Tuesday, July 22, 2014

จากกบฏไต้ผิงถึงกบฏไทย ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่

 ความทุกข์ยากของชาวนาอันเกิดจากความเสื่อมของจักรวรรดิแมนจูหนักหนาสาหัสมากขึ้นจากการรุกล้ำของต่างชาติ สภาพการณ์ต่างๆ เลวร้ายจนไม่อาจทนได้ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่แถบภูเขาที่ไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์นักตามพรมแดนระหว่างมณฑลต่างๆ ชาวนาจีนเริ่มมีปฏิกิริยาอย่างที่มักเคยกระทำมาก่อนเมื่อประสบปัญหาทำนองนี้ในอดีต พวกเขาเข้าร่วมกับกลุ่มนิกายทางศาสนาที่ไม่พอใจรัฐบาลและลุกฮือขึ้นสู้พวกเจ้านาย สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ "กบฏไต้ผิง" (ค.ศ. ๑๘๕๐-๑๘๖๔) ซึ่งแท้จริงแล้วก็คือการโจมตีอำนาจรัฐแบบการปฏิวัติอย่างนองเลือดนั่นเอง
ขบวนการดังกล่าวเริ่มขึ้นในหมู่ชาวนา กรรมการ และปัญญาชนที่ยากจนไม่กี่คนทางตอนใต้ของจีนในช่วงกลางทศวรรษ ๑๘๔๐ หัวหน้ากบฏคือ หงซิ่วฉวน

หงซิ่วฉวนเป็นครูที่มาจากครอบครัวชาวนา ซึ่งเห็นตัวเองในนิมิตว่าเป็นน้องชายพระเยซู และได้รับบัญชาจากพระเจ้าให้ทำลายปีศาจร้ายในโลกและก่อตั้ง "อาณาจักรสวรรค์" แห่ง "สันติสุขอันยิ่งใหญ่" (ไต้ผิง ในภาษาจีน) ขึ้น เขาเทศน์สั่งสอนเรื่องความเสมอภาคอย่างเคร่งครัดระหว่างประชาชน มีการแบ่งสรรที่ดินกันอย่างเท่าเทียม ชุมชนเป็นเจ้าของสินค้าและทรัพย์สินร่วมกัน และยุติการแบ่งแยกความแตกต่างทางสังคมที่มีมาแต่โบราณ รวมถึงการยกเลิกธรรมเนียมที่ถือว่าสตรีมีสถานะเป็นรองบุรุษด้วย สานุศิษย์ของเขามีความมุ่งมั่นและวินัยที่ช่วยให้พวกเขาได้รับความสนับสนุนอย่างกว้างขวางและเอาชนะกองทัพที่ส่งมาปราบพวกตนได้หลายครั้ง ในปี ๑๘๕๓ ขบวนการเคลื่อนไหวซึ่งตอนนี้มีผู้สนับสนุนราว ๒ ล้านคนก็เข้ายึดหนานจิงเมืองหลวงเกาของจีนได้สำเร็จ และปกครองดินแดนราวร้อยละ ๔๐ ของประเทศในฐานะเป็นรัฐรัฐหนึ่ง
อุดมการณ์ความเสมอภาคของขบวนการไต้ผิงไม่อาจอยู่ได้ตลอดรอดฝั่งในเวลาไม่นานนัก ผู้ดำรงตำแหน่งสูงๆ ก็เริ่มทำตัวเป็นเหมือนราชสำนักในอดีต หงซิ่วฉวนเองเริ่ม "ใช้ชีวิตอย่างหรูหราฟุ่มเฟือย และมีนางสนมมากมาย" ในชนบทชาวนายากจนที่แทบอดตายยังต้องเสียภาษี แม้ว่าจะต่ำกว่าอัตราเดิมเล็กน้อย
บัดนี้ผู้นำกบฏไต้ผิงละทิ้งอุดมการณ์ของตนเองนั้นเป็นการซ้ำรอยเหตุการณ์ทำนองเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในการกบฏของชาวนาครั้งก่อนๆ ในจีน ชาวนาซึ่งไม่รู้หนังสือซึ่งทำไร่ไถ่นากระจัดกระจายกันไปตามผืนดินอันกว้างใหญ่ไพศาลไม่ได้เป็นพลังอันแข็งแกร่งมากพอจะจะควบคุมกองทัพและผู้นำของตนเองได้ ทั้งบรรดาผู้นำก็พบว่าทรัพยากรทางวัตถุไม่ได้มีมากพอจะบรรลุอุดมการณ์เพื่อความสมบูรณ์พูนสุขของทุกคนตามความใฝ่ฝัน ทางเลือกง่ายๆ ก็คือการกลับสู่หนทางปกครองแบบเดิมและใช้อภิสิทธิ์แบบเดิมที่มีอยู่คู่กัน
หมายเหตุ

ผมใช้เวลาวันละเล็กละน้อยนั่งอ่านหนังสือเล่มนี้ของคริส ฮาร์มันที่ซื้อมาได้ซักพัก จนถึงวันนี้อ่านมาถึงหน้า  ๕๘๒-๕๘๓ (จากจำนวน ๑๐๔๑ หน้า) พอดีเนื้อหาข้างต้นที่ผมคัดลอกมานี้เกี่ยวกับ "กบฏไต้ผิง" อ่านแล้วน่าสนใจและเกิดความคิดจะตั้งหัวข้อบล็อกนี้ขึ้นมา (จากกบฏไต้ผิงถึงกบฏไทย ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่) ก็แค่นั้น
 
คริส ฮาร์มัน

 
 

No comments:

Post a Comment