Monday, June 2, 2014

การวิพากษ์วิจารณ์

เนื้อหาต่อไปนี้ ผมคัดมาจากข้อเขียนเรื่อง "อำนาจกับการขบถ" ของ ธงชัย วินิจจะกูล ซึ่งปรากฏอยู่ในส่วนท้ายของนวนิยาย เรื่อง "หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่" (1984) ของ  George Orwell (2555, พิมพ์ครั้งที่ 3 สำนักพิมพ์สมมติ)

ธงชัย วินิจจะกูลได้ตั้งคำถามและเสนอคำตอบไว้อย่างน่าสนใจเกี่ยวกับประเด็นการวิพากษ์วิจารณ์ ดังนี้

อะไรคือกุญแจของปัจเจกภาพ ความเป็นตัวของตัวเอง?
อะไรคือยาขนานเอกเพื่อขัดขวางต่อสู้อำนาจเผด็จการของสังคม
ที่เน้นองค์รวมและความจงรักภักดีของจักรเฟือง?



ตอบ: 'การวิจารณ์' (criticism)
หากไม่มีการวิจารณ์และจิตใจวิพากษ์วิจารณ์ย่อมไม่มีทาง
พัฒนาปัจเจกภาพขึ้นมา เพราะไม่มีทางพัฒนาปัญญาที่เป็นอิสระ
เป็นตัวของตัวเอง

ความรู้ข่าวสารที่มีมากมายล้นหลามในขณะนี้โดยตัวมันเอง
ไม่ใช่ทางออกสู่แสงสว่างทางปัญญา เพราะเปรียบเหมือนการมี
ห้องสมุดขนาดใหญ่อยู่ในบ้าน แต่กลับไม่สามารถจัดการกับ
แหล่งความรู้ท่วมหัวดังกล่าวได้ เพราะไม่รู้จักการวิจารณ์เพื่อ
จำแนก หรือรู้จักใช้ข่าวสารข้อมูลอย่างเหมาะสมและเป็นนายของ
ข้อมูล ปัญหาของสังคมที่อุดมไปด้วย Newspeak, Minitrue และ
การควบคุมบงการความคิด ไม่ว่าจะโดยรัฐหรือโดยสาธารณชน
ไม่ได้อยู่ที่การขาดแคลนข้อมูลข่าวสาร แต่อยู่ที่การขาดแคลน
ประชาชนที่มีคุณภาพ รู้จักวิจารณ์อย่างเป็นตัวของตัวเอง คุณภาพ
ดังกล่าวไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร เพราะสังคมนั้นๆ กลัว
ปัจเจกภาพ กลัวการแตกแถว จึงกดปราบความเป็นตัวของตัวเอง
แต่กลับเน้นความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เน้นการประสาน
กลมกลืนกับองค์รวมแทน

ปัจเจกภาพจึงเป็นอันตรายต่อสังคมที่เรียกร้องการขึ้นต่อ
องค์รวม กลายเป็นความไม่สามัคคี ก่อความแตกแยก ละเมิด
ประเพณีศีลธรรมอันดีงาม ไม่กตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษที่วาง
ขนบธรรมเนียมมาเป็นเวลานาน เป็นต้น การเรียกร้องให้ขึ้นต่อ
องค์รวมจึงสามารถบั่นทอนทำลายปัจเจกภาพ ความเป็นตัวของ
ตัวเอง ทำลายความคิดสร้างสรรค์ จิตใจวิพากษ์วิจารณ์ และ
วิญญาณขบถ


1 comment:

  1. เหตุใดการวิพากษ์วิจารณ์และถกเถียงกันได้โดยเสรี จึงเป็นค่านิยมอันพึงปรารถนาของสังคมประชาธิปไตยที่พัฒนาไปเต็มขั้นแล้ว ดังเช่นประเทศในแถบยุโรปและอเมริกาเหนือ

    เหตุผลแรกคือมันส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อกระบวนการสั่งสมความรู้ของสังคมมนุษย์ Matt Ridley นักคิดนักเขียนหัวก้าวหน้าของอังกฤษ เสนอความคิดไว้ในหนังสือ The Rational Optimist** ว่ามนุษย์ประสบความสำเร็จในการพัฒนาสังคมให้มีความเจริญก้าวหน้าทั้งทางวัตถุและวัฒนธรรมเหนือสัตว์อื่นได้ มิใช่เพราะมนุษย์มีสมองขนาดใหญ่ แต่เป็นเพราะปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "การสังวาสทางสติปัญญา" หรือ mating minds ซึ่งริดลี่อธิบายว่ามันคือการปะทะสังสรรค์และการแลกเปลี่ยนกันทางความคิดและไอเดีย จนเกิดเป็นวิวัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรม อันมีกระบวนการไม่ต่างไปจากการคัดเลือกยีนตามหลักทฤษฎีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต นั่นคือการคัดลอก (replicate) กลายพันธุ์ (mutate) แข่งขัน (compete) คัดเลือก (select) และสั่งสม (accumulate) ทางความคิดและไอเดียอย่างไม่รู้จบ ดังนั้น อารยธรรมของมนุษย์จึงเป็นผลมาจาก collective brain ของคนหมู่มาก หาใช่อัจฉริยภาพของจีเนียสเพียงไม่กี่คนไม่

    ที่มา:
    http://prachatai.org/journal/2014/06/53715

    ReplyDelete