Tuesday, July 1, 2014

การปกครองในแบบอริสโตเติล


จากการได้อ่านหนังสือ ประชาธิปไตย ความรู้ฉบับพกพา หากยึดตามความคิดของอริสโตเติล ซึ่งแบ่งการปกครองออกเป็น ๒ ประเภท ๖ รูปแบบด้วยกัน ได้แก่
     ประเภทที่ ๑ เป็นประเภทที่ดี เป็นการปกครองที่ยึดผลประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก ได้แก่
                        ๑.๑ ราชาธิปไตย ปกครองโดยคนคนเดียว
                        ๑.๒ อภิชนาธิปไตย ปกครองโดยคณะบุคคลหรือคนจำนวนน้อย
                        ๑.๓ โพลิตี้ ปกครองโดยคนจำนวนมาก
     ประเภทที่ ๒ เป็นประเภทที่เลว เป็นการปกครองที่ยึดผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นหลัก ได้แก่
                        ๒.๑ ทรราชย์ ปกครองโดยคนคนเดียว
                        ๒.๒ คณาธิปไตย ปกครองโดยคณะบุคคลหรือคนจำนวนน้อย
                        ๒.๓ ประชาธิปไตย ปกครองโดยคนจำนวนมาก


     ในบรรดาการปกครองทั้ง ๖ รูปแบบดังกล่่าวข้างต้น สำหรับอริสโตเติลแล้ว หากในทางปฏิบัติต้องเลือกเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๓ รูปแบบของประเภทที่เลว (ประเภทที่ ๒ ได้แก่ ทรราชย์, คณาธิปไตย และประชาธิปไตย) อริสโตเติลยินดีเลือกประชาธิปไตย (ดูหนังสือในหน้าที่ ๕๙) เพราะมันเป็นระบอบการปกครองในประเภทที่เลว แต่ก็เป็นการปกครองที่จัดได้ว่าเลวน้อยที่สุดของประเภทที่ ๒

      ด้วยเหตุดังนั้น สำหรับอริสโตเติลแล้ว เขาเห็นว่า ประชาธิปไตยเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับพัฒนาไปสู่การปกครองที่ดี (โพลิตี้) แต่มันยังห่างไกลจากการเป็นเงื่อนไขที่เพียงพอสำหรับการปกครองที่ดี (หน้า ๒๐) อริสโตเติลจึงสรุปว่า การปกครองแบบโพลิตี้จำเป็นต้องมีคุณลักษณะแบบประชาธิปไตย แต่กระนั้น ประชาธิปไตยก็ไม่ใช่เงื่อนไขที่เพียงพอต่อความยุติธรรมและการปกครองที่ดี (หน้า ๖๔)

      ในปัจจุบันประเทศต่างๆ ต่างก็ใช้รูปแบบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย แต่ก็เป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทน (representative democracy) ไม่ใช่ประชาธิปไตยทางตรง (direct democracy) แม้ว่าประชาธิปไตยจะไม่ใช่การปกครองที่ดีที่สุดเหมือนอย่างโพลิตี้ แต่ก็เป็นการปกครองที่เลวน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับการปกครองในประเภทเดียวกัน (ประเภทที่ ๒) และเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นหรือขาดไม่ได้เพื่อพัฒนาไปสู่การปกครองที่ดี (โพลิตี้) โดยทั้ง ๒ รูปแบบต่างก็เชิดชูในความธรรมดาสามัญของประชาชนที่มีดีๆ ชั่วๆ ปะปนกันไป ไม่มีใครดีกว่าใคร โง่บ้าง ฉลาดบ้าง งี่เง่าบ้าง แต่ก็เชื่อในศักดิ์ศรีของคนธรรมดาๆ

     ข้อดีอีกอย่างก็คือ ในเมื่อปัจจุบันประเทศต่างๆ ต่างก็ใช้รูปแบบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย และเป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้ง ผู้ที่ขึ้นมาปกครองเป็นชนชั้นนำอาจเลวร้าย มีลักษณะอำนาจนิยม (เช่นสมัยทักษิณ สมัยอาร์โรโย เป็นต้น) แต่ระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนมีข้อดีตรงที่ไม่อนุญาตให้ตัวแทนที่ผ่านการเลือกตั้งมา ได้ขึ้นปกครองอยู่ในตำแหน่งได้นานๆ หรืออยู่ได้ตลอดไปซึ่งต่างจากรูปแบบการปกครองแบบอื่นๆ

     ประชาธิปไตยบางประเทศก็กำหนดกติกาในรัฐธรรมนูญให้ตัวแทนที่ขึ้นมาปกครองอยู่ได้สมัยเดียว (เช่นไม่เกิน ๔ ปี) บางประเทศก็กำหนดให้อยู่ได้ไม่เกิน ๒ สมัย (เช่น ไม่เกิน ๘ ปี) ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนสลับสับเปลี่ยนของชนชั้นนำหรือผู้ที่ขึ้นมาปกครอง

     ที่พูดมาทั้งหมด ก็แค่อยากให้คนอ่านบล็อกของผม กลับไปลองคิดดีๆ หากท่านยังเชียร์การรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองแบบประชาธิปไตย แล้วไปสนับสนุนเผด็จการทหารขึ้นมาปกครอง เพราะรูปแบบการปกครองประเภทหลังนี้ เขาจะปกครองนานแค่ไหนก็เรื่องของเขา และไม่ได้เป็นตัวแทนประชาชนแต่ประการใด พูดง่ายๆ ว่านี่เป็นปัญหาเรื่องความชอบธรรมทางการเมือง (political legitimacy) เลยทีเดียว เพราะไม่ได้อ้างอิงมติเสียงข้างมากจากการเลือกตั้งของประชาชนพลเมือง ส่วนจะเป็นรูปแบบการปกครองประเภทไหนของอริสโตเติลก็ลองกลับไปคิดกันเองดู


 

No comments:

Post a Comment