Tuesday, July 22, 2014

บทเรียนที่ควรรับฟัง

หากประชาชนทั้งประเทศ (ไม่เอาทหารที่ยึดอำนาจอะนะ) ตกลงเขียนรัฐธรรมนูญกันว่าให้วานรเป็นนายกฯ ได้ แล้วทุกคนเลือกวานรให้เป็นนายกฯ ก็ต้องยอมรับและว่าไปตามกติกาของรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ใช่จะมายอมรับการเขียนรัฐธรรมนูญจากการยึดอำนาจของทหาร

ถ้าให้ทหารยึดอำนาจแล้วเขียนรัฐธรรมนูญ ก็อย่าเรียกมันว่าประชาธิปไตยแบบสากล ถ้าจะเรียกมันว่าเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ (อยากรู้ก็คลิกดู) ละก็พอได้ 
ส่วนเมื่อได้วานรมาเป็นนายกฯ แล้ว เราในฐานะประชาชนก็ช่วยกันตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของวานร จะทุจริต จะคอร์รัปชั่น แต่งตั้งโยกย้ายใคร ก็เป็นหน้าที่ของคนทุกคนในฐานะสมาชิกของสังคม ก็การออกมาเดินขบวนประท้วงไล่รัฐบาลที่ออก พรบ.นิรโทษกรรมที่ผ่านมานี่ไม่ใช่เหรอที่เป็นกระบวนการประชาธิปไตย แล้วรัฐบาลก็มีสิทธิทำ 2 อย่าง คือ ไม่ยุบสภา ก็ลาออกซึ่งก็เป็นกลไกในระบอบประชาธิปไตย แต่ไม่ใช่จะมาสนับสนุนหรือยอมรับหรือรับได้ให้ทหารมายึดอำนาจ
เราไม่เห็นเหรอว่า เวลาทหารยึดอำนาจ ทหารทำอะไร? ฉีกรัฐธรรมนูญ ออกคำสั่งเป็นร้อยฉบับ ละเมิดสิทธิเสรีภาพอะไรตั้งมากมายแต่งตั้งโยกย้ายใครต่อใครก็ได้ ตั้งงบประมาณเองก็ได้ แล้วคุณทำอะไรได้บ้างกับพฤติกรรมของทหารเมื่อเทียบกับรัฐบาลจากการเลือกตั้ง? นั่งดูและชื่นชมอยู่เฉยๆ เหรอ?
ถ้าคุณยัง 'รับได้' โดยเชื่อว่า 'ถ้ามันจะทำให้ประเทศเดินหน้าไปในทิศทางทีดีขึ้น' แล้วคุณจะรู้อนาคตดังกล่าวได้อย่างไร? คุณฝากความหวังทั้งหมดไว้กับทหารงั้นเหรอ? แทนที่จะเป็นตัวคุณเอง? ประชาธิปไตยนะ เขาฝากความหวังไว้กับตัวเราเอง อำนาจก็อยู่ที่เรา ไม่ใช่เอาไปฝากไว้กับใคร
แล้วคุณรู้ไหมว่า ประชาธิปไตยของเรานี่มันเป็นแบบไหน? ผมเอาภาพมาให้คุณดูก็แล้วกัน ตลอดประวัติศาสตร์นับแต่ 2490 (ทำไมผมถึงบอกว่า 2490 อ่านได้ ที่นี่) หน้าตาประชาธิปไตยไทยที่ทหารอยากให้เป็นก็เป็นแบบในภาพนี่แหละ คุณอาจแย้งผมโดยยกเอาเหตุการณ์จากประสบการณ์ส่วนตัวมาสนับสนุนเหตุผลของคุณ แต่ผมเอาประสบการณ์ทั้งหมดของประเทศที่เรียบเรียงกันมาเป็นทศวรรษมาให้คุณอ่าน ที่นี่ (แต่คุณไม่คิดจะเปิดใจอ่านแม้แต่น้อย)
ลองคิดเอาเองก็แล้วกันว่า ระหว่างตำรากับประสบการณ์ส่วนตัวนิดๆ หน่อยๆ ของคุณบทเรียนแบบไหนน่ารับฟังกว่ากัน?

No comments:

Post a Comment