Wednesday, August 6, 2014

การโจรกรรมทางวิชาการ

สมัยตอนเรียนคอร์สเวิร์กหรือลงทะเบียนเรียนรายวิชาต่างๆ จำนวน 8 รายวิชา (รวม 24 หน่วยกิต) ก่อนที่ผมจะลงทะเบียนวิทยานิพนธ์ทั้งหมด 36 หน่วยกิตนั้น มีอยู่รายวิชาหนึ่งที่อาจารย์ผู้สอนได้สอนเรื่องการโจรกรรมทางวิชาการ หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า plagiarism 
การโจรกรรมทางวิชาการเป็นปัญหาใหญ่มากสำหรับสังคมเรา แต่เดิมผมเองก็ไม่ค่อยเข้าใจนัก อย่างการที่ไปลอกความคิดนักวิชาการท่านนั้นท่านนี้มา แล้วเราก็อ้างอิง ทำแบบนี้ก็ยังถือว่ายังไม่ถูก ถ้าจะให้ถูกต้อง ต้องใส่สิ่งที่ลอกไว้ในเครื่องหมายคำพูดทั้งหมด "..." ไม่ว่าเราจะลอกมาสั้นหรือยาว
แต่ถ้าเป็นกรณีที่เราไม่ได้คัดลอกคำพูดมา หากแต่เป็นการถอดข้อความมา หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า paraphrase ถึงแม้ว่าจะไม่ได้คัดลอกเนื้อความมาตรงๆ แต่เราก็ต้องอ้างอิงแหล่งที่มาที่เราไปถอดข้อความเขามาทุกครั้ง การไม่อ้างอิง แสดงว่ามีเจตนาที่จะโจรกรรมทางวิชาการ
มีหนังสือเล่มหนึ่ง เขียนโดย รองศาสตราจารย์ ดร.อาทิวรรณ โชติพฤกษ์ อาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือเล่มนั้น ชื่อว่า ก้าวสู่ความเป็นนักวิจัยมืออาชีพ (2553) ได้กล่าวถึงผู้ที่เข้าข่ายการโจรกรรมทางวิชาการว่า แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ไว้ดังนี้  (อาทิวรรณ โชติพฤกษ์, 2553, น. 108)

ประเภทแรก คือ ผู้ที่จงใจทำการโจรกรรมทางวิชาการ อันได้แก่
                   (1) ผู้ที่คัดลอกงานของผู้อื่นมาใช้ทั้งหมดและอ้างว่างานดังกล่าวเป็นงานของตนเอง (คนประเภทนี้เรียกว่า Ghost Writer)
                             (2) ผู้ที่คัดลอกงานส่วนสำคัญของผู้อื่นมาใช้โดยไม่ทำการอ้างอิง (คนประเภทนี้เรียกว่า Photocopier)
                   (3) ผู้ที่คัดลอกประเด็นสำคัญจากงานผู้อื่นมาดัดแปลงโดยไม่ทำการอ้างอิง (คนประเภทนี้เรียกว่า Poor Disguise)
                   (4) ผู้ที่คัดลอกงานของผู้อื่นจากหลายๆ แหล่งโดยไม่ทำการอ้างอิง และนำข้อมูลเหล่านั้นมาปรับให้เข้ากันได้ (คนประเภทนี้เรียกว่า Potluck Paper)
                   (5) ผู้ที่นำงานวิจัยในอดีตของตนเองมานำเสนอให้ดูเป็นงานวิจัยใหม่ (คนประเภทนี้เรียกว่า Self Stealer)
ประเภทที่สอง คือ ผู้ที่ทำการโจรกรรมทางวิชาการอย่างไม่ได้ตั้งใจ อันได้แก่
                   (1) ผู้ที่นำข้อมูลของผู้อื่นมาใช้แบบผิดๆ (คนประเภทนี้เรียกว่า Misinformer)
                   (2) ผู้ที่นำข้อมูลของคนอื่นมาใช้มากมายแต่ขาดความเป็นเอกลักษณ์ (originality) (คนประเภทนี้เรียกว่า Resourceful Citer)
 ดร.อาทิวรรณ กล่าวทิ้งท้ายเอาไว้ว่า ผู้ที่ทำการโจรกรรมทางวิชาการประเภทแรกถือว่าเป็นความผิดร้ายแรงยิ่งกว่าพวกประเภทที่สอง

 
 
 
 

 
 
 

No comments:

Post a Comment