Tuesday, June 17, 2014

จากวานรถึงเทวดา

วันนี้ผมได้หนังสือมาใหม่เล่มหนึ่ง
จากวานรถึงเทวดา: มาร์กซิสม์และมนุษยวิทยามาร์กซิสต์. (2557, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4)
สารบัญมีอยู่ด้วยกัน 8 บท ตามภาพข้างล่าง
เนื้อหาน่าสนใจ ผมคัดเฉพาะในส่วนที่ ศาสตราจารย์ ดร.ยศ สันตสมบัติ เขียนสรุปไว้ในแต่บท มาดังนี้
     บทที่ 1 เป็นการพิจารณาถึงพัฒนาการของแนวความคิดของมาร์กและอิงเกิลส์ อิทธิพลของมนุษยวิทยาที่มีต่อพัฒนาการของมาร์กซิสม์และจุดมุ่งหมายทางการเมืองที่แอบแฝงอยู่ในงานเขียนของมากซ์และอิงเกิลส์

     บทที่ 2 เป็นการนำเอางานเขียนที่สำคัญบางชิ้นของมากซ์และอิงเกิลส์ เช่น The German Ideology, Pre-Capitalist Economic Formations และ The Origin of the Family, Private Property and the State มาอธิบายอย่างละเอียด พร้อมทั้งชี้ให้เห็นถึงการนำเอาข้อมูลและแนวความคิดทางมนุษยวิทยามาใช้ในงานเหล่านี้

     บทที่ 3 เป็นการหยิบยกเอาจุดอ่อนและข้อบกพร่องของทฤษฎีมาร์กซิสม์ที่ใช้อธิบายวิวัฒนาการสังคมและรูปแบบการทำงานของสังคมดั้งเดิมมาอธิบายโดยละเอียด พร้อมทั้งชี้ให้เห็นถึงประเด็นต่างๆ ในทฤษฎีมาร์กซิสม์ที่นักมานุษยวิทยาสมัยใหม่โต้เถียงปฏิเสธ และประเด็นบางประเด็นที่เป็นที่ยอมรับกันในปัจจุบัน

     บทที่ 4 อธิบายพัฒนาการของมาร์กซิสม์ภายหลังมรณกรรมของมากซ์และพัฒนาการของมนุษยวิทยามาร์กซิสม์ในประเทศรัสเซีย ผู้เขียนต้องการชี้ให้เห็นว่า การที่อิงเกลส์นำเอาสังคมดั้งเดิมมาอธิบายในลักษณะของ "สังคมไร้ชนชั้น" ทำให้ทฤษฎีมาร์กซิสม์ที่เน้นในเรื่องของความขัดแย้งระหว่างชนชั้นว่าเป็นกลไกแห่งการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ ไม่สามารถนำมาใช้อธิบายสังคมดั้งเดิมได้ อิงเกิลส์และสานุศิษย์ของท่านจึงได้หันกลับไปเอาทฤษฎีของนักมนุษยวิทยารุ่นเก่ากันเป็นทฤษฎีที่ผิดพลาดและฉาบฉวย มาใช้อธิบายสังคมดั้งเดิมแทน ในบรรดางานเขียนทั้งหมดที่มากซ์และอิงเกิลส์นำเอาข้อมูลทางมนุษยวิทยามาใช้เป็นพื้นฐาน หนังสือ The Origin of the Family, Private Property and the State ของอิงเกิลส์ เป็นหนังสือเพียงเล่มเดียวเท่านั้นที่ได้รับการตีพิมพ์ก่อนปี ค.ศ. 1930 ด้วยเหตุนี้เอง นักมานุษยวิทยามาร์กซิสม์รัสเซียรุ่นต่อๆ มา จึงยึดติดอยู่กับการอธิบายสังคมดั้งเดิมตามแนวของอิงเกิลส์ ซึ่งเป็นการอธิบายสังคมในลักษณะแบบ "กำหนดนิยม" (determinism) ที่เน้นเพียงปัจจัยทางด้านเทคโนโลยีและสภาพแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งทำให้มนุษยวิทยามาร์กซิสม์ในรัสเซียมีพัฒนาการที่ค่อนข้างเชื่องช้า และหยุดชะงักอยู่เสมอ

     บทที่ 5 เป็นการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างมาร์กซิสม์และมนุษยวิทยาอเมริกัน ความขัดแย้งทางการเมืองและอุดมการณ์ระหว่างรัสเซียและอเมริกาทำให้ทฤษฎีวิวัฒนาการและมาร์กซิสม์ไม่ได้รับความนิยมในหมู่นักมนุษยวิทยาอเมริกัน นอกจากนั้น เราจะได้พิจารณาถึงการหวนกลับของทฤษฎีวิวัฒนาการและมาร์กซิสม์ ที่เริ่มมีบทบาทในอเมริกาอีกครั้งหนึ่ง ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 เป็นต้นมา รวมทั้งอิทธิพลของมาร์กซิสม์ที่มีต่อการศึกษาเชิงมนุษยวิทยาแนว "นิเวศวัฒนธรรม" และ "วัตถุนิยมวัฒนธรรม"

     บทที่ 6 เป็นการพิจารณาถึงพัฒนาการของมนุษยวิทยามาร์กซิสม์ในประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส เราจะได้กล่าวถึงผลงานของนักมนุษยวิทยามาร์กซิสม์สมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักมานุษยวิทยามาร์กซิสม์ฝรั่งเศสที่ได้ปฏิเสธทฤษฎีมาร์กซิสม์แนวอนุรักษนิยมของอิงเกิลส์และหันกลับไปนำเอาความคิดของมากซ์ที่ได้เสนอเอาไว้ในหนังสือ Capital มาดัดแปลงประยุกต์ใช้ในการอธิบายรูปแบบและลักษณะการทำงานของสังคมดั้งเดิม

     บทที่ 7 เป็นการพิจารณาถึงมนุษยวิทยามาร์กซิสม์ในประเทศไทย โดยได้คัดเลือกเฉพาะผลงานที่สำคัญๆ ของนักมานุษยวิทยารุ่นใหม่ เช่น งานของ ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ และ ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ

     บทที่ 8 เป็นการสรุปประเด็นต่างๆ และพิจารณาถึงปัญหาและแนวโน้มของมนุษยวิทยามาร์กซิสม์ในปัจจุบัน






No comments:

Post a Comment