Thursday, June 19, 2014

วัฒนธรรมคืออะไร

โดยส่วนตัวนั้น ผมให้นิยามวัฒนธรรมว่า สิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นให้ต่างไปจากสภาวะเดิมตามธรรมชาติ ผมมีตัวอย่างมากมายที่จะยกให้เห็นภาพตามนิยามที่ให้ไว้ข้างต้น อาทิเช่น เรื่องการกิน สังคมไหนๆ ก็มีเรื่องการกินกันทั้งนั้นเพราะเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เกิดมาก็ต้องบำรุงเลี้ยงร่างกายด้วยการกิน อย่างไรก็ดี การกินของแต่ละสังคมก็แตกต่างกันไป บางสังคมกินข้าว บางสังคมกินขนมปัง ส่วนวิธีการกินก็ต่างกันไปเช่นกัน บางสังคมกินด้วยช้อน บางสังคมกินด้วยมือ บางสังคมกินด้วยตะเกียบ

เรื่องการแต่งตัวก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งโดยธรรมชาติเดิมทีมนุษย์นั้นนุ่งลมห่มฟ้า เมื่อเป็นเรื่องวัฒนธรรม การแต่งตัวก็แตกต่างกันไป บางสังคมนุ่งผ้าถุง บางสังคมนุ่งกางเกง บางสังคมเปลือยอก บางสังคมใช้ผ้าคลุมตัว บางสังคมตกแต่งร่างกายด้วยสีสันต่างๆ นานา

เรื่องการจราจรนี่ก็ใช่ บางประเทศขับรถชิดซ้าย แต่บางประเทศขับรถชิดขวา

ยกตัวอย่าง "ลูกโลก" อีกสักเรื่อง

ลูกโลกในแบบเดิมเป็นเรื่องธรรมชาติ ก่อนที่มนุษย์จะมีความคิดเรื่องวัฒนธรรมเกี่ยวกับโลกในหัวของเรานั้น ลูกโลกในความคิดของมนุษย์ก็คือ ลูกโลกในแบบที่เป็นแผ่นดิน ผืนน้ำสีฟ้าๆ มีเฆฆปกคลุมประปรายแต่เมื่อลูกโลกกลายเป็นเรื่องทางวัฒนธรรม แผ่นดินก็ถูกปกคลุมไปด้วยชาติ คงเหลือไว้ก็แต่เส้นเขตแดน และรายชื่อประเทศชาติต่างๆ สิ่งเหล่านี้เป็นวัฒนธรรมที่มนุษย์สร้างขึ้นจากของเดิมที่เป็นธรรมชาติ (ดูภาพประกอบข้างล่าง)



ที่นี้ ลองนึกถึงวัฒนธรรมทางการเมือง (political culture) กันบ้าง นักวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์รุ่นเก่าอย่าง Gabriel A. Almond และ Sidney Verba ได้แบ่งวัฒนธรรมทางการเมืองออกเป็น ๓ แบบด้วยกัน ได้แก่ (๑) วัฒนธรรมทางการเมืองแบบคับแคบ (the parochial political culture) (๒) วัฒนธรรมทางการเมืองแบบไพร่ฟ้า (the subject political culture) และ (๓) วัฒนธรรมทางการเมืองแบบมีส่วนร่วม (the participant political culture)

ท่านใดสนใจอยากรู้ว่าวัฒนธรรมแต่ละแบบเป็นยังไง ง่ายๆ ครับปรึกษาอาจารย์ Google เอาเองนะครับ แต่บอกไว้ก่อนว่า ไม่จำเป็นเสมอไปว่า สังคมใดสังคมหนึ่งจะมีวัฒธรรมทางการเมืองเพียงแบบเดียว บางครั้งวัฒนธรรมทางการเมืองทั้ง ๓ แบบอาจผสมปนเปกัน แล้วแต่ว่าสังคมใดมีส่วนของวัฒนธรรมทางการเมืองแบบใดมากกว่ากัน

ประเด็นคำถามชวนคิดก็คือว่า แล้วสังคมไทยมีวัฒธรรมทางการเมืองแบบใดหรือมีส่วนผสมเป็นยังไง?

ฯลฯ

กล่าวโดยสรุปในที่นี้ได้ว่า
วัฒนธรรมก็คือสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นเป็นเรื่องของการประดิษฐ์สร้างโดยชุมชนของคนในแต่ละสังคมให้ต่างไปจากสภาวะเดิมตามธรรมชาติ

สาเหตุที่นำเรื่องวัฒนธรรมมาเขียน เพราะครั้งหนึ่งผมเคยถกเถียงเรื่องนี้กับเพื่อนในระดับปริญญาเอกด้วยกัน มานั่งนึกตอนนี้เห็นว่าเป็นประโยชน์ ควรที่จะเขียนเผยแพร่ความคิดให้กว้างออกไป อันที่จริงเรื่องนี้ผมเคยเขียนแตะๆ ไว้บ้างแล้ว แต่ก็ไม่ได้พูดให้ชัดตรงๆ ดูได้ที่นี่ http://share.psu.ac.th/blog/pisan-surat/10189

อย่างไรก็ดี หากจะเอาให้ชัดตามทัศนะของนักปราชญ์ทางด้านวัฒนธรรมและนักประวัติศาสตร์ คงต้องยกให้บทความของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ซึ่งได้เขียนและให้นิยามวัฒนธรรมไว้ชัดๆ ว่า "วัฒนธรรมคือระบบความสัมพันธ์" โดยอาจารย์นิธิ เขียนไว้ ศิลปวัฒนธรรม, ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๙ (กรกฎาคม, ๒๕๓๒) แล้วสำนักพิมพ์มติชนนำมารวบรวมเป็นเล่มหนังสือชื่อว่า ชาติไทย เมืองไทย แบบเรียนและอนุสาวรีย์ (๒๕๓๘)


ผมลองสืบค้นใน Google ปรากฏว่าไม่มีเนื้อหาของบทความดังกล่าว ก็เลยพิมพ์เผยแพร่ไว้
ณ ที่นี้ก็แล้วกัน

วัฒนธรรมคือระบบความสัมพันธ์
นิธิ เอียวศรีวงศ์

     คนเราเกิดมาคนเดียว และตายไปคนเดียว แต่ระหว่างที่มีชีวิตอยู่ไม่สามารถอยู่ได้คนเดียว เพียงเพื่อเอาชีวิตให้รอดก็จำเป็นต้องสัมพันธ์กับผู้อื่นและสิ่งอื่น เพื่อให้ได้มาซึ่งเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นและเพื่อรักษาเครื่องอุปโภคบริโภคนั้นไว้เป็นสิทธิ์ของตน

    ยิ่งไปกว่าต้องการมีชีวิตรอด คนยังต้องการชีวิตที่ดีอีกด้วย ดีตามมาตรฐานที่เขากำหนดขึ้นตามยุคสมัยและตามสังคมของตนเอง เพราะฉะนั้นจึงไม่แต่เพียงต้องจัดความสัมพันธ์ระหว่างคนด้วยกันเพื่อให้สามารถมีเครื่องอุปโภคบริโภคประทังชีวิตเท่านั้น ยังต้องจัดให้ความสัมพันธ์นั้นเอื้ออำนวยต่อชีวิตที่ดีด้วย ความสัมพันธ์ดังกล่าวจึงยิ่งเพิ่มความซับซ้อนขึ้นไปอีก ความจริงง่ายๆ ข้อนี้ นักปราชญ์แต่ก่อนกล่าวอธิบายไว้สั้นๆ ว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคม

    ได้กล่าวแล้วว่ามนุษย์ต้องสัมพันธ์กับคนอื่นและสิ่งอื่น เพราะฉะนั้นนอกจากการจัดความสัมพันธ์กับมนุษย์ด้วยกันแล้ว มนุษย์ยังมีสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์ด้วยกันอีกด้วย สิ่งแวดล้อมที่สำคัญมากคือธรรมชาติ เช่น ป่าเขาลำเนาไม้และแม่น้ำลำธาร มนุษย์จะต้องจัดความสัมพันธ์ของตนกับสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ให้อำนวยต่อการดำรงชีวิตและต่อการมีชีวิตที่ดี

     ธรรมชาติมีความสลับซับซ้อนและมีพลังอย่างเหลือล้น การจัดความสัมพันธ์ทางธรรมชาติ ไม่ได้หมายความว่าธรรมชาติเป็นสิ่งที่หยุดนิ่งตายตัว แล้วมนุษย์เข้าไปจัดการให้ธรรมชาติเป็นไปตามความประสงค์ของตนเอง ในทางตรงกันข้ามในธรรมชาติมีความสัมพันธ์ภายในของตัวเอง มนุษย์จัดความสัมพันธ์ของตนกับธรรมชาติด้วยการแทรกเข้าไปอยู่ในระบบความสัมพันธ์ที่มีอยู่ในธรรมชาติ หากจะเปลี่ยนแปลงธรรมชาติก็เปลี่ยนด้วยการแทรกเข้าไปในระบบความสัมพันธ์นั้น ไม่ใช่ไปฝืนระบบความสัมพันธ์ภายในของธรรมชาติ
    
     แม้ว่าต้องจัดความสัมพันธ์ทั้งสองด้านคือ สัมพันธ์กับมนุษย์ด้วยกันเองและสัมพันธ์กับธรรมชาติ แต่การจัดความสัมพันธ์นี้ก็ไม่ได้แยกจากกันเด็ดขาด กลับต้องมีการเชื่อมโยงความสัมพันธ์สองด้านนี้จนกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไป ดังเช่นความเชื่อเรื่องผีของชนบทไทยบางแห่ง กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างหญิง-ชายให้อยู่ในกรอบที่จะไม่กระเทือนต่อสวัสดิภาพของชุมชนจนเกินไปหมายความว่ากำหนดความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน แต่ในขณะเดียวกันความเชื่อเรื่องผี (อาจจะผีคนละตน) ก็กำหนดให้มนุษย์ตักตวงถือประโยชน์จากธรรมชาติได้ในขอบเขตจำกัด คือเพื่อดำรงชีวิตที่ดีเท่านั้น เช่นจะตัดไม้ใหญ่โดยไม่บัดพลีเทพหรือผีที่สิงในต้นไม้นั้นไม่ได้ก็ทำให้การทำลายธรรมชาติตามอำเภอใจเกิดขึ้นโดยสะดวกไม่ได้ความเชื่อเรื่องผีจึงเป็นการจัดความสัมพันธ์ทั้งสองด้านไปพร้อมกัน

     มนุษย์จัดความสัมพันธ์โดยการสร้างสถาบันทางสังคมขึ้น

     สถาบันทางสังคมทั้งหลายก็มีความสัมพันธ์กันเองอย่างสลับซับซ้อนยิ่ง เช่นมีคนบางคนได้อำนาจไว้มากกว่าคนอื่น เพื่อทำให้ทุกๆ คนสัมพันธ์กันเองและสัมพันธ์กับธรรมชาติในเชิงที่ไม่ทำลายเป้าหมายของชีวิต คือการมีชีวิตอยู่รอดและมีชีวิตที่ดี บางแห่งอาจเรียกคนเช่นนั้นว่าผู้ใหญ่บ้าน เจ้าเมือง หรือพระเจ้าแผ่นดิน ฯลฯ ซึ่งจะลงโทษคนลักขโมย คนที่ละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่น หรือละเมิดต่อธรรมชาติจนเป็นอันตรายต่อเป้าหมายของชีวิต (เช่นกฎหมายทางเหนือลงโทษคนถมบ่อน้ำ กฎหมายภาคกลางลงโทษคนทำเฝือกกั้นทางน้ำ ฯลฯ) สถาบันเช่นนี้เรียกว่าสถาบันทางการเมือง แต่อำนาจไม่ได้เกิดกับสถาบันทางการเมืองเพียงอย่างเดียว หรือสถาบันทางการเมืองเพียงอย่างเดียวไม่สามารถจัดความสัมพันธ์ได้หมด หมอผีหรือพระก็มีอำนาจ อาจเป็นอำนาจที่เกิดจากพลังทางไสยศาสตร์หรืออำนาจที่เกิดจากพลังประเพณีก็ตาม แต่ทั้งหมอผีและพระก็เข้ามามีส่วนกำหนดความสัมพันธ์ของคนกับคน และคนกับธรรมชาติด้วยกันทั้งสิ้น ตัวประเพณีเองก็เป็นอาญาสิทธิ์ที่ละเมิดได้ยากในการกำหนดความสัมพันธ์ มีสถาบันทางการศึกษาซึ่งอาจอยู่กับหมอผีหรือนักบวชที่จะถ่ายทอดลักษณะความสัมพันธ์ที่เห็นว่ามีประสิทธิภาพที่สุดในการดำรงชีวิตและการมีชีวิตที่ดีให้สืบเนื่องไปในชุมชนนั้นๆ มีหลักความเชื่อซึ่งก็เป็นสถาบันทางสังคมอย่างหนึ่งซึ่งช่วยเสริมพลังของลักษณะความสัมพันธ์ที่มีอยู่ให้ดำรงอยู่ต่อไปได้

     ยิ่งคิดไปก็จะยิ่งเห็นสถาบันทางสังคมอันหลากหลายซึ่งต้องมีอยู่ในทุกชุมชน สถาบันทางสังคมนั้นกล่าวให้สั้นและง่ายที่สุดก็คือรูปแบบความสัมพันธ์ทีมีการกำหนดพฤติกรรมทางกายและจิตใจเอาไว้ค่อนข้างชัดเจน สถาบันเหล่านี้ทำงานเกื้อกูลกันเอง และไม่อาจแบ่งหน้าที่ของตนออกได้ชัดเจน เพียงแต่มีจุดหมายตรงกันที่จะสร้างและเสริมความสัมพันธ์ชนิดที่เอื้้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตและมีชีวิตที่ดี (ตามคติของสังคมนั้นๆ) หากสถาบันหนึ่งเสื่อมสลายลง ก็จะกระทบสถาบันอื่น และก่อนให้เกิดการทำงานที่ไม่ราบรื่นขึ้นได้ ต้องมีการปรับตัวกันในทุกสถาบันทางสังคม เพื่อให้สามารถทำงานของตนต่อไปได้

     เพราะสถาบันทางสังคมมีความสัมพันธ์ต่อกันอย่างไม่ขาดตอนเช่นนี้เอง จึงเรียกได้ว่าความสัมพันธ์ของสถาบันทางสังคมเหล่านี้เป็นระบบ

     และเพราะเป็นระบบ วัฒนธรรมจึงไม่ใช่สิ่งที่หยุดนิ่งกับที่ เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดแก่ส่วนใดส่วนหนึ่งของระบบอยู่ตลอดเวลา เมื่อส่วนหนึ่งเปลี่ยนแปลงส่วนที่เหลือก็ต้องปรับตัวตามไปด้วยดังที่กล่าวแล้ว จึงเป็นผลให้วัฒนธรรมที่เป็นองค์รวมต้องเปลี่ยนตามไปด้วย

     ในความเป็นจริงมีความจำเป็นที่ส่วนต่างๆ ของระบบต้องเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และด้วยเหตุดังนั้นจึงกระทบถึงส่วนอื่นให้ต้องปรับตัวตามไปด้วยตลอดเวลาเช่นกัน เหตุฉะนั้นจึงอาจกล่าวโดยโวหารถึงที่สุดได้ว่า ไม่มีวัฒนธรรมในที่เราหมายรู้ได้จริงเลย เพราะวัฒนธรรมย่อมอยู่ในสภาวะที่เป็นอนิจจังเสมอ ทันที่ที่เราบรรยายลักษณะวัฒนธรรมไทยเสร็จ วัฒนธรรมไทยก็เปลี่ยนไปจากลักษณะที่เราบรรยายเสียแล้ว

     วัฒนธรรมในความหมายนี้ก็คือระบบความสัมพันธ์ของคนกับคน และคนกับธรรมชาติ

     โดยปกติแล้วระบบความสัมพันธ์นี้มนุษย์ไม่ได้สร้างขึ้นใหม่ทุกชั่วอายุคน แต่มักจะรับระบบความสัมพันธ์ที่ตกทอดกันมาจากอดีตทั้งนี้เพราะเป็นไปไม่ได้ด้วยซ้ำที่คนทุกชั่วอายุจะสร้างระบบความสัมพันธ์ขึ้นใหม่เอง เพราะระบบความสัมพันธ์หรือวัฒนธรรมมีความซับซ้อนมากดังที่ได้กล่าวแล้ว ต้องอาศัยการถ่ายทอดปลูกฝังกันเป็นเวลานานมาก (เมื่อเทียบกับสัตว์) กว่าจะสามารถดำเนินชีวิตในระบบความสัมพันธ์หนึ่งได้อย่างดี ไม่พักต้องพูดถึงว่าจะสร้างขึ้นเองและขยายให้ผู้อื่นรับระบบนั้นร่วมกันจะต้องใช้เวลาเกินกว่าชั่วอายุคนไปสักเท่าใด ระบบความสัมพันธ์หรือวัฒนธรรมจึงมีพลังกำหนดชีวิตของคนยิ่งกว่าสิ่งใด

     คนเราเกิดมาตัวเปล่าแต่ก็ถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรมทันทีที่เกิดมา เหตุฉะนั้นเราทุกคนขีดเส้นชีวิตของเราได้ระดับหนึ่ง แต่ขีดทั้งหมดตามอำเภอใจไม่ได้ เพราะส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของชีวิตนั้นวัฒนธรรมได้ขีดไว้ให้แล้ว
     
..................................................
สำหรับผู้ที่สนใจค้นคว้าเพิ่มเติม
สืบค้นต่อได้จากคำๆ นี้ Cultural Relativism http://en.wikipedia.org/wiki/Cultural_relativism
ซึ่งเป็นแนวคิดและข้อเสนอของ ฟรานซ์ โบแอส (Franz Boas, ค.ศ.1852-1942) บิดาแห่งมานุษยวิทยาวัฒนธรรมและการศึกษาเชิงประวัติศาสตร์เฉพาะกรณีในอเมริกา

Cultural Relativism เป็นแนวความคิดที่เสนอว่า เราไม่ควรที่จะศึกษาวัฒนธรรมแห่งใดแห่งหนึ่ง โดยนำเอาระบบความคิดหรือระบบคุณค่าของวัฒนธรรมอื่นเข้าไปวัด เราควรจะศึกษาวัฒนธรรมนั้นในลักษณะที่มีเอกลักษณ์และคุณค่าในตัวเอง และใช้ระบบความคิดและค่านิยมของวัฒนธรรมนั้นเป็นพื้นฐานในการศึกษาทำความเข้าใจกับประเพณีและลักษณะทางวัฒนธรรมในรูปแบบอื่นๆ แนวความคิดนี้ได้กลายมาเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการศึกษามานุษยวิทยาวัฒนธรรมในประเทศอเมริกาเรื่อยมาตราบจนปัจจุบัน








No comments:

Post a Comment