Saturday, August 23, 2014

ชีวิตกับการเดินทาง


ชีวิตกับการเดินทาง เราไม่รู้ว่าวันสุดท้ายของชีวิตจะไปจบที่ตรงไหน เมื่อไหร่ อย่างไร แม้เป้าหมายของการเดินทางจะสำคัญ แต่เรื่องราวในระหว่างการเดินทางก็สำคัญไม่แพ้กัน

เรื่องราวในชีวิตผมก็เหมือนกัน ชีวิตผมเกิดที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เข้าเรียนระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนเทศบาลวัดรามประดิษฐ์ จบแล้วก็มาเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนชาย หรือโรงเรียนปากพนัง จากนั้นพ่อก็วางแผนส่งผมให้มาเรียนระดับมัธยมปลายที่สงขลา โรงเรียนมหาวชิราวุธ ผมพักอาศัยอยู่กับน้า พักอาศัยอยู่ในซอยหลังโรงเรียนวรนารีเฉลิม พ่อผมทำอาชีพประมงอวนลาก ส่วนแม่นอกจากจะเป็นแม่บ้านเลี้ยงลูกๆ แล้ว ก็ยังเปิดร้านโชว์ห่วยค้าขายของชำ ขายข้าวตามสั่ง และคอหมูย่าง 
เรียนจบมัธยมปลาย ผมก็สอบเอ็นทรานต์โดยวิธีรับตรงได้ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีเมื่อปี 2539 เลือกวิชาเอกภาษาอังกฤษเป็นวิชาเอก ส่วนวิชาโทเป็นรัฐศาสตร์ แต่ใจรักรัฐศาสตร์มากกว่าวิชาเอก ประทับใจอาจารย์ผู้สอนคนหนึ่งคืออาจารย์ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ได้แรงบันดาลใจจนตัดสินใจเรียนต่อระดับปริญญาโทไปต่อทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์ที่ นิด้าหรือสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เข้ารุ่นปี 2544 
เพื่อนรุ่นเดียวกับผมมีอยู่ราว 70 กว่าคน แต่คนที่เลือกแผนทำวิทยานิพนธ์มีไม่ถึง 10 คน ผมเลือกอาจารย์พลภัทร บุราคมเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ทำวิทยานิพนธ์สาขาบริหารการเงินและการคลัง อาจารย์พลภัทร เป็นอีกคนที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผมในการเดินทางสายวิชาการ ผมเรียนไม่ทันจบก็เกิดเหตุการณ์สำคัญกับชีวิต (ผมเขียนเล่าไว้ในกิตติกรรมประกาศงานวิทยานิพนธ์ของผม ที่นี่

เรียนจบปริญญาโทพร้อมรางวัลวิทยานิพนธ์ระดับชมเชย ผมกลับมาบวชให้พ่อ และแม่ สึกออกมาก็หางานทำจากความช่วยเหลือของชนินทร์ ป้อมบุบผา เพื่อนรุ่นน้องที่เรียนด้วยกันเมื่อสมัยเรียนปริญญาโทที่นิด้า ทำให้ได้งานที่สถาบันพัฒนาสยามของ ศาสตราจารย์ พิเศษ ดร.สมชัย ฤชุพันธุ์ น้องชายของคุณมีชัย ฤชุพันธุ์ ทำงานอยู่ราว 2 ปี ได้สอบเป็นอาจารย์ราชภัฏภูเก็ต นอกจากสมัครสอบที่ราชภัฏภูเก็ตแล้ว ยังได้ส่งเอกสารสมัครสอบที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ด้วย แต่ก็มีปัญหาความอยุติธรรมบางประการจนกลายเป็นเรื่องเป็นราว (อ่านที่นี่)
ต่อมาปี 2550 ผมสมัครสอบเป็นอาจารย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี เพราะอยากจะกลับมาอยู่ใกล้บ้านให้มากขึ้นขึ้น สอนอยู่ที่สุราษฎร์ธานีได้ 3 ปี แบบไม่มีนักศึกษาและหลักสูตรทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์เป็นของตัวเอง ครบ 3 ปีก็ได้มีโอกาสไปสมัครเรียนต่อระดับปริญญาเอกที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ (อ่านที่นี่)
เรื่องราวของชีวิตกับการเดินทางนับแต่นั้นจนถึงวันนี้ยังไม่จบ แต่ระหว่างทางกลับมีเรื่องราวอะไรต่างๆ มากมาย ไว้มีโอกาสจะนำมาเล่าให้ฟังต่อนะครับ




Friday, August 22, 2014

ความรุนแรงไม่เลือกข้าง


ผมซื้อหนังสือเล่มนี้มาอ่านก็หลายวันแล้ว เป็นเรื่องราวข้อเท็จจริงและเหตุการณ์สำคัญๆ ทางการเมืองของไทยในช่วง 203 วันก่อนที่จะเกิดการรัฐประหารโดยกองทัพเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
ประเด็นหนึ่งที่ผมอ่านแล้วรู้สึกอยากจะเขียนบล็อกนี้ขึ้นมาก็คือ การต่อสู้ของกลุ่มหลักๆ ทั้ง 2 ฝ่าย (ฝ่าย กปปส. และฝ่าย นปช.) ต่างก็ใช้ความรุนแรงกันทั้งนั้น และหลายต่อหลายครั้ง ความซวยกลับตกไปที่ประชาชนคนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ อย่างกรณีเหตุสลดสะเทือนใจเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2557 คนร้ายใช้เครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม 79 ยิงระเบิดใส่บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีราชดำริ ถนนราชดำริ เขตปทุมวัน กทม. เป็นเหตุให้ ด.ช.กรวิชญ์ ยศอุบล (น้องเคน) อายุ 4 ขวบ และ ด.ญ.พัชราภร ยศอุบล (น้องเค้ก) อายุ 6 ขวบ เสียชีวิตทั้งคู่

และในหลายเหตุการณ์ ต่างฝ่าย (ทั้งฝ่าย กปปส. และฝ่าย นปช.) ต่างก็สูญเสียคนของตน อย่างวันที่ 23 เมษายน 2557 ไม้หนึ่ง ก.กุนที กวีเสื้อแดงถูกประกบยิงเสียชีวิตระหว่างอยู่บนรถกะบะ กลายเป็นข่าวครึกโครมขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ หรือกรณียิงนายขวัญชัย ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2557 โดยใช้อาวุธสงครามกราดยิงจากระยะไกล

หรืออย่างเหตุการณ์ที่นายสุทิน ธราทิน แกนนำกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ หรือ กปท. ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2557 ขณะนำมวลชนเคลื่อนขบวนเดินทางไปที่หน่วยเลือกตั้งวัดศรีเอี่ยม เนื่องจากมีรายงานว่ายังมีการเปิดให้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งล่วงหน้าได้อยู่

 ความรุนแรงไม่ได้เลือกข้าง ผู้กระทำความรุนแรงเกิดมาจากทั้ง 2 ฝ่าย การเลือกเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยไม่เห็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากอีกฝ่าย จึงเป็นเรื่องของอคติโดยแท้ มองไม่เห็นสภาพความเป็นจริงทางการเมืองของไทย ผมขอแนะนำว่าถ้าจะเลือกจุดยืนแล้ว เราไม่ควรยึดจุดยืนเข้าข้างฝ่ายใด ไม่ว่าจะเป็น กปปส. หรือ นปช. แต่ควรเลือกที่จะยืนอยู่บนจุดยืนที่ไม่เอาความรุนแรงต่างหาก ในเรื่องนี้เราไม่ควรที่จะถือหางฝ่าย กปปส. หรือฝ่าย นปช. โดยมองไม่เห็นความรุนแรงที่เกิดมาจากฝ่ายตนเลย


ชาวใต้ระกำ


ต้องยอมรับว่า การขับเคลื่อนของ "กปปส." ภายใต้การนำของ "พระสุเทพ เทือกสุบรรณ" มาราธอน 6 เดือน เป็นเหตุและปัจจัยสำคัญยิ่งที่ทำให้ "เครือข่ายทักษิณ" พังครืน และเป็นตัวจุดชนวนให้ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ผบ.ทบ. นำกำลังทหาร 3 เหล่าทัพออกมา "ปฏิวัติ-รัฐประหาร" ได้เป็นผลสำเร็จแบบง่ายดาย
"ม็อบ กปปส." ซึ่งว่ากันไปแล้ว ฐานกำลังหลักปฏิเสธไม่ได้ว่า ห้องเครื่องสำคัญคือ "คนปักษ์ใต้" ทั้ง 14 จังหวัด แต่ 3 เดือนแห่งการ "ปฏิวัติ" คนภาคใต้กลับไม่ได้รับอนิสงฆ์อะไรเลย นอกจาก "กำนันสุเทพ" ได้บวช เปลี่ยนสถานภาพใหม่ เป็น "พระสุเทพ ปภากโร" จากนั้นแล้วล้วน "ติดลบ"
ที่แลเห็นเป็นรูปธรรม จับต้องได้คือ ราคา "ยางพารา" พืชเศรษฐกิจหลักที่เปรียบประดุจกระดูกสันหลังของคนปักษ์ใต้ราคา เมื่อเดือนสิงหาคม 2556 ตกเหลือกิโลกรัมละ 80 บาท "ชาวใต้" มีการรวมตัวเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลในขณะนั้นมีการประกันให้ในราคากิโลกรัมละ 120 บาท
เมื่อไม่ได้ดังข้อเรียกร้อง พากันปิดถนนทั้งขึ้น-ทั้งล่องที่อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช เกิด "ชะอวดโมเดล" และขยายพื้นที่มาปิดถนนหน้า "โค.ออป" จังหวัดสุราษฎร์ธานี กับประจวบคีรีขันธ์
บัดนี้ เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2557 ราคายางพาราหล่นตุ๊บ อยู่ที่กิโลกรัมละ 50 บาท "คนใต้" มิมีใครกล้าเปิดประเด็นเรียกร้องให้ "คสช." ประกันราคายาง ทุกคนพากันกลัวกรงเล็บ "กฎอัยการศึก"
ขนาด "นักการเมือง" ที่ฝีปากจัดจ้าน สวนได้ทุกเม็ด พากันสวมบท "กบจำศีล" หายหัวไปหมด

 ที่มาของภาพ ที่นี่

คนใต้นอกจากจะไร้ความสุขกับราคายางตกแล้ว ข่าวคราว "เชิงลบ" ไหลออกมาไม่หยุด
ล่าสุด ภาพเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ผนึกกำลังกับทหาร-ตำรวจตระเวนชายแดน อาสาสมัครกว่าครึ่งพันเข้ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกหาดนพรัตน์ เกาะพีพี พร้อมกับลุยโค่นยางพารากว่า 300 ไร่ราพณาสูร
ไม่นับ การยกกำลังไปเข้าจัดระเบียบอย่างเข้มงวดบริเวณชายหาดที่จังหวัดภูเก็ต-กระบี่
  จรัญ พงษ์จีน, แหล่งข่าวไม่ขอเปิดเผย
_______________________________ 
แหล่งที่มาของข่าวล่าสุด ที่นี่

Tuesday, August 12, 2014

คัดเกรด

ข้อมูลการสัมภาษณ์ต่อไปนี้ทำเอาผมตกตะลึง ไม่คิดว่าตัวเลขที่ครูผู้ให้การสัมภาษณ์จะสูงมากถึง 80% สังคมของคนชั้นล่างๆ ในสังคม ไม่ได้เป็นสังคมที่สวยงามแบบที่คนชั้นกลางเขาจินตนาการหรอกนะครับ รากฐานปัญหาของสังคมไทยส่วนหนึ่งดูได้จากเรื่องเล่าต่อไปนี้

"...เด็กในระดับมัธยมศึกษาของที่นี่ โรงเรียนของเราก็ต้องทำใจหน่อย เพราะเด็กที่ได้มาก็จะเป็นเด็กที่คนละเกรดกับโรงเรียนในเมือง พูดง่ายๆ ก็คือ คนละเกรดกับของที่อื่น แล้วบริบทของโรงเรียนแห่งนี้นะคะ เด็กประมาณ 80% จะเป็นสภาพครอบครัวที่แตกแยก บางส่วนก็เป็นเด็กที่อยู่กับพ่อและกับแม่เลี้ยง หรือกับพ่อเลี้ยงอะไรอย่างนี้ เด็กนักเรียนจริงๆ ก็ไม่ได้เป็นคนที่นี่ พื้นฐานเด็กจริงๆ พ่อแม่ต้องมาทำงานเป็นลูกจ้าง มาจากต่างอำเภอ และพ่อแม่ก็ต้องมาทำงานเป็นลูกจ้างโรงงานบ้าง ทำงานบริษัทบ้าง ลักษณะครอบครัวเป็นครอบครัวแตกแยก บางคนก็อยู่กับปู่กับย่า เป็นเด็กโดนทิ้ง บริบทของเด็กที่นี่เป็นเด็กที่ครอบครัวแตกแยก เราจะมีความรู้สึกว่าเด็กจะเป็นเด็กที่เกเร ก้าวร้าว คือเรียกร้องความสนใจ ในระดับประถมศึกษายังไม่ค่อยจะมีปัญหา แต่ช่วงมัธยมศึกษาเด็กจะมีปัญหาเยอะ...

Wednesday, August 6, 2014

การโจรกรรมทางวิชาการ

สมัยตอนเรียนคอร์สเวิร์กหรือลงทะเบียนเรียนรายวิชาต่างๆ จำนวน 8 รายวิชา (รวม 24 หน่วยกิต) ก่อนที่ผมจะลงทะเบียนวิทยานิพนธ์ทั้งหมด 36 หน่วยกิตนั้น มีอยู่รายวิชาหนึ่งที่อาจารย์ผู้สอนได้สอนเรื่องการโจรกรรมทางวิชาการ หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า plagiarism 
การโจรกรรมทางวิชาการเป็นปัญหาใหญ่มากสำหรับสังคมเรา แต่เดิมผมเองก็ไม่ค่อยเข้าใจนัก อย่างการที่ไปลอกความคิดนักวิชาการท่านนั้นท่านนี้มา แล้วเราก็อ้างอิง ทำแบบนี้ก็ยังถือว่ายังไม่ถูก ถ้าจะให้ถูกต้อง ต้องใส่สิ่งที่ลอกไว้ในเครื่องหมายคำพูดทั้งหมด "..." ไม่ว่าเราจะลอกมาสั้นหรือยาว
แต่ถ้าเป็นกรณีที่เราไม่ได้คัดลอกคำพูดมา หากแต่เป็นการถอดข้อความมา หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า paraphrase ถึงแม้ว่าจะไม่ได้คัดลอกเนื้อความมาตรงๆ แต่เราก็ต้องอ้างอิงแหล่งที่มาที่เราไปถอดข้อความเขามาทุกครั้ง การไม่อ้างอิง แสดงว่ามีเจตนาที่จะโจรกรรมทางวิชาการ
มีหนังสือเล่มหนึ่ง เขียนโดย รองศาสตราจารย์ ดร.อาทิวรรณ โชติพฤกษ์ อาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือเล่มนั้น ชื่อว่า ก้าวสู่ความเป็นนักวิจัยมืออาชีพ (2553) ได้กล่าวถึงผู้ที่เข้าข่ายการโจรกรรมทางวิชาการว่า แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ไว้ดังนี้  (อาทิวรรณ โชติพฤกษ์, 2553, น. 108)

ประเภทแรก คือ ผู้ที่จงใจทำการโจรกรรมทางวิชาการ อันได้แก่
                   (1) ผู้ที่คัดลอกงานของผู้อื่นมาใช้ทั้งหมดและอ้างว่างานดังกล่าวเป็นงานของตนเอง (คนประเภทนี้เรียกว่า Ghost Writer)
                             (2) ผู้ที่คัดลอกงานส่วนสำคัญของผู้อื่นมาใช้โดยไม่ทำการอ้างอิง (คนประเภทนี้เรียกว่า Photocopier)
                   (3) ผู้ที่คัดลอกประเด็นสำคัญจากงานผู้อื่นมาดัดแปลงโดยไม่ทำการอ้างอิง (คนประเภทนี้เรียกว่า Poor Disguise)
                   (4) ผู้ที่คัดลอกงานของผู้อื่นจากหลายๆ แหล่งโดยไม่ทำการอ้างอิง และนำข้อมูลเหล่านั้นมาปรับให้เข้ากันได้ (คนประเภทนี้เรียกว่า Potluck Paper)
                   (5) ผู้ที่นำงานวิจัยในอดีตของตนเองมานำเสนอให้ดูเป็นงานวิจัยใหม่ (คนประเภทนี้เรียกว่า Self Stealer)
ประเภทที่สอง คือ ผู้ที่ทำการโจรกรรมทางวิชาการอย่างไม่ได้ตั้งใจ อันได้แก่
                   (1) ผู้ที่นำข้อมูลของผู้อื่นมาใช้แบบผิดๆ (คนประเภทนี้เรียกว่า Misinformer)
                   (2) ผู้ที่นำข้อมูลของคนอื่นมาใช้มากมายแต่ขาดความเป็นเอกลักษณ์ (originality) (คนประเภทนี้เรียกว่า Resourceful Citer)
 ดร.อาทิวรรณ กล่าวทิ้งท้ายเอาไว้ว่า ผู้ที่ทำการโจรกรรมทางวิชาการประเภทแรกถือว่าเป็นความผิดร้ายแรงยิ่งกว่าพวกประเภทที่สอง

 
 
 
 

 
 
 

Tuesday, August 5, 2014

การศึกษาสำหรับผู้ถูกครอบงำ


ผมตั้งชื่อบล็อคนี้ว่า การศึกษาสำหรับผู้ถูกครอบงำ เพราะต้องการจะให้สอดคล้องไปด้วยกันกับงานของ เปาโล แฟรร์ เจ้าของผลงานที่ชื่อว่า การศึกษาการสำหรับผู้ถูกกดขี่ (อ่านหนังสือเล่มดังกล่าวได้ ที่นี่)
เหตุที่ผมเปลี่ยนจากคำว่า ผู้ถูกกดขี่ --> มาเป็น ผู้ถูกครอบงำ ก็เพื่อที่จะให้เข้ากับบริบทสภาพแวดล้อมหรือสถานการณ์การปกครองของไทยที่เป็นอยู่ในเวลานี้ซึ่งบอกได้เลยว่า ไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่นี้คือรูปแบบการปกครองแบบเผด็จการทหาร ขณะที่ผู้คนจำนวนหนึ่งซึ่งพึงพอใจและสนับสนุนรูปแบบการปกครองดังกล่าวนี้ ด้วยหวังว่ารูปแบบการปกครองดังกล่าวจะแก้ปัญหาต่างๆ ที่สั่งสมมาตั้งแต่อดีตซึ่งก็คือ รูปแบบการปกครองประชาธิปไตยที่ลุ่มๆ ดอนๆ เพราะถูกบอนไซอยู่บ่อยครั้งโดยฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ ประชาธิปไตยแบบนี้ในภาษานักวิชาการมักเรียกว่า ประชาธิปไตยไร้เสรี บ้างก็เรียกว่าประชาธิปไตยแบบอำนาจนิยมดังกรณีสมัยทักษิณ เป็นต้น
สำหรับคนที่ชื่นชอบหรือสนับสนุนรูปแบบการปกครองแบบเผด็จการทหารที่เป็นอยู่นี้ บอกได้เลยว่า นี่คือการกดขี่รูปแบบหนึ่งซึ่งมาแบบเนียนๆ ในรูปของการครอบงำ (domination) โดยที่ตัวท่านเองนั่นแหละรู้สึกเต็มใจกับการครอบงำนี้ ทั้งๆ ที่เป็นรูปแบบการปกครองที่ละเมิดสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีของตัวท่านเองแท้ๆ แต่ท่านก็ยอมเพราะตัวท่านเองเป็นผลผลิตจากการครอบงำ
ครอบงำยังไง? นะเหรอครับ
รูปแบบการปกครองแบบเผด็จการโดยทหารนี้ เป็นแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็ง หากมองให้ออกก็ต้องย้อนกลับไปดูอย่างมีมิติทางประวัติศาสตร์ ผ่านกาลเวลาอันยาวนาน
ท่านคงจะทราบอยู่ว่า เผด็จการโดยทหารนี้เป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับรัฐบาลจากการเลือกตั้งแน่นอนว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้งย่อมอ้างอำนาจและความชอบธรรมจากเสียงข้างมากอันเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของประชาธิปไตย
แม้ว่าประชาธิปไตยโดยรัฐบาลจากการเลือกตั้งจะเลวร้ายยังไง ท่านก็คงรู้ดีว่ายังไง ยังไงมันก็คือประชาธิปไตย จริงไหม? แม้ว่าท่านจะอ้างได้ว่าก็นี่มันไม่ใช่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ขอบอกในทีนี้ไว้เลยนะครับ ไม่มีหรอกครับประชาธิปตง ธิปไตยที่สมบูรณ์อะไรนั่น มันไม่เคยมี เป็นแค่เพียงข้ออ้างเท่านั้นเอง
อย่างที่บอกว่า เผด็จการโดยทหารซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามกับฝั่งประชาธิปไตยที่ปกครองประเทศอยู่ทุกวันนี้ ไม่ใช่ไม่มีที่มา ที่มาและความชอบธรรมแบบเผด็จการนี้มาจากความคิดและแรงงสนับสนุนจากตัวท่านซึ่งเป็นผลผลิตของการครอบงำโดยการศึกษาของรัฐไทยมานานแสนนาน (ตัวผมเองก็เคยเป็น แต่พอหลุดจากการครอบงำดังกล่าว ผมก็ประกาศเลยว่า ผมเหมือนหอยไม่มีเปลือก)
ทีวีทุกช่องบอกได้เลยว่า หลักๆ แล้วต่างเป็นเครื่องมือของเผด็จการ เสียงเพลงชาติและเนื้อหาที่อยู่ในนั้นก็ถูกเขียนขึ้นโดยฝ่ายที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับประชาธิปไตย วันหยุดจำนวนมากในรอบ 365 วันนี่ก็ใช่ หนังสือพิมพ์จำนวนมากซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์กระแสหลักก็ใช่ สถาบันการศึกษา ชื่อถนน ชื่อสถานที่สำคัญๆ ต่างเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองและการครอบงำทั้งสิ้น นักวิชาการเรียกการครอบงำเหล่านี้ว่าเป็น "ระบอบของความจริง" (truth regime of truth) หรือ "การประกอบสร้างความจริงทางสังคม" (social construction of reality)
สมมติง่ายๆ ท่านลองเปิดฟังเสียงลำธารนี้ดู (ฟังสักพักก่อน ก่อนที่จะอ่านเนื้อหาที่ผมจะเขียนถัดไป)
เมื่อเราฟังเสียงและชมภาพ อำนาจของเสียงและภาพจะทำให้จิตใจเราดำดิ่งลงสู่ความสงบ นี่แค่เสียงและภาพธรรมชาติยังมีพลังได้ขนาดนี้
จากนั้นให้ท่านลองจินตนาการถึง เสียงและภาพที่ผ่านหน้าจอทีวีที่ท่านเปิดดูทุกวี่วัน โฆษณาเอย ละครที่เปิดอยู่ทุกเวลา หนังจักรๆ วงศ์ๆ ในตอนเช้าวันเสาร์ - อาทิตย์ เพลงชาติเช้า-เย็น ข่าวตอนค่ำ ภาพยนตร์ที่ลงทุนสร้างอย่างยิ่งใหญ่อลังการ เพลงประจำสถาบัน ของเหล่านี้มีพลังอำนาจต่อจิตใจมนุษย์อย่างเราๆ ท่านๆ อย่างมหาศาล และของเหล่านี้ไม่ได้สร้างขึ้นมาอย่างลอยๆ แต่มันถูกผลิตสร้างขึ้นมาอย่างมี "จุดมุ่งหมาย" ทำให้ "ตัวตน" (the self) ของท่านอยู่ฝากฝั่งใดฝากฝั่งหนึ่งในทางการเมือง (อ่านที่นี่)
หากนิยามว่า การศึกษาไม่ใช่การอบรมสั่งสอนและการให้ความรู้ที่จำกัดอยู่แต่ในห้องเรียน แต่ลองนิยามว่า การศึกษาปรากฏอยู่ได้ในทุกที่ตั้งแต่ทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ นโยบายของรัฐ แบบเรียน หลักสูตรต่างๆ เราๆ ท่านๆ ทั้งหมดก็ล้วนถูกครอบงำโดยการครอบงำนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เราสนับสนุนฝากฝั่งใดฝากฝั่งหนึ่งในทางการเมือง กระบวนการนี้กระทำกันมานาน มีลักษณะไม่ต่างไปจากก้อนภูเขาน้ำแข็งที่อยู่ใต้น้ำและไม่อาจมองเห็นได้ชัด
และแน่นอน สำหรับสังคมไทย การศึกษาแทบทั้งหมดที่เป็นกระแสหลักต่างล้วนเป็นเครื่องมือของเผด็จการมานานแล้ว และท่านก็เป็นผลผลิตของมันในฐานะผู้ที่ถูกครอบงำนั่นเอง 

Saturday, August 2, 2014

รัฐที่ใช้กำลังบังคับ


2 วันที่ผ่านมาผมใช้เวลาไปกับการอ่านหนังสือ 2 เล่ม เล่มแรก เป็น ายงานการวิจัยเรื่อง นิธิ เอียวศรีวงศ์ ใน/กับวิกฤตการเมืองไทย เขียนโดย รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นิธิ เอียวศรีวงศ์ ชื่อนี้สำหรับชนชั้นกลางทั่วๆ ไปที่ไม่ค่อยรู้เรื่องทางวิชาการอาจจะไม่รู้จัก แต่ถ้าบอกว่าเป็นคนๆ เดียวกันกับที่ หมอก้องหรือนายแพทย์ก้อง สรวิชย์ด่าอาจารย์นิธิ ในแบบคนชั้นกลางที่ไม่ประสีประสาทางการเมืองเอาไว้ว่า ตอนเด็กอาจารย์นิธิแม่คงไม่รัก-พ่อไม่อุ้ม (ดูรายละเอียดที่นี่) ก็พอจะนึกออก ผมแนะนำเลยนะครับว่า สำหรับคนชั้นกลางที่ไม่ค่อยอ่านหนังสือวิชาการและไม่ค่อยสนใจการเมืองอย่างจริงๆ จังๆ ในระดับลงลึกไปถึงรากเหง้าของสังคมไทยจริงๆ ควรอย่างยิ่งที่จะหารายงานวิจัยของอาจารย์ไชยันต์มาอ่าน แทนที่จะเอาเวลาไปดูหนังดูละครหรือเสพแต่ข่าวดารา พอถึงตอนแสดงความเห็นทางการเมือง ไกลสุดของความคิดก็ไปได้แค่หมอก้องเท่านั้น
................. 
เล่มที่สอง ที่ผมอ่านในช่วง 2 วันมานี้ก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความรู้ฉบับพกพา ของสำนักพิมพ์เปิดโลกหรือ Open Worlds สำนักพิมพ์นี้เขาผลิตหนังสือความรู้ฉบับพกพาออกมาเป็นจำนวนมาก ไล่ตั้งแต่ ประชาธิปไตย ญี่ปุ่นสมัยใหม่ จีนสมัยใหม่ คานธี เนลสัน แมนเดลา โลกาภิวัตน์ ความเป็นส่วนตัว สถาปัตยกรรม ลินคอล์น ศิลปะสมัยใหม่ ทุนนิยม กฎหมย สถิติ ฯลฯ (ดูรายละเอียดที่นี่)

ด้วยความที่สนใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ดังจะเห็นได้จากเขียนอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ตอนเรียนคอร์สเวิร์กระดับ ป.เอก ไว้ 2 ชิ้น (ดาวน์โหลดได้ที่นี่ ชิ้นที่ 1 และ ชิ้นที่ 2) ผมก็เลยตัดสินใจซื้อ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความรู้ฉบับพกพามานั่งอ่านนอนอ่านจนจบเล่มราวกับคนติดยาเสพติดยังไงยังงั้น
มีอยู่เรื่องหนึ่งอาจแล้วก็ติดใจ ก็เลยอยากจะคัดลอกมาให้ได้อ่านกัน สำหรับคนชั้นกลางที่ไม่ค่อยประสีประสาในทางการเมือง Paul Wikinson ผู้เขียน เขียนหัวข้อหนึ่งไว้อย่างน่าสนใจ นั่นคือ "ลักษณะสำคัญของรัฐที่ใช้กำลังบังคับ" ส่วน กษิร ชีพเป็นสุข ผู้แปลก็แปลไว้อย่างน่าอ่านเพราะเนื้อหาส่วนนี้มันเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมืองของไทยไม่มากก็น้อย อ่านกันเองก็แล้วกันนะครับ
ลักษณะสำคัญของรัฐที่ใช้กำลังบังคับ 
อะไรคือคุณสมบัติสำคัญของรัฐที่ใช้กำลังบังคับ? ไม่น่าแปลกใจเลยที่โดยรวมแล้วรัฐเหล่านี้จะขัดแย้งกับคุณลักษณะหลักๆ ของรัฐที่เป็นเสรีประชาธิปไตย ในขณะที่รัฐกลุ่มหลังได้อำนาจโดยความยินยอมของผู้ถูกปกครอง นั่นคือ ผ่านการเลือกตั้งเสรีที่มีขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ระบอบการปกครองที่ใช้กำลังบังคับโดยทั่วไปจะได้อำนาจจาก การรัฐประหาร (coup) การปฏิวัติ หรือการก่อจลาจลที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งมักได้รับการสนับสนุนจากประชาชนส่วนน้อย และมักใช้การโจมตีข่มขวัญพลเมืองเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการยึดอำนาจ เมื่อได้อำนาจมาแล้ว รัฐที่ใช้กำลังบังคับก็จะดำเนินการเต็มที่อย่างแทบจะเป็นไปตามสัญชาตญาณในการใช้ความรุนแรงหรือสร้างความกลัวเพื่อข่มขู่และกดทับผู้ใดก็ตามที่อาจกลายเป็นภัยคุกคามอำนาจตนถึงแม้ว่าภัยคุกคามหรือผู้ไม่เห็นด้วยกับตนนั้นจะมีอยู่แต่ในจินตนาการมากกว่าที่จะมีตัวตนจริงๆ ก็ตาม
เมื่อควบคุมกลไกรัฐรวมทั้งทหารและตำรวจได้แล้ว รัฐที่ใช้กำลังบังคับมักถือสิทธิกุมอำนาจไว้กับตัวเองและใช้ทุกวิธีเท่าที่ทำได้เพื่อรักษาการผูกขาดอำนาจเอาไว้ กล่าวอีกอย่างคือรัฐจะยอมรับความเป็นเผด็จการและใช้อำนาจอย่างไร้ความปรานีโดยสิ้นเชิง แม้รัฐประเภทนี้จะพยายามใช้ศัพท์แสงที่สื่อถึงความชอบธรรมและความชอบด้วยกฎหมายอยู่ไม่ขาด แต่ก็ไม่มีหลักนิติธรรมอย่างที่รู้จักกันในประเทศที่เสรีประชาธิปไตยทำงานได้ดี ไม่มีข้อจำกัดในรัฐธรรมนูญหรือการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจใดๆ สามารถจำกัดอำนาจของรัฐที่ใช้กำลังบังคับ เพราะรัฐแบบนี้มองว่าตนเองอยู่เหนือกฎหมาย กฎหมายก็คืออะไรก็ตามที่รัฐจะตราเมื่อใดก็ได้ ไม่มีตุลาการอิสระ พวกที่ประกาศใช้ "กฎหมาย" ในระบอบเผด็จการก็คือตัวแทนที่มีชีวิตของระบอบนั้น ส่วนหน่วยงานที่คนเหล่านั้นเรียกว่าศาลก็ไม่ต่างอะไรจากการล้อเลียนกระบวนการยุติธรรม การฆ่าตัดตอน การทรมาน การเนรเทศ และกระทั่งการสังหารหมู่ล้วนเกิดขึ้นได้ภายใต้การสั่งการจากระบอบเผด็จการ ซึ่งแท้จริงแล้วก็เป็นผู้กุมอำนาจในระบอบเองที่คอยบัญชาให้มีการทำเรื่องเลวร้ายเหล่านั้น
หมายเหตุ
ข้อความทั้งหมดคัดลอกมาจากหน้า 70-71  
สำหรับกรณีสังคมไทย รัฐใช้กำลังบังคับยังไง? อ่านกันได้ ที่นี่