Wednesday, July 23, 2014

การจดจ่อ


ตื่นมาแต่เช้า ผมก็นั่งอ่านทบทวนหนังสือ ทำน้อยให้ได้มาก ของ Leo Babauta เป็นรอบที่ ๓ แล้ว Babauta ให้ความสำคัญกับการจดจ่อ เป็นอย่างมาก ทั้ง (๑) การจดจ่อกับเป้าหมาย (๒) จดจ่อกับปัจจุบัน (๓) จดจ่อกับงานที่อยู่ตรงหน้า และ (๓) จดจ่อกับความคิดเชิงบวก พลังของการจดจ่อสำคัญกว่าเรื่องใดๆ ทั้งหมด เพราะอะไรนะเหรอครับ? Babauta บอกว่า
เพราะในยุคเทคโนโลยีอย่างในปัจจุบัน ข้อมูลมากมายไหลบ่าเข้ามาและต่างเรียกร้องเวลาจากเรานั่นเอง
การจดจ่อก็คงเหมือนกับการมีสติซึ่งก่อให้เกิดสมาธิ สติมาปัญญาก็เกิด (wisdom of hindsight) นั่นแหละครับ Batauta จึงแนะนำให้ทำงานที่ละอย่างและพยายามทำให้เรียบง่ายที่สุดเท่าที่จะทำได้ด้วยการจดจ่อกับแค่งานเดียวด้วยการสร้างข้อจำกัดและเลือกแต่สิ่งสำคัญจริงๆ
การสร้างข้อจำกัดทำได้ง่ายๆ เช่น กำหนดระยะเวลาของการทำงาน เช่น จะทำงานชิ้นนี้ตั้งแต่เวลา 08.00 - 09.00 น. หรืองานชิ้นนี้ต้องแล้วเสร็จใน 3 วัน โดยเอางานที่สำคัญต่อเป้าหมายของเราจริงๆ ขึ้นมาทำก่อนงานอื่นๆ 
Babauta เสนอวิธีทำงานที่ละอย่างไว้ดังต่อไปนี้ (หน้า ๔๒-๔๓ ของหนังสือทำน้อยให้ได้มาก)  
 ๑) ทำงานที่สำคัญที่สุดเป็นอย่างแรกในตอนเช้า ถ้าคุณทำงานสำคัญเสร็จ ๒-๓ อย่างในช่วงเช้า เวลาที่เหลือในวันนั้นก็ถือเป็นกำไร
๒) ถ้าอยากทำงานให้เสร็จตามกำหนด จงกำจัดสิ่งรบกวนทุกอย่าง ถ้าเป็นไปได้อย่าเปิดอีเมล เฟสบุ๊ค หรือแม้กระทั่งอินเทอร์เน็ต ปิดโทรศัพท์มือถือ พยายามไม่รับโทรศัพท์ จดจ่อกับงานนั้นและพยายามทำให้เสร็จโดยไม่กังวลถึงสิ่งอื่น
๓) ถ้าคุณนึกอยากทำงานอื่นขึ้นมา อยากเปิดเฟสบุ๊ค อยากเปิดอีเมล อย่าเข้าเว็บไซต์ จงห้ามใจตัวเองไว้ ชะลอความอยากของตัวเองไว้ก่อน แล้วกลับไปทำงานที่อยู่ตรงหน้า
๔) หากมีงานอื่นแทรก ให้จดลงสมุดเล่มเล็กๆ หรือโน้ตไว้ในโทรศํพท์มือถือ หรือบันทึกไว้ในไฟล์คอมพิวเตอร์ แล้วก็กลับไปทำงานที่อยู่ตรงหน้าต่อ การทำแบบนี้จะเป็นการบังคับใจตัวเองและสร้างวินัยให้กับตัวเองไปในตัว เพื่อให้จดจ่อกับงานที่อยู่ตรงหน้านั่นเอง
๕) เมื่อคุณทำงานที่อยู่ตรงหน้าเสร็จแล้วจึงค่อยตรวจดูงานที่แทรกเข้ามาที่เราโน้ตไว้ เพิ่มงานเหล่านั้นลงไปในรายการสิ่งที่ต้องทำ ปรับเปลี่ยนตารางงานใหม่ถ้าจำเป็น
๖) ถ้างานแทรกมีความเร่งด่วนมากจนคุณไม่อาจทำงานตรงหน้าให้เสร็จก่อนได้ ให้จดไว้ว่างานที่ทำอยู่ไปถึงไหนแล้ว จากนั้นจึงรวบรวมเอกสารหรือบันทึกที่เกี่ยวข้องกับงานนั้นไว้ด้วยกัน ใส่ไว้ในแฟ้ม "งานที่กำลังทำอยู่" และเมื่อคุณกลับมาทำอีกครั้ง คุณก็สามารถหยิบแฟ้มขึ้นมาดูแล้วทำต่อจากส่วนที่ค้างไว้ได้ทันที
Babauta เล่าว่า ระหว่างนั่งทำงานทีละอย่างนี้ ให้สูดหายใจลึกๆ ยืดเส้นยืดสาย และหยุดพักบ้าง จงสนุกไปกับชีวิต พยายามรักษาสุขภาพจิตให้ดีอยู่เสมอ
หากคุณไม่สามารถจดจ่อให้จิตใจอยู่กับงานหรืออยู่กับปัจจุบันได้ เพราะจิตใจของคุณอาจล่องลอยไปอยู่ที่อื่น นั่นเป็นเรื่องปกติ ใครๆ ก็เป็นกันทั้งนั้น 
เขาบอกว่า อย่าตำหนิตัวเองเลยครับ อย่าท้อถอย ก็แค่ฝึกฝนต่อไป ฝึกฝนทุกครั้งที่นึกขึ้นได้ แล้วพาใจตัวเองให้กลับมาจดจ่อกับงานที่อยู่ตรงหน้า และอยู่กับปัจจุบัน
"ผมไม่มีอะไรที่ต้องทำกับอดีต หรือแม้แต่อนาคต ผมอยู่กับปัจจุบัน"
- ราล์ฟ วอลโด  เอเมอร์สัน -

No comments:

Post a Comment