Friday, June 27, 2014

อำนาจแบบเส้นเลือดฝอย

     พอพูดถึงเรื่อง 'อำนาจ' หลายคนมักจะคิดไปถึงอำนาจการปกครอง อำนาจอธิปไตย อำนาจฝ่ายต่างๆ อาทิ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ มองอำนาจเป็นก้อนๆ เป็นแท่งๆ

     แต่สำหรับนักคิดหลังสมัยใหม่หรือโพสต์โมเดิร์นนั้น ได้เสนอให้มองอำนาจในรูปแบบที่ต่างออกไปกล่าวคือ อำนาจเปรียบเหมือนเส้นเลือดฝอย ไม่ใช่เส้นเลือดใหญ่ เป็นอำนาจที่แผ่ซ่านอยู่ในความสัมพันธ์ระหว่างกันของผู้คนในชีวิตประจำวันของคนเรา เช่น ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างคนในที่ทำงานเดียวกัน ระหว่างเพื่อนร่วมงาน หัวหน้างานกับพนักงานในบริษัท คนขับรถโดยสารกับผู้โดยสาร กระเป๋ารถเมล์กับบรรดาผู้โดยสาร คนขับรถตู้กับคนจัดการคิว ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างหมอกับคนไข้ เพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียน สายสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างครูกับนักเรียน ระหว่างคนในชุมชนเดียวกัน ระหว่างคนในครอบครัว หรือคนที่เป็นแฟนกัน ความสัมพันธ์ที่กล่าวมาทั้งหมดต่างเป็นเรื่องการเมืองทั้งสิ้น เป็นการเมืองเรื่องของอำนาจที่แผ่ซ่านอยู่ในชีวิตประจำวันเหมือนเส้นเลือดฝอย




     นักคิดสกุลโพสต์โมเดิร์นอย่างมิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault, ค.ศ. ๑๙๒๖-๑๙๘๔) ได้เสนอให้มองอำนาจแบบเส้นเลือดฝอยหรือก็คืออำนาจในแนวนอนซึ่งเกี่ยวข้องอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนในทุกๆ ระดับ เป็นอำนาจที่คอยทำหน้าที่กำกับควบคุมสมาชิกในสังคมทั้งที่เป็นแบบควบคุมกันเองและแบบที่กระทำโดยรัฐซึ่งมีลักษณะที่ซับซ้อน ซึมลึก เพราะเป็นอำนาจที่แผ่ซ่านและไหลเวียนอยู่ในทุกอณูและในทุกๆ พื้นที่ของสังคม ไม่ว่าจะเป็นในบ้าน ในคุก ในที่ทำงาน บนท้องถนน (เช่น การขับรถชิดซ้ายซึ่งทุกคนกระทำกันจนกลายเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน การเห็นไฟแดงก็ต้องจอดรถ จะเลี้ยวขวาก็ต้องเปิดไฟกระพริบให้สัญญาณ เป็นต้น) ในโรงพยาบาล และในโรงเรียน



     อำนาจพวกนี้ไม่ได้ไหลทางเดียว แต่ไหลย้อนไปย้อนมา ทุกทิศทุกทาง และไม่อาจระบุทิศทางที่ชัดเจนได้ เพราะมันแผ่ซ่านไปทั่ว เป็นอำนาจที่เหมือนกับว่าทุกคนกระทำกับทุกคน ไม่มีหัวไม่มีหาง เป็นได้ทั้งอำนาจเชิงลบ และอำนาจเชิงบวกเพราะอำนาจแบบนี้มันสร้างอะไรได้ด้วย อาทิเช่น การสถาปนาให้เหตุผล (rationality) มีคุณค่าอยู่เหนือความไม่มีเหตุผล ทำให้เรื่องที่ไม่มีเหตุผลเป็นเรื่องที่ไม่ถูกตามหลักวิชา

อ่านเพิ่มเติมได้ใน

นพพร ประชากุล. (๒๕๕๒). 'มองหลากมุมโพสต์โมเดิร์น' ยอกอักษร ย้อนความคิด. กรุงเทพฯ: อ่าน. หน้า ๔๘๐-๔๘๑.

No comments:

Post a Comment