Wednesday, October 22, 2014

จากยุคพลเอกเปรมถึงยุคนายชวน



รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้ยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม 2531 ภายหลังการเลือกตั้งได้มีเสียงเรียกร้องให้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พลเอกเปรม ติณสูลานนท์จึงไม่ยอมเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ แม้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่จะสนับสนุน ด้วยเหตุนี้ สภาผู้แทนราษฎรจึงลงมติเสนอชื่อพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณเป็นนายกรัฐมนตรี
ช่วงนี้เศรษฐกิจของเมืองไทยอยู่ในขั้นดี จากผลของการดำเนินงานของรัฐบาลที่ผ่านมา การก่อสร้างและธุรกิจที่ดินเจริญเติบโตมากจนประชาชนที่เป็นชาวไร่ชาวนาพากันขายที่ดิน และมีการซื้อขายที่ดินผ่านมืออย่างรวดเร็ว ประกอบกับการรบพุ่งต่อสู้กันของประเทศเพื่อนบ้านสงบลง รัฐบาลจึงประกาศนโยบายทำสนามรบให้เป็นสนามการค้า และพยายามดำเนินการให้คนไทยไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน
อย่างไรก็ดี ช่วงการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งก็ถูกขัดขวางจากการปฏิวัติของคณะทหารที่ใช้ชื่อว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัน ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2535 แล้วประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2532 และประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 แทน พร้อมกันนั้นได้เชิญนายอานันท์ ปันยารชุน มาเป็นนายกรัฐมนตรี
ภายหลังการเลือกตั้งในเดือนเมษายน 2535 สมาชิกสภาผู้แทนกลุ่มพรรคต่างๆ ที่เป็นเสียงข้างมากได้เชิญพลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบกเป็นนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 6 พฤษภาคม 2535 ระหว่างนั้นได้เกิดการประท้วงรัฐบาลจนเกิดการนองเลือดครั้งใหญ่จนรัฐบาลต้องลาออก เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2535 และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งนายอานันท์ ปันยารชุน เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งเพื่อยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ ภายหลังการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกนายชวน หลีกภัยเป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2535 

No comments:

Post a Comment