Saturday, August 2, 2014

รัฐที่ใช้กำลังบังคับ


2 วันที่ผ่านมาผมใช้เวลาไปกับการอ่านหนังสือ 2 เล่ม เล่มแรก เป็น ายงานการวิจัยเรื่อง นิธิ เอียวศรีวงศ์ ใน/กับวิกฤตการเมืองไทย เขียนโดย รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นิธิ เอียวศรีวงศ์ ชื่อนี้สำหรับชนชั้นกลางทั่วๆ ไปที่ไม่ค่อยรู้เรื่องทางวิชาการอาจจะไม่รู้จัก แต่ถ้าบอกว่าเป็นคนๆ เดียวกันกับที่ หมอก้องหรือนายแพทย์ก้อง สรวิชย์ด่าอาจารย์นิธิ ในแบบคนชั้นกลางที่ไม่ประสีประสาทางการเมืองเอาไว้ว่า ตอนเด็กอาจารย์นิธิแม่คงไม่รัก-พ่อไม่อุ้ม (ดูรายละเอียดที่นี่) ก็พอจะนึกออก ผมแนะนำเลยนะครับว่า สำหรับคนชั้นกลางที่ไม่ค่อยอ่านหนังสือวิชาการและไม่ค่อยสนใจการเมืองอย่างจริงๆ จังๆ ในระดับลงลึกไปถึงรากเหง้าของสังคมไทยจริงๆ ควรอย่างยิ่งที่จะหารายงานวิจัยของอาจารย์ไชยันต์มาอ่าน แทนที่จะเอาเวลาไปดูหนังดูละครหรือเสพแต่ข่าวดารา พอถึงตอนแสดงความเห็นทางการเมือง ไกลสุดของความคิดก็ไปได้แค่หมอก้องเท่านั้น
................. 
เล่มที่สอง ที่ผมอ่านในช่วง 2 วันมานี้ก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความรู้ฉบับพกพา ของสำนักพิมพ์เปิดโลกหรือ Open Worlds สำนักพิมพ์นี้เขาผลิตหนังสือความรู้ฉบับพกพาออกมาเป็นจำนวนมาก ไล่ตั้งแต่ ประชาธิปไตย ญี่ปุ่นสมัยใหม่ จีนสมัยใหม่ คานธี เนลสัน แมนเดลา โลกาภิวัตน์ ความเป็นส่วนตัว สถาปัตยกรรม ลินคอล์น ศิลปะสมัยใหม่ ทุนนิยม กฎหมย สถิติ ฯลฯ (ดูรายละเอียดที่นี่)

ด้วยความที่สนใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ดังจะเห็นได้จากเขียนอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ตอนเรียนคอร์สเวิร์กระดับ ป.เอก ไว้ 2 ชิ้น (ดาวน์โหลดได้ที่นี่ ชิ้นที่ 1 และ ชิ้นที่ 2) ผมก็เลยตัดสินใจซื้อ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความรู้ฉบับพกพามานั่งอ่านนอนอ่านจนจบเล่มราวกับคนติดยาเสพติดยังไงยังงั้น
มีอยู่เรื่องหนึ่งอาจแล้วก็ติดใจ ก็เลยอยากจะคัดลอกมาให้ได้อ่านกัน สำหรับคนชั้นกลางที่ไม่ค่อยประสีประสาในทางการเมือง Paul Wikinson ผู้เขียน เขียนหัวข้อหนึ่งไว้อย่างน่าสนใจ นั่นคือ "ลักษณะสำคัญของรัฐที่ใช้กำลังบังคับ" ส่วน กษิร ชีพเป็นสุข ผู้แปลก็แปลไว้อย่างน่าอ่านเพราะเนื้อหาส่วนนี้มันเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมืองของไทยไม่มากก็น้อย อ่านกันเองก็แล้วกันนะครับ
ลักษณะสำคัญของรัฐที่ใช้กำลังบังคับ 
อะไรคือคุณสมบัติสำคัญของรัฐที่ใช้กำลังบังคับ? ไม่น่าแปลกใจเลยที่โดยรวมแล้วรัฐเหล่านี้จะขัดแย้งกับคุณลักษณะหลักๆ ของรัฐที่เป็นเสรีประชาธิปไตย ในขณะที่รัฐกลุ่มหลังได้อำนาจโดยความยินยอมของผู้ถูกปกครอง นั่นคือ ผ่านการเลือกตั้งเสรีที่มีขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ระบอบการปกครองที่ใช้กำลังบังคับโดยทั่วไปจะได้อำนาจจาก การรัฐประหาร (coup) การปฏิวัติ หรือการก่อจลาจลที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งมักได้รับการสนับสนุนจากประชาชนส่วนน้อย และมักใช้การโจมตีข่มขวัญพลเมืองเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการยึดอำนาจ เมื่อได้อำนาจมาแล้ว รัฐที่ใช้กำลังบังคับก็จะดำเนินการเต็มที่อย่างแทบจะเป็นไปตามสัญชาตญาณในการใช้ความรุนแรงหรือสร้างความกลัวเพื่อข่มขู่และกดทับผู้ใดก็ตามที่อาจกลายเป็นภัยคุกคามอำนาจตนถึงแม้ว่าภัยคุกคามหรือผู้ไม่เห็นด้วยกับตนนั้นจะมีอยู่แต่ในจินตนาการมากกว่าที่จะมีตัวตนจริงๆ ก็ตาม
เมื่อควบคุมกลไกรัฐรวมทั้งทหารและตำรวจได้แล้ว รัฐที่ใช้กำลังบังคับมักถือสิทธิกุมอำนาจไว้กับตัวเองและใช้ทุกวิธีเท่าที่ทำได้เพื่อรักษาการผูกขาดอำนาจเอาไว้ กล่าวอีกอย่างคือรัฐจะยอมรับความเป็นเผด็จการและใช้อำนาจอย่างไร้ความปรานีโดยสิ้นเชิง แม้รัฐประเภทนี้จะพยายามใช้ศัพท์แสงที่สื่อถึงความชอบธรรมและความชอบด้วยกฎหมายอยู่ไม่ขาด แต่ก็ไม่มีหลักนิติธรรมอย่างที่รู้จักกันในประเทศที่เสรีประชาธิปไตยทำงานได้ดี ไม่มีข้อจำกัดในรัฐธรรมนูญหรือการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจใดๆ สามารถจำกัดอำนาจของรัฐที่ใช้กำลังบังคับ เพราะรัฐแบบนี้มองว่าตนเองอยู่เหนือกฎหมาย กฎหมายก็คืออะไรก็ตามที่รัฐจะตราเมื่อใดก็ได้ ไม่มีตุลาการอิสระ พวกที่ประกาศใช้ "กฎหมาย" ในระบอบเผด็จการก็คือตัวแทนที่มีชีวิตของระบอบนั้น ส่วนหน่วยงานที่คนเหล่านั้นเรียกว่าศาลก็ไม่ต่างอะไรจากการล้อเลียนกระบวนการยุติธรรม การฆ่าตัดตอน การทรมาน การเนรเทศ และกระทั่งการสังหารหมู่ล้วนเกิดขึ้นได้ภายใต้การสั่งการจากระบอบเผด็จการ ซึ่งแท้จริงแล้วก็เป็นผู้กุมอำนาจในระบอบเองที่คอยบัญชาให้มีการทำเรื่องเลวร้ายเหล่านั้น
หมายเหตุ
ข้อความทั้งหมดคัดลอกมาจากหน้า 70-71  
สำหรับกรณีสังคมไทย รัฐใช้กำลังบังคับยังไง? อ่านกันได้ ที่นี่

No comments:

Post a Comment