 4 ประการนี้แหละครับ ใครคิดว่าน่าสนใจและอยากเขียนบ้างก็ลองดูนะครับ

Sunday, July 20, 2014

เรียนรู้ที่จะคิด

 
นักเขียนและพิธีกรข่าวชั้นแนวหน้าของสหรัฐฯ

ผมเรียนชั้นประถม มัธยมต้นและมัธยมปลายที่โรงเรียนคาทีดรัล แอนด์ จอห์น คอนนอน     (the Cathedral and John Connon School) ที่อินเดีย ก่อนจะเดินทางมายังสหรัฐฯ ในฐานะนักศึกษาวัย 18 ปีในฤดูใบไม้ร่วงปี 1982 โรงเรียนที่อินเดียของผมเป็นสถานศึกษาชั้นเยี่ยมในเมืองมุมไบตอนที่ผมเรียนอยู่เมื่ออดีตกว่า 30 ปีที่แล้ว
ทางโรงเรียนมักให้ความสำคัญกับการท่องจำและการสอบเป็นประจำ ซึ่งเป็นวิธีการสอนที่มักถูกมองว่าเป็นแบบ "เอเชีย" แต่อันที่จริงแล้ว นี่เป็นการเรียนการสอนแบบเก่าของอังกฤษและยุโรปต่างหาก
ผมจำได้ว่าเคยท่องจำหนังสือเป็นตั้งๆ ไว้ทำข้อสอบ แต่พอสอบเสร็จก็ลืมมันทันที ทว่าเมื่อผมได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยของสหรัฐฯ ผมก็พบกับโลกที่แตกต่างออกไปราวฟ้ากับเหว
เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ แล้ว ระบบการศึกษาแบบอื่นสอนให้เด็กทำข้อสอบ แต่ระบบของอเมริกาสอนให้เด็กรู้จักคิดครับ

ทาร์มาน ชานมูการัตนาม (Tharman Shanmugaratnam) ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของสิงคโปร์ เคยอธิบายความแตกต่างระหว่างระบบการศึกษาของสิงคโปร์กับของสหรัฐฯ ไว้อย่างน่าคิดว่า
"ทั้งสองประเทศต่างก็เน้นเรื่องความรู้ความสามารถ โดยระบบของสหรัฐฯ เน้นเรื่องความสามารถ ส่วนของสิงคโปร์เน้นเรื่องความรู้และการสอน สิงคโปร์รู้วิธีสอนคนให้ทำข้อสอบ ส่วนสหรัฐฯ รู้วิธีใช้ความสามารถของคนให้เต็มประสิทธิภาพ ที่สำคัญที่สุด คือ สหรัฐอเมริกามีวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่นำไปสู่การท้าทายความเชื่อดั้งเดิมและผู้ที่มีอำนาจ ซึ่งเป็นสิ่งที่สิงคโปร์ต้องเรียนรู้ครับ"
และแน่นอน ประเทศไทยเองก็น่าที่จะเรียนรู้เช่นกัน 

รัฐธรรมนูญอเมริกัน


คำประกาศอิสรภาพนั้นมิได้เพียงแต่ประกาศความเป็นอิสระของเราจากอังกฤษเท่านั้น หากแต่ยังได้วางหลักการซึ่งบิดาของประเทศของเราเต็มใจที่จะให้สัญญาด้วยชีวิต ทรัพย์สินและเกียรติอันศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขาอีกด้วยว่า "มนุษย์ทุกคนถูกสร้างขึ้นมาอย่างเท่าเทียมกัน พวกเขาได้รับมอบสิทธิบางประการอันมิอาจเพิกถอนได้ และในบรรดาสิทธิดังกล่าวเหล่านี้ได้แก่ ชีวิต เสรีภาพและการเสาะแสวงหาความสุข" (We hold these truths to be self-evident, that all men are created equal, that they are endowed by their Creator with certain unalienable Rights, that among these are Life, Liberty and the pursuit of happiness.)
สงครามปฏิวัตินั้นทำให้ความเป็นอิสรภาพที่ประกาศไว้ในคำประกาศมั่นคง คงเหลือแต่อุดมคติแห่งเสรีภาพที่นักปฏิวัติจะต้องทำให้เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ ประวัติศาสตร์ได้บันทึกกรณีโศกสลดมากมายที่เป็นพยานยืนยันถึงคำเตือนของประธานาธิบดี มิลลาร์ด ฟิลมอร์ ที่ว่า "การปฏิวัตินั้นมิได้สถาปนาอิสรภาพขึ้นเสมอไป" แต่การปฏิวัติของเราทำได้ ส่วนใหญ่ก็เนื่องมาจากว่าไม่นานหลังจากนั้นก็ได้มีการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งนักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันผู้ยิ่งใหญ่ ยอร์จ แบนครอฟท์ เรียกว่า "การกระทำที่น่ายินดีที่สุดในประวัติศาสตร์ทางการเมืองของมนุษย์"
แดเนียล เว็บเสตอร์ ผู้เป็นหนึ่งในบรรดานักกฎหมายรัฐธรรมนูญและรัฐบุรุษผู้สามารถของเราเคยเขียนไว้ครั้งหนึ่งว่า 
"เราอาจจะกำลังโคลงเคลงอยู่ในมหาสมุทรที่เรามองไม่เห็นฝั่งหรือบางทีอาจจะไม่เห็นแม้แต่ตะวันและดวงดาวด้วย แต่ก็ยังมีแผนที่และเข็มทิศที่เราจะศึกษาและปรึกษาและปฏิบัติตามได้ แผนที่ดังกล่าวนี้คือรัฐธรรมนูญนั่นเอง" 
 

จดหมายถึงลูกสาวของเนห์รู


ชวาหระลาล เนห์รู (ค.ศ. ๑๘๘๙-๑๙๖๔) นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดียหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ เป็นผู้ที่มีความคิดลึกซึ้งและอ่านหนังสือมาแล้วมากมาย มีงานเขียนเกี่ยวกับความเป็นไปของโลกระหว่างที่ถูกคุมขังในเรือนจำ โดยเข้าๆ ออกๆ อยู่หลายครั้งระหว่างปี ค.ศ. ๑๙๓๐-๑๙๓๓
เนห์รูเขียนจดหมายจำนวนมากถึงลูกสาว โดยเขียนเล่าประวัติศาสตร์มนุษยชาติตั้งแต่ ๖,๐๐๐ ปีก่อนคริสตกาลจนถึงปัจจุบัน เนห์รูบรรยายรายละเอียดความรุ่งเรืองและตกต่ำของจักรวรรดิต่างๆ อธิบายเรื่องสงครามและการปฏิวัติ รวมถึงเล่าประวัติของกษัตริย์และนักประชาธิปไตยหลายคนโดยไม่ได้เข้าห้องสมุดเลยแม้แต่ครั้งเดียว 
จดหมายเหล่านี้ได้รับการรวบรวมและตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือ Glimpses of World History จนได้รับการยกย่องไปทั่วโลกเมื่อปี ๑๙๓๔ หนังสือพิมพ์ The New York Times บรรยายถึงหนังสือเล่มนี้ไว้ว่าเป็น "หนึ่งในหนังสือที่ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่เคยมีการตีพิมพ์กันมา" 
ใครสนใจ ดาวน์โหลดไปอ่านกันได้ ที่นี่
http://historydepartmentphilos.weebly.com/uploads/2/6/6/1/26612531/jawaharlal_nehru_glimpses_of_world_history.pdf 
อ่านประวัติเนห์รู เพิ่มเติมได้ที่นี่ 
http://socialitywisdom.blogspot.com/2007/03/blog-post_06.html 

Friday, July 18, 2014

อาชีพอาจารย์


หลายครั้งผมมานั่งคิด นอนคิดในประเด็นที่ว่า เวลาผมพูดอะไรออกไป แล้วต้องมีการปะทะความคิดกับผู้อื่นที่สนทนาด้วย โดยอีกฝ่ายมองว่า ทัศนะของผมดูถูกความรู้เขา หรือเขารู้สึกว่าเถียงกันแล้วตัวเองเสียท่า ก็จะอ้างว่า ผมอ้างความเหนือกว่าทางความรู้มากดข่มเขาหรือเอาแต่บ้าตำรา บ้าหนังสืออะไรประมาณนี้ อันที่จริงผมไม่เคยคิดดูถูกใคร แต่หากว่าสถานการณ์ทำให้อีกฝ่ายคิดไปเช่นนั้นก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้
อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ทำให้ผมมานั่งคิดต่อว่า ก็อาชีพผมเป็นอาจารย์ ผมปวารณาตัวว่าจะเป็นผู้ที่เรียนรู้ตลอดชีวิต (To live is to learn.) จึงต้องหมั่นแสวงหาความรู้ใหม่ๆ และข้อมูลใหม่ๆ อยู่เสมอ การแลกเปลี่ยนถกเถียงก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพอๆ กับการอ่าน การเขียน การแสดงความคิดเห็น ถกเถียงโดยอิงวิชาการความรู้ แล้วมันจะแปลกตรงไหนที่สนทนากันแล้วอีกฝ่ายซึ่งไม่ได้มีอาชีพเป็นอาจารย์ แต่เป็นคนทั่วๆ ไปที่ประกอบอาชีพอย่างอื่นจะเถียงเอาความรู้มาคัดง้างกันแล้วจะเสียท่าบ้าง

หากมีอาชีพเป็นอาจารย์ แล้วไม่มีความรู้ใดๆ มาแสดงให้เห็นว่าตัวเองมีความรู้ จะต่างอะไรกับการมีอาชีพเป็นช่างตัดผม แล้วตัดผมไม่ได้ มีอาชีพช่างซ่อมรถ แล้วซ่อมรถไม่ได้
มีอาชีพนักบิน แล้วขับเครื่องบินไม่ได้ มีอาชีพขายข้าวแกง แล้วทำข้าวแกงไม่เป็น 

พรมแดนความรู้


ตั้งแต่ผมได้มาศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ผมได้ตั้งปณิธานไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่า อะไรที่ผมได้เล่าเรียนศึกษาผมจะพยายามจัดทำในรูปของไฟล์ pdf (Portable Document Format) เพื่อการเผยแพร่ให้กับสาธารณชนในวงกว้าง โดยไม่สนใจว่าใครจะประเมินว่าข้อเขียนต่างๆ ที่ผมได้ทำไว้ว่าดีมากหรือดีน้อยแค่ไหนอย่างไร เจตนาของผมมุ่งหมายเพียงแต่อยากให้ใครที่ได้อ่านหรือดาวน์โหลดเอกสารไปอ่านได้ไปคิดต่อ ศึกษาต่อ และอยากให้ไฟล์ pdf ของผมทั้งหมดเป็นของฟรีกับคนทั่วไป และเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ง่ายๆ ไม่มีต้นทุนเรื่องเงินทองที่จะต้องจ่ายหรือซื้อหามา ให้เป็นสมบัติสาธารณะ
ผมตั้งใจให้ความรู้เหล่านี้เป็นของสาธารณชน เพราะโอกาสของคนที่ได้มาเรียนและหาความรู้ในระดับนี้ไม่ใช่จะมีกันได้ทุกคน แต่ความรู้เป็นเรื่องที่แสวงหากันได้ทุกคน หากเปิดใจที่จะเรียนรู้และแสวงหา
ด้วยเหตุดังนั้น ผมจึงขอนำความรู้เด่นๆ ทั้งหมดที่ผมได้เล่าเรียนมาจากนักวิชาการทั้งหลายของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มานำเสนอและทำลิงก์ให้ดาวน์โหลดง่ายๆ ไว้ ณ ทีนี้ (และโอกาสภายหน้าต่อไป ตั้งใจไว้ว่าจะจัดทำให้ดาวน์โหลดกันอีก)
(1) ความรู้เด็ดที่ผมได้เรียนมาจาก ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ 
https://www.academia.edu/7504775/Five_papers_presented_to_Prof._Anek_Laothamtas_Thammasat_University_2010_
 (2) ความรู้เด็ดที่ผมได้เรียนมาจาก ดร.จุลชีพ ชินวรรโณ 
https://www.academia.edu/1603367/Lecture_Notes_Introduction_to_International_Relations_2010 
 (3) ความรู้เด็ดที่ผมได้เรียนมาจาก ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์
https://www.academia.edu/3687786/The_New_Violence 
 (4) ความรู้ที่ผมได้เรียนมาจาก ดร.เกษียร เตชะพีระ
https://www.academia.edu/1905704/2010_Political_Science_Term_Paper_at_Thammasat_University_An_Analysis_of_Democracy_in_Danger_A_Comparative_Study_both_in_Philippines_and_Thailand 
 (5) ความรู้เด็ดที่ผมได้เรียนมาจาก ดร.ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร
https://www.academia.edu/3687762/Language_Analysis 
(6) ความรู้เด็ดที่ผมได้เรียนมาจาก ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี
https://www.academia.edu/6784126/_North_-_South_Korea_conflict_on_the_Korean_peninsula_in_2010 
(7) ความรู้เด็ดที่ผมได้เรียนมาจาก ดร.อัมพร ธำรงลักษณ์
https://www.academia.edu/3687724/Public_Governance_Qualifying_Examinations_at_TU_2012