Thursday, July 31, 2014

ทบทวนการเมืองไทย

สำหรับคนชั้นกลางไส้กลวงที่ไม่ประสีประสาและไร้เดียงสาทางการเมืองซึ่งคงพอจะรู้แล้วว่าอะไรเป็นอะไรในการเมืองไทยปัจจุบัน ดูที่นี่
ผมขอถือโอกาสนี้ ทบทวนการเมืองไทยให้ฟังสักรอบ...
เริ่มต้นจากการที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอยหรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า "พ.ร.บ.เหมาเข่ง" ร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านสภาในวาระ 3 เมื่อ 04.24 น. ของวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 ด้วยคะแนน 310 - 0 เสียง สำหรับผู้ที่งดออกเสียง 4 คะแนน ประกอบด้วย (1) น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล (2) นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ (3) นายวรชัย เหมะ ผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.เดิม ก่อนถูกแก้ไขเพิ่มส่วนที่เป็นปัญหาเข้ามาในชั้นกรรมาธิการ และ (4) นพ.เหวง โตจิราการ เหตุการณ์ครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์วอล์กเอาต์ไปเมื่อร่างผ่านวาระ 2 ก่อนหน้าจะลงมติในวาระที่ 3
การผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว ฝ่ายต่างๆ ได้ทักท้วงกันอย่างเข้มเข้น แม้แต่คนเสื้อแดงเอง แต่แกนนำพรรคเพื่อไทย ไม่ฟังเสียง และประเมินสถานการณ์ผิดพลาดด้วยการเรียกประชุม ส.ส. สั่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.เต็มที่ ห้ามโหวตสวนและห้ามงดออกเสียง สุดท้าย ร่าง พ.ร.บ.นี้ไปพบจุดจบโดยวุฒิสภาโหวตคว่ำเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 และก่อนหน้านั้น ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้อนุมัติถอนร่าง พ.ร.บ. ทำนองเดียวกันอีก 6 ฉบับ ตามเสียงเรียกร้องในขณะนั้น แต่อะไรอะไรก็หยุดไม่อยู่แล้ว แม้รัฐบาลจะถอยกรูด เพราะนี้เป็นการ "รุกฆาต" ในกระดานทางการเมืองที่ฝ่ายพรรคเพื่อไทยเดินหมากผิด
การอนุมัติร่าง พ.ร.บ. กลายเป็นประเด็นการเมือง ที่ถูกขยายออกไปอย่างกว้างขวางกลายเป็นการชุมนุมขับไล่ระบอบทักษิณครั้งใหญ่ที่สุดอีกครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ภายหลังจากการชุมนุมที่นำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
วันที่ 15 พฤศจิกายน นายสุเทพ เทือกสุบรรณขึ้นเวทีราชดำเนิน ประกาศยกระดับการต่อสู้เป็นการขจัดระบอบทักษิณแบบถอนรากถอนโคนให้หมดไปจากแผ่นดินไทย ระหว่างการชุมนุมเกิดการปะทะขึ้นหลายต่อหลายครั้งทำให้มีผู้เสียชีวิต 28 รายและบาดเจ็บจำนวนมาก วันที่ 3 ธันวาคม 2556 นายสุเทพ ประกาศให้รัฐบาลคืนอำนาจให้ประชาชน ตามมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ และจะใช้มาตรา 7 ตั้งนายกรัฐมนตรีใหม่จากคนที่ไม่สังกัดพรรคการเมือง ให้มีสภาประชาชน และปฏิรูปการเมือง
วันที่ 9 ธันวาคม 2556 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้ทูลเกล้าฯ ถวายร่างพระราชกฤษฎีกายุบสภาและได้ทรงโปรดเกล้าฯ ในวันเดียวกัน กำหนดให้เลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 จากนั้นจึงเป็นบทบาทของ 5 เสือ กกต.ชุดใหม่ที่มีนายสมชัย ศรีสุทธิยากร เป็นฝ่ายจัดเลือกตั้ง สำหรับนายสมชัย เคยมีบทบาทในองค์กรพีเน็ต จับตาเลือกตั้ง มีประวัติร่วมบอยคอตการเลือกตั้งร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ในปี 2548 และเป็นพิธีกรบลูสกาย บทบาทของ กกต.ในยุคนี้ เป็นที่วิจารณ์กว้างขวางว่า ไม่เต็มใจทำหน้าที่และทำแต่เรื่องซึ่งไม่ใช่หน้าที่
ในวันเลือกตั้ง มีประชาชน 20 ล้านออกมาใช้สิทธิ แม้ฝ่ายต่อต้านขัดขวางทุกวิถีทาง แต่ท้ายสุด ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เพราะไม่ได้เลือกในวันเดียวกันอันเป็นคำวินิจฉัยที่ถูกวิจารณ์มากที่สุดและกระทบเกียรติภูมิของศาลรัฐธรรมนูญมากที่สุดอีกครั้งหนึ่ง
เวลาผ่านไป 6 เดือน การขับไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และรัฐบาลยังไม่ประสบผลสำเร็จ ค่าใช้จ่ายราคาแพงลิ่วในการขับไล่รัฐบาล (นายสุเทพ แจ้งภายหลังว่าประมาณ 1,400 ล้านบาท) ด้วยการสร้างภาพฝ่ายหนึ่งเป็นม็อบคนดี รักชาติและกู้ชาติ อีกฝ่ายเป็นคนเลว โกง ชั่วชาติและขี้ข้า ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นวาทกรรมและภาพมายาไว้กำจัดฝ่ายตรงข้าม โดยไม่ได้ตระหนักว่าทุกฝ่ายต่างก็มีดีมีชั่วอยู่ด้วยกันทั้งนั้น
นายสุเทพ ประกาศเผด็จศึกครั้งแล้วครั้งเล่า มาตรการชุดหลังในต้นเดือนพฤษภาคม คือ การไล่ล่าจับตัวรัฐมนตรี เพื่อบีบให้ ครม.รักษาการพ้นไป จะได้เกิดสุญญากาศ และนำไปสู่การตั้ง นายกรัฐมนตรีคนกลาง ขณะที่กลุ่ม นปช. ระดมคนเสื้อแดงมาชุมนุมที่ถนนอักษะ คุมเชิงกับม็อบของนายสุเทพ
ในที่สุด "พระเอกขี่ม้าขาว" ราวกับในหนังจักรๆ วงศ์ๆ ในสายตาของคนชั้นกลางบางจำพวกซึ่งนำโดย "กองทัพบก" ได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกในวันที่ 20 พฤษภาคม เรียกตัวกลุ่มต่างๆ 7 กลุ่ม ทั้งตัวแทนม็อบ กปปส. กลุ่ม นปช. รัฐบาล ฝ่ายค้าน เข้าเจรจาที่สโมสรทหารบกในวันที่ 21 พฤษภาคม แต่ยังตกลงกันไม่ได้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ได้มอบการบ้าน 5 ข้อให้ 7 ฝ่ายไปหาข้อสรุป แล้วมาประชุมต่อในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 อันเป็นแผนที่หลายคนทราบในเวลาต่อมาว่านี้คือ กลยุทธ์ "ขุดบ่อล่อปลา" ของกองทัพ
ในการเจรจาวันที่ 22 พฤษภาคม เมื่อ นายชัยเกษม นิติสิริ รักษาการ รมว.ยุติธรรม ยืนยันว่ารัฐบาลรักษาการจะไม่ลาออก พล.อ.ประยุทธ  ประกาศยึดอำนาจทันที และสั่งควบคุมตัวผู้เข้าร่วมประชุม
ประกาศของ คสช. ที่ออกมาหลังจากนั้น ได้เรียกตัวฝ่ายต่างๆ เข้ารายงานตัว และควบคุมตัวไว้ก่อนทยอยปล่อย (รวมถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) ปรากฏเป็นเรื่องราวเล่าขาน ของผู้ถูกเรียกตัวให้ได้อ่านกันทั่วไปในเว็บไซต์ต่างๆ
ขณะที่ในภาคเหนือ อีสาน มีการเรียกรายงานตัวแกนนำเสื้อแดง และพรรคเพื่อไทย รวมถึงการเข้าจับกุมแกนนำเสื้อแดงหลายคน
ขณะที่วันที่ 26 พฤษภาคมก็ได้มีพระบรมราชโอการโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
นับแต่นั้น เรื่องราวของการรัฐประหารยึดอำนาจอันเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอันจะขาดเสียไม่ได้ (necessary condition) สำหรับสังคมไทยและประชาธิปไตยแบบไทยๆ ก็ดำเนินไป  

หมายเหตุ สำหรับผู้ที่สนใจข้อเท็จจริงทางการเมืองของไทยโดยละเอียดในช่วง 203 วันก่อนที่จะมีการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 หาซื้อหนังสือเล่มนี้ที่จัดทำโดยกองบรรณาธิการมติชนมาอ่านเถอะครับ (อ่านคำแนะนำหนังสือได้ ที่นี่) และอย่าปิดหูปิดตาตัวเองไม่ยอมอ่านเพราะเหตุว่าเป็นสำนักพิมพ์มติชน อ่านเอาข้อมูลข้อเท็จจริงกันก่อน ท่านจะเชื่อหรือไม่ก็ย่อมเป็นสิทธิของผู้อ่านอยู่แล้ว แต่การไม่ยอมเปิดใจอ่านแล้วขังตัวเองอยู่ในกะลาของความไม่รู้ (อวิชชา) นี่ มันเป็นเรื่องที่น่าสมเพชยิ่งนัก



No comments:

Post a Comment