Wednesday, June 25, 2014

อะไรคือปัญหาเชิงโครงสร้าง

ผมเคยเขียนและโพสต์ถึงปัญหาในเชิงโครงสร้างไว้ในบล็อกหนึ่งแล้ว
ดูที่นี่ http://s3930201.blogspot.com/2014/06/3.html

แต่ก็อยากจะเขียนเพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติมในรายละเอียดอีก เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยสร้างความเข้าใจไขความกระจ่างให้กับคนทั่วๆ ไปที่ยังดูปัญหาระดับนี้ (ระดับโครงสร้าง) ไม่ออก ผมอยากจะยกตัวอย่างอันหนึ่งซึ่งอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุลกล่าวปาฐกถาพิเศษเอาไว้เนื่องในงานเปิด "หมุด ๑๔ ตุลา" จัดโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๖ ณ บริเวณลานโพธิ์ท่าพระจันทร์ ชื่อของปาฐกถานี้ คือ "ความฝันเดือนตุลา: ๔๐ ปีแห่งการแสวงหาเสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นธรรมในประเทศไทย"



อาจารย์เสกสรรค์ ได้กล่าวไว้ช่วงหนึ่งซึ่งน่าสนใจมากสำหรับผม เนื้อหาดังกล่าวเป็นการแยกประเด็นให้เห็นชัดเจนระหว่างปัญหาในระดับตัวบุคคล กับปัญหาในระดับโครงสร้าง ดังนี้

ผู้คนในประเทศไทยควรจะต้องตระหนักให้มากขึ้นว่าปัญหาของประเทศไม่ได้เกิดจากการโกงบ้านกินเมืองอย่างเดียว แม้ว่าสิ่งนั้นจะมีจริงและสมควรแก้ไข แต่คนที่ดูเหมือนมือสะอาดก็ใช่ว่าจะผุดผ่องอันใดนักหนา เพราะเงื่อนไขที่ก่อเรื่องมากกว่าคือ ระบบที่ทำให้คนจำนวนหนึ่งรวยได้อย่างเหลือล้นโดยไม่ต้องโกง ขณะคนส่วนใหญ่ลำบากได้อย่างเหลือเชื่อทั้งๆ ที่ไม่ได้เกียจคร้าน  (ตัวหนานี่ผมเน้นเองนะครับ)
จะเห็นได้ว่าการมองทะลุปัญหาตัวบุคคลเพื่อจะให้เห็นไปถึงปัญหาในระดับโครงสร้างนั้น ต้องอาศัยระดับการมองที่สูงขึ้นไป ในทัศนะผมเห็นว่าเป็นปัญหาใหญ่ เพราะคนส่วนใหญ่มองเห็นแต่ระดับบุคคลเช่นว่า ชีวิตลำบากเพราะเกียจคร้าน ไม่ขยัน  (เหมือนอย่างในภาพข้างล่างนี้ที่เป็นวาทกรรมที่ว่า "คนเรามีต้นทุนชีวิตไม่เท่ากัน" แต่ไม่เคยถามต่อว่า โครงสร้างอะไรที่ทำให้คนเรามีต้นทุนชีวิตที่ไม่เท่ากัน)

ทั้งๆ ที่เมื่อมองในระดับโครงสร้างหรือที่อาจารย์เสกสรรค์ใช้คำว่า "ระบบ" ก็จะเห็น "ความจริง" อีกอย่างที่อยู่เหนือขึ้นไปและมีส่วนในการกำหนดตัวบุคคล เพราะถ้าระบบหรือโครงสร้างไม่ได้รับการปรับเปลี่ยนหรือแก้ไข ขยันให้ตาย ชีวิตก็ไม่ได้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแต่ประการใด ในทางตรงกันข้าม สำหรับโครงสร้างที่เอื้อให้กับคนบางกลุ่ม ถึงแม้เขาไม่ต้องออกแรงขยันอะไรเลย แต่ทุกอย่างก็เอื้อให้ชีวิตดีขึ้น เราเรียกลักษณะเช่นนี้ว่า ปัญหาระดับโครงสร้างนั่นเอง



ปัญหาระดับโครงสร้างนี้นี่เองที่ทำให้สังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำกันสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับสังคมอื่น อย่างที่นักวิชาการมักเรียกกันว่า "รวยกระจุก จนกระจาย" นั่นเอง

No comments:

Post a Comment