Wednesday, July 16, 2014

ปรัชญาเบื้องหลังการศึกษาไทย


โครงสร้างวิธีคิดและปรัชญาเบื้องหลังการศึกษาไทยยังคงมีลักษณะของความเป็นอนุรักษนิยม (conservative) อันเป็นผลมาจากอิทธิพลทางด้านอุดมการณ์หลักที่ครอบงำการศึกษาไทยมาอย่างยาวนาน อนึ่ง คำว่าอุดมการณ์ในที่นี้ก็คือระบบของความคิดและความเชื่ออันเป็นแบบแผนที่ยึดถือร่วมกันในวงกว้างซึ่งมีพลานุภาพและได้รับการยอมรับว่าเป็นชุดความจริงโดยคนกลุ่มต่างๆ ในสังคมจนมีสถานะครอบงำสังคมในฐานะอุดมการณ์หลักของรัฐ วิธีการสำคัญที่รัฐสมัยใหม่ใช้ในการถ่ายทอดอุดมการณ์หลักของรัฐสู่ประชาชนนั่นคือการถ่ายทอดผ่านทางการศึกษา และนโยบายสาธารณะใดๆ ย่อมมีปรัชญาและอุดมการณ์เป็นกรอบกำหนดวิธีคิดให้กับนโยบายสาธารณะนั้นๆ ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานยิ่งเป็นเรื่องที่มีพื้นฐานทางด้านปรัชญาและอุดมการณ์เป็นกรอบกำหนด เพราะเหตุว่าการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นเรื่องที่รัฐต้องจัดให้กับเด็กและเยาวชนในฐานะสมาชิกที่จะเติบโตต่อไปเป็นกำลังหลักของรัฐ จึงเป็นเรื่องธรรมดาวิสัยที่ย่อมจะมีวิธีคิดและปรัชญาอยู่เบื้องหลังนโยบายหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง นั่นคือ หากไม่ออกมาในแนวทางที่เป็นปรัชญาอนุรักษนิยมหรือสำนักคิดประเพณีก็จะออกมาในแนวทางเสรีนิยมหรือสำนักคิดตะวันตก แน่นอนว่า ผู้ที่จัดทำนโยบายหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานตลอดจนผู้ขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติที่ยึดถือปรัชญาที่ต่างกันย่อมจะมีทัศนะเกี่ยวกับความมุ่งหมายและวิธีคิดของปรัชญาการศึกษาที่แตกต่างกันไป
        จากการศึกษาของพิพัฒน์ พสุธารชาติ ได้ชี้ให้เห็นว่าปรัชญาและอุดมการณ์รัฐในระบบการศึกษาไทยนั้นเน้นความเป็นอนุรักษนิยมอย่างมากโดยมุ่งให้รักษาสถานภาพและความคิดดั้งเดิมไว้ (status quo) ไม่ท้าทายเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมและจารีตเดิมที่เคยมีมา และยังชี้ให้เห็นว่าการศึกษาถือเป็นเครื่องมือสำคัญประการหนึ่งของรัฐในการสร้างอุดมการณ์เพื่อธำรงสถานภาพเดิม ทั้งระบบวิธีคิด โลกทัศน์ ค่านิยม ปรัชญาและความเชื่อของเด็กนักเรียนซึ่งจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้าในฐานะทรัพยากรที่สำคัญของประเทศ โดยรัฐจะเป็นผู้ที่กำหนดว่าจะสอนวิชาอะไร จะให้มีความรู้เรื่องอะไร และไม่ให้รู้เรื่องอะไรด้วยการบรรจุเนื้อหาสาระต่างๆ ไว้ในหลักสูตรทางการศึกษา ในประเด็นนี้ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ชี้ว่า หลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการใช้สอนเด็กไทยจึงไม่ผิดกับการอบรมทางอุดมการณ์ชุดหนึ่ง ทำให้ความคิดกระแสหลักของสังคมไทยค่อนข้างคับแคบ แข็งตัวและล้าหลัง และเป็นที่ชัดเจนว่าปรัชญาการศึกษาที่อยู่ฝั่งตรงข้ามในแบบเสรีนิยมที่เน้นให้มีการปฏิรูปในหลายๆ ด้านทั้งการคิดที่เสรี คิดวิพากษ์วิจารณ์ ตั้งคำถามกับค่านิยมและอุดมการณ์เดิมที่เคยมีมา ตลอดจนการเน้นการปฏิรูปโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางดูจะเป็นเรื่องเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติเมื่อนำมาปรับใช้กับการศึกษาไทยที่มีลักษณะอนุรักษนิยม สาเหตุสำคัญเป็นเพราะขัดกับวัฒนธรรมที่มีมาแต่เดิมอันเป็นแบบแผนที่บรรดาครูในฐานะผู้ที่เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ได้เคยถือปฏิบัติกันมา ดังปรากฏตามข้อสังเกตของวิทยากร เชียงกูลและธำรง บัวศรี ซึ่งเห็นว่าหลักการปฏิรูปการศึกษาที่ให้เด็กเป็นศูนย์กลางนั้นดี แต่ครูไม่เข้าใจเพราะครูเป็นคนที่รับการศึกษาแบบเก่าจึงเข้าใจว่าการเรียนแบบให้เด็กเป็นศูนย์กลางก็คือการให้เด็กไปค้นหาเอง ซึ่งแท้ที่จริงครูต้องชี้แนะไม่ใช่ปล่อยเด็ก แต่ครูมักมีลักษณะเป็นแบบอำนาจนิยมและอาวุโสนิยม พฤติกรรมการสอนของครูในแบบอนุรักษนิยมและยึดตนเองเป็นศูนย์กลางยังคงมีอยู่เป็นจำนวนมากจนกลายเป็นวัฒนธรรม จากที่ได้กล่าวมาจะเห็นได้ว่า แม้การจัดการเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางจะเป็นที่รู้จักกันดีในวงการศึกษาไทย แต่ไม่ประสบผลสำเร็จในทางปฏิบัติเพราะระบบการศึกษาไทยมีความเคยชินจากการที่ได้รับการอบรมสั่งสอนมาด้วยรูปแบบการจัดการเรียนการสอนโดยยึดครูเป็นศูนย์กลางและมีลักษณะอนุรักษนิยม อีกทั้งความเคยชินดังกล่าวก็ได้กลายเป็นเรื่องปกติ (normalization) จนฝังตัวอยู่ในระดับวัฒนธรรมและโครงสร้างวิธีคิดของสังคมจนยากจะรื้อถอน
อ่านรายละเอียดฉบับเต็มที่นี่
https://www.academia.edu/7068382/The_Policy_Implementation_of_Basic_Education_Curriculum_The_Traditional_Structures_under_Changing_Contexts

No comments:

Post a Comment