Saturday, June 21, 2014

ปัญหาการศึกษาไทยอยู่ตรงไหน


      บทความนี้มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ ประการแรก ชี้ให้เห็นถึงกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างสำคัญในฐานะที่เป็นบริบทสภาพแวดล้อมทางการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทย ประการที่สอง เสนอข้อถกเถียงว่าการนำนโยบายหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานไปปฏิบัติยังคงอยู่ภายใต้กรอบโครงสร้างเดิมและไม่อาจปรับตัวตามกระแสการเปลี่ยนแปลงได้ทัน บทความนี้เป็นการศึกษางานวิจัยและการทบทวนวรรณกรรม จากการศึกษาพบว่า แม้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยได้มีการใช้มาแล้ว 2 ฉบับนับตั้งแต่ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และกำลังจะมีการประกาศใช้ฉบับใหม่ซึ่งมีการปรับเนื้อหากลุ่มสาระวิชาที่ลดลง แต่ยังคงเน้นหลักสูตรอิงมาตรฐาน อย่างไรก็ดี จากการศึกษาพบว่า ในแง่ของการนำนโยบายหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานไปปฏิบัติยังคงไม่สอดคล้องอย่างมีนัยสำคัญกับบริบทสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง เพราะติดอยู่กับกรอบคิดในระดับโครงสร้างเดิม 3 ประการ กล่าวคือ 
     (1) หลักสูตรยังคงดำเนินไปภายใต้โครงสร้างแบบรวมศูนย์อำนาจโดยมีระบบราชการจากส่วนกลางเป็นกลไกขับเคลื่อน 
     (2) หลักสูตรยังคงอิงอยู่กับโครงสร้างของกรอบคิดตามทฤษฎีการนำนโยบายไปปฏิบัติแบบบนลงล่าง และ 
     (3) โครงสร้างวิธีคิดและปรัชญาเบื้องหลังของหลักสูตรยังคงมีลักษณะของความเป็นอนุรักษนิยมอันเป็นผลมาจากอิทธิพลทางด้านอุดมการณ์หลักที่ครอบงำการศึกษาไทยมาอย่างยาวนาน สำหรับข้อเสนอแนะมี 2 ประการ คือ (1) การปรับโครงสร้างกรอบคิดใหม่ด้วยการกลับหัวกลับหางโครงสร้างกรอบคิดเดิม กล่าวคือ เน้นการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง ยึดแนวทางทฤษฎีการนำนโยบายไปปฏิบัติจากล่างสู่บน และเน้นปรัชญาที่มีลักษณะเสรีนิยมมากขึ้น และ (2) ในการแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษา พึงตระหนักว่า หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานถือเป็นองค์ประกอบที่จำเป็นอันจะขาดเสียมิได้ในการแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษา และยังจะต้องตระหนักอีกด้วยว่า ในการแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยให้ประสบผลสำเร็จได้นั้น เงื่อนไขในเชิงบริบทสภาพแวดล้อมทั้งระดับโลกและระดับภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริบทสภาพแวดล้อมของการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนมีความสำคัญอย่างมากและขาดไม่ได้ในการนำเข้ามาพิจารณาเพื่อแก้ปัญหา

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่นี่
https://www.dropbox.com/s/dg7a443ban73q8r/%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%99.pdf

No comments:

Post a Comment