Wednesday, July 2, 2014

อาเธอร์ โชเป็นเฮาเออร์


"คำที่ตายของนักเขียนที่มีชื่อ ยังมีคุณค่ายิ่งกว่าเสียงอันมีชีวิตจิตใจของปาฐกหัวขี้เลื่อยอย่างเปรียบกันไม่ได้" Arthur Schopenhauer (ค.ศ. ๑๗๘๘ - ๑๘๖๐)

วันนี้ผมได้หนังสือใหม่มาอีกเล่ม เป็นหนังสือแปล แปลโดยสมัคร บุราวาศ แปลจากเล่มนี้
 ต้นฉบับ

 ฉบับแปล

ได้เงินเดือนใหม่มาแล้ว ก็หาอาหารใส่สมองกันหน่อย ผมนั่งอ่านนักปรัชญาไปได้ ๔ คน เรียงตามลำดับ  ดังนีี้ (๑) สปิโนซา (๒) นีทเช่ (๓) แบร์กซอง และ (๔) โชเป็นเฮาเออร์ ใน ๔ คนนี้ น่าสนใจสุด ก็คนสุดท้ายนี่แหละครับ (ตามรูปบนสุดนั่นแหละครับ) 

โชเป็นเฮาเออร์กำพร้าพ่อตั้งแต่อายุ ๑๗ เขาไม่ชอบแม่ตัวเองและแม่ก็ไม่ชอบเขา เขาเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย เรื่องราวของชายคนนี้น่าสนใจ จึงอยากจะนำมาเล่าต่อ

- เขาเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเกิ๊ตติงเก็น ที่นั่นเขาศึกษาวิชาอย่างคนที่หิวกระหาย ทุกสิ่งทุกอย่างเปรียบเสมือนข้าวเปลือกเข้ามาป้อนโรงสีแห่งจิตใจที่เปิดรับของเขา อ่านหนังสือทุกแนวทั้งประวัติศาสตร์ ธรรมชาติประวัติ วิชาแร่ ฟิสิกส์ พฤกษศาสตร์ ปรัชญา ดาราศาสตร์ ชาติวงศ์วรรณนา ฯลฯ

- เมื่อดุษฎีนิพนธ์ระดับปริญญาเอก เรื่อง "รากฐาน ๔ ประการของเหตุผล" ได้รับการพิมพ์ออกเผยแพร่แล้ว แม่ของเขารู้สึกริษยาเขาอย่างบ้าคลั่ง เพราะเธอเองก็เป็นนักเขียนเหมือนกัน และรู้สึกเกลียดการแข่งขันจากบุตรไม่ว่าจะเป็นครั้งใด "รากฐาน ๔ ประการนั้น" เธอกล่าวอย่างเยาะเย้ย "ฟังดูคล้ายๆ กับหนังสือตำราปรุงยาของเภสัชกร" โชเป็นเฮาเออร์หันไปมองแม่ของเขา แล้วพูดขึ้นอย่างเรียบๆ ว่า "คุณแม่ครับ! ใครๆ เขาก็จะอ่านหนังสือเล่มนี้และจะอ่านตลอดไป แม้ว่ากองขยะจะไม่มีเศษหนังสือของคุณแม่อีกต่อไป"

- เขาไม่มีศรัทธาในมนุษย์ ไม่มีศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า "เชื่อมั่นในความกลัว ดีกว่าเชื่อในศรัทธา" เป็นสุภาษิตอันดุเดือดของเขา เขาไม่ยอมให้ช่างตัดผมโกนหนวดโกนเคราเขาเลย เมื่อได้ยินใครเอ่ยถึงโรคติดต่อแม้แต่น้อย เขาเป็นต้องทิ้งพรรคพวกหนีไปก่อน เขาเอาถ้วยทำด้วยหนังฟอกสำหรับใช้ดื่มน้ำติดตัวไปด้วย ไม่ว่าจะไปกินอาหารที่ไหน เพื่อริมฝีปากของเขาจะได้ไม่ต้องแตะแก้วของใคร และเขาเก็บกล้องยาสูบและกันซิก้าซ่อนไว้อย่างมิดชิด กลัวเพื่อนๆ จะเอาไปสูบและป้ายเชื้อโรคไว้ให้

- หนังสือของเขา "โลกในฐานะเป็นเจตจำนงและภาพแทน" เมื่อส่งหนังสือไปให้ผู้พิมพ์ เขาเขียนเอาไว้ว่า "ใครก็ดีที่ประกอบงานอมฤตอันยิ่งใหญ่นี้จะได้รับความระทมใจจากการต้อนรับของมหาชน หรือไม่ก็ต้องรวนเรไปโดยความเห็นของนักวิจารณ์ - น้อยไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าที่คนซึ่งมีสติดีในโรงพยาบาลบ้าได้ถูกรบกวนและถูกรุกรานจากคนบ้าในโรงพยาบาลนั้นเลย" ต่อมาอีก ๑๖ ปี โชเป็นเฮาเออร์ได้รับคำบอกเล่าจากผู้พิมพ์หนังสือของเขาว่า ตัวผู้พิมพ์จำต้องขายหนังสือส่วนใหญ่ไปฐานเป็นเศษกระดาษ

- ครั้งหนึ่งเขากล่าวแก่เพื่อนๆ อย่างกันเองว่า "ผมเกิดมาเพื่ออวดวุฒิปัญญาของตัวเองต่อมนุษยชาติทั้งปวง แต่แล้วก็จำต้องฟังเสียงฆ้องกลองประโคมชื่อเสียงของคนที่มีปัญญาต่ำและไม่มีความดีอะไร---ผมนี่แหละ คือ ผู้ยกม่านที่บังความจริงได้สูงกว่าใครๆ" เขาหยิ่ง อวดดี และไม่ยอมลดราวาศอกแก่อะไรเลย เพื่อนๆ ได้ขอร้องไม่ให้เขาทาสีโลกให้ดำจนเกินไป แล้วขอร้องว่า "ทาเพียงสีเทาๆ ก็พอแล้ว"

- โชเป็นเฮาเออร์เป็นคนขวานผ่าซากอย่างไม่มีพิธีรีตอง เขาเป็นคนกินจุและมีความหิวอย่างหนักอยู่เป็นนิตย์ ครั้งหนึ่งคนแปลกหน้าคนหนึ่งซึ่งนั่งคนละฟากโต๊ะกับเขา จ้องมองดูเขาด้วยความแปลกใจที่เห็นเขากินจุอย่างถึงขนาด โชเป็นเฮาเออร์ เอ่ยขึ้นอย่างเงียบๆ ว่า "ไงครับ ดูคุณจะแปลกใจมากที่เห็นผมกินจุ จริงครับ ผมกินมากกว่าคุณถึง ๓ เท่า แต่ผมก็มีสมอง ๓ เท่าของคุณเหมือนกัน"

- แล้วใครเล่าที่พอจะเป็นเพื่อนร่วมตายกับเขา "สานุศิษย์ติดสอยห้อยตาม" เขาหรือ? ไม่ใช่! เพื่อนสนิทของเขาคือพูเดิลสีขาว ซึ่งเขาตั้งชื่อว่า อาตมะ แปลว่า วิญญาณแห่งสากลโลก พูเดิลเล็กๆ ตัวนี้ได้กลายเป็นภาพทางพงศาวดารในถนนของเมืองแฟรงค์เฟิทเหมือนนายผู้มีชื่อเสียงของมันเหมือนกัน เด็กๆ ในละแวกบ้านนั้นเรียกมันว่า "โชเป็นเฮาเออร์หนุ่ม"




No comments:

Post a Comment