Friday, June 20, 2014

ปัญหาเรื่องโครงสร้างกับผู้กระทำการ

ในทางสังคมวิทยา สังคมศาสตร์ และรัฐศาสตร์ ประเด็นที่สำคัญประเด็นหนึ่งที่มีการถกเถียงกันมานานก็คือ ประเด็นที่ว่าด้วยเรื่องปัญหาโครงสร้าง (Structure) - ผู้กระทำการหรือตัวแสดง (Agency/Actor) นั่นคือ อะไรกันแน่ที่เป็นตัวกำหนดหรือมาก่อน

ความจริงทางการเมืองในเรื่องต่างๆ เป็นผลมาจากการกระทำของมนุษย์โดยเสรีตามเจตจำนงค์ของมนุษย์ หรือว่าความจริงแล้วเป็นเรื่องที่ถูกกำหนดโดยโครงสร้างของสังคมบางอย่าง (อาทิ ค่านิยม อุดมการณ์ ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ ความเป็นไทย ลักษณะชาตินิยม ฯลฯ) ซึ่งทำให้มนุษย์ไม่ได้มีอิสระเสรีอย่างแท้จริงที่จะกระทำการใดๆ สิ่งที่มนุษย์คิด พูด ทำในชีวิตประจำวันล้วนถูกกำหนดโดยโครงสร้างบางอย่างมาแล้ว ดังนั้น การศึกษาปรากฏการณ์ความจริงทางสังคมการเมืองใดๆ จึงควรสนใจไปที่ประเด็นเชิงโครงสร้างดีกว่า

อนึ่ง คำว่า 'ผู้กระทำการ' (agency) หรือบางครั้งก็เรียกว่า 'ตัวแสดง' (actor) ในทางสังคมวิทยา ถือเป็นคำที่ตรงข้ามกับคำว่า 'โครงสร้าง' (structure) ทั้งนี้ มักมองกันว่าผู้กระทำการหรือตัวแสดงนั้นเป็นอย่างเดียวกันกับปัจเจกบุคคลแต่ละคนซึ่งกระทำการตอบโต้กับโครงสร้างที่อยู่ข้างบนหรือข้างนอกตัวตนของผู้กระทำการหรือตัวแสดงนั้นๆ

ในที่นี้ ผมจะขอยกตัวอย่างง่ายๆ ให้เห็นภาพ เช่นว่า การที่คนๆ หนึ่งยึดเอาหลักพุทธศาสนาอย่างเข้มข้นชนิดหายใจเข้า-ออกเป็นเรื่องพุทธศาสนาไปหมด พูดอะไรก็เต็มไปด้วยศัพท์แสงทางพุทธศาสนา ตัณหา อัตตา มานะ อนิจจัง ทุกข์ และนิพพาน เป็นต้นนั้น ในทางสังคมวิทยาจะถือว่าเขาตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของโครงสร้างพุทธศาสนาเป็นสำคัญ กรณีเมืองไทยก็คงจะเป็นพุทธศาสนาเถรวาทแบบไทยเป็นหลักที่หล่อหลอมความรู้สึกนึกคิด (Socialization) ผ่านโครงสร้างระบบการศึกษา แบบเรียน วัด สถาบันทางศาสนา สื่อสารมวลชน ฯลฯ จนก่อรูปตัวตนให้กลายเป็น Agency/Actor


อย่างไรก็ดี แทนที่จะพิจารณาแยกส่วนเป็นคู่ตรงข้าม และมองว่าฝั่งใดฝั่งหนึ่งมีอิทธิพลต่ออีกฝั่งเพียงอย่างเดียว เช่น มองว่าโครงสร้างมีอิทธิพลทางเดียวต่อผู้กระทำการหรือตัวแสดง หรือมองว่าตัวแสดงหรือผู้กระทำการมีอิทธิพลต่อโครงสร้างเพียงทางเดียวนั้น

นักทฤษฎีบางคน เช่น แอนโทนี กิดเดนส์ (Anthony Giddens, ค.ศ. 1938 - ปัจจุบัน) ได้ให้ข้อเสนอทางทฤษฎีที่ต่างออกไป กล่าวคือ เขาได้สลายความคิดเดิมๆ ดังกล่าวข้างต้น โดยเสนอทฤษฎีปฏิสัมพันธ์สองทาง (Structuration Theory) เพื่อแก้ปัญหาคู่ตรงข้าม (Binary Opposition) โดยชี้ว่า แม้ใน Structuration Theory จะดูเหมือนมีคู่ตรงข้ามระหว่างโครงสร้าง (Structure) ในด้านหนึ่ง และผู้กระทำการหรือตัวแสดง (Agency/Actor) ในอีกด้านหนึ่ง แต่คู่ตรงข้ามนี้ก็ไม่ได้เป็นคู่ตรงข้ามที่หยุดนิ่งและตายตัว


Giddens ใช้กรอบคิดเรื่อง Agency ให้แตกต่างไปจาก Actor ในลักษณะที่ Agency จะหมายรวมถึงเหตุการณ์ที่เกิดจากการกระทำของ Actor กล่าวคือ Actor ที่มิได้อยู่เฉยๆ นิ่งๆ แต่กำลังปฏิบัติการอะไรบางอย่างที่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้าง

ในขณะเดียวกัน เมื่อพูดถึง Structure ก็ไม่ใช่โครงสร้างที่หยุดนิ่งและตายตัว หรือกฎระเบียบที่แน่นอนตายตัว แต่เกิดขึ้นจากการปรับเปลี่ยนตามการกระทำในระดับปฏิบัติการ (practical level) ของ Actor ด้วยเหตุดังนั้น Structure - Agency ในมุมมองนี้จึงไม่ใช่ทวิลักษณ์ (Dualism) แต่เป็นคู่สัมพันธ์ (Duality) ที่ขับเคลื่อนสังคม

ดูเพิ่มเติม
1) Ritzer, George. (1992). Sociological Theory. New York: McGraw-Hill. p. 225.
2) Theory of Structuration ที่นี่ http://www.theory.org.uk/giddens2.htm

No comments:

Post a Comment