Monday, June 30, 2014

ใกล้ถึงวันประกาศอิสรภาพ



ใกล้ถึงวันประกาศอิสรภาพ เรื่องราวที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ชาติอเมริกันเมื่อ ๒๓๘ ปีมาแล้ว ผมถือโอกาสนี้เอาลิงก์ 'คำประกาศอิสรภาพอเมริกัน' (๔ กรกฎาคม ๑๗๗๖ ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๑๙ สมัยพระเจ้าตากสิน เป็นเหตุการณ์ที่เกิดก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ เป็นระยะเวลา ๑๓ ปี) มาให้ได้อ่านกัน ที่นี่ครับ


สหรัฐอเมริกาเป็นชาติแรกในโลกสมัยใหม่ที่ประกาศเอกราชไม่ยอมขึ้นกับกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรอีกต่อไป (สมัยกษัตริย์ King George ที่ ๓, ค.ศ. ๑๘๖๐-๑๘๒๐)

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมอื่นๆ ที่ผมเคยเขียนไว้ ที่นี่

แบ่งแยกแล้วปกครอง

"...มันเกิดอะไรขึ้น เราต้องมาตั้งคำถามกับตัวเราเองว่าเราผิดพลาดตรงไหน เราก้าวพลาดตรงไหน เราก้าวผิดพลาดหรือว่าเขาก้าวเร็วกว่า เรื่องแย่ๆ ประเทศเรามีครบ ทั้งความขัดแย้ง รัฐประหาร เรามีครบ เราใช้การแบ่งแยกแล้วปกครอง (divide and rule) ทำให้แตกแยกแล้วปกครอง ทำให้โง่แล้วปกครองง่าย ทำให้คนไม่รู้แล้วปกครองง่าย ใช้กันมาตลอด divide and rule ทุกวันนี้ก็ยังใช้อยู่ ใครคิดสวนทางอะไรขึ้นมานี่ไม่ได้เลย ฉลาดกว่าไม่เอา"

ข้อความข้างต้นเป็นเนื้อหาสาระที่ผมได้จากการถอดเทปการสัมภาษณ์ผู้บริหารการศึกษาท่านหนึ่งในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันอังคารที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๗ ผมว่ามีส่วนจริงอย่างมากก็เลยเอามาให้คิดกันต่อนะครับ

การเคลื่อนตัวของ value ในการบริหารรัฐกิจ

เพื่อนรุ่นน้องระดับปริญญาเอกที่เรียนด้วยกัน ณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่งคำถามหลังไมค์ในเฟสบุ๊คตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็นองค์ความรู้ทางการการบริหารรัฐกิจหรือรัฐประศาสนศาสตร์มาว่า

Governance มันมี Value อะไรบ้าง อย่างของดั้งเดิมมี 3Es (Efficiency, Effectiveness, Economy) แล้ว Governance นั้นมีอะไรบ้าง? 



ผมไม่ได้ตอบคำถามของเพื่อนรุ่นน้อง แต่ได้ส่งไฟล์ข้อสอบระดับปริญญาเอกที่เคยถูกตั้งคำถามคล้ายๆ กันนี้ และคิดว่าคำตอบน่าจะอยู่ในข้อสอบระดับปริญญาเอกที่ผมพยายามตอบนี้

คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ในวงกว้างสำหรับใครก็แล้วแต่ที่สนใจทางด้านการบริหารงานภาครัฐหรือรัฐประศาสนศาสตร์ (PA: Public Administration) ผมก็เลยเอาลิงก์ไฟล์เอกสารดังกล่าวมาเผยแพร่ต่อในที่นี้

ที่นี่ https://www.academia.edu/3687724/Public_Governance_Qualifying_Examinations_at_TU_2012

หรือที่นี่
https://www.dropbox.com/s/eu0wooabme3tytb/Public%20Governance%20Qualifying%20Examinations%20at%20TU%202012.pdf

Sunday, June 29, 2014

ระดับปัจเจกกับระดับสังคม

อย่างที่ผมเคยเขียนไว้ในบล็อคอื่นๆ ก่อนหน้านี้ ผมมองว่ากระแสคิดหรืออุดมการณ์ของสังคมนั้นมี ๒ อุดมการณ์หรือ ๒ กะแสหลักที่ต่อสู้ขับเคี่ยวแข่งขันกัน ในทัศนะของผม ๒ กระแสที่ว่านี้ ก็คือ กระแสอุดมการณ์อนุรักษนิยม และอีกกระแสที่ขึ้นมาท้าทายโดยเฉพาะในสังคมไทยก็คือกระแสที่ก้าวหน้ามากขึ้นหรือกระแสเสรีนิยม

สำหรับการรัฐประหารยึดอำนาจครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นเมื่อ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ แน่นอนว่านี่เป็นปฏิกิริยาของอุดมการณ์อนุรักษนิยมที่โต้กับกระแสเสรีนิยม หลายคนที่สนับสนุนการทำรัฐประหารจึงเป็นคนที่ตกอยู่ในกระแสอนุรักษนิยม หลายคนอาจดีใจที่ทหารขึ้นมากำจัดฝ่ายตรงข้ามหรือรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่ตนเองไม่ชอบ เพราะรัฐบาลจากการเลือกตั้งมีความเลวร้ายในด้านต่างๆ อาทิ การคอร์รัปชั่น พรบ.เหมาเข่ง นักการเมืองชั่ว ฯลฯ

คนที่สนับสนุนการทำรัฐประหารอาจไม่รู้สึกว่า การทำรัฐประหารยึดอำนาจของทหารมีอะไรเลวร้าย เราก็ยังคงใช้ชีวิตกันปกติ ทำมาหากิน ไปไหนมาไหนได้โดยปกติไม่เห็นจะเดือดร้อนอะไร เรื่องช่วยเหลือชาวนาก็เป็นไปได้ด้วยดี http://s3930201.blogspot.com/2014/05/blog-post_30.html นโยบายอะไรต่างๆ ทหารก็บริหารได้อย่างฉับไว ถูกใจเรายิ่งนัก พวกที่ออกมาโวยวายก็ปล่อยๆ ให้โวยวายไปอย่างนั้น ตัวเราก็มีความสุขเหมือนท่านผู้นำว่าไว้ "คืนความสุขให้คนไทย"

แต่ที่ผมพูดมาทั้งหมด มันเป็นความพึงพอใจแค่ระดับปัจเจกก็คือตัวท่านเอง สาเหตุที่ท่านพอใจและมีความสุขกับการทำรัฐประหารยึดอำนาจของทหาร เพราะท่านสนับสนุนให้ทหารเข้ามาแทรกแซงล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งตั้งแต่แรกแล้ว ท่านจึงเป็นได้เพียงลูกสมุนของพวกเผด็จการทหารเท่านั้นเอง คนที่ไม่รู้ค่าสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีของตัวเอง จะไปรู้เรื่องเสรีภาพและศักดิ์ศรีที่แท้จริงที่ตัวเองมีได้อย่างไรกัน

การที่ท่านสนับสนุนรัฐประหารท่านก็เป็นเพียงสมุนเผด็จการดีๆ นี่เอง ท่านผู้นำทำอะไรให้ก็ดูดีไปหมด ทั้งๆ ที่ระบบแบบนี้มันเป็นระบบความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบที่มองคนเราไม่เท่ากัน นายว่า ขี้ขาพลอยก็เท่านั้นเอง ท่านอาจไม่ได้ตระหนักว่า คนอีกกลุ่มเขาได้รับผลกระทบอย่างไรจากการทำรัฐประหาร การถูกเรียกตัว ถูกกักขัง http://ilaw.or.th/node/3177 การประกาศกฎอัยการศึก การใช้กำลังเข้ายึดอำนาจเพราะมีอาวุธมีกำลัง สิ่งเหล่านี้ต่างก็เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพทั้งนั้น สิ่งเหล่านี้ไม่ได้แสดงออกถึงความอารยะอะไรเลย ก็แค่เรื่องของการใช้กำลังแบบคนเถื่อนย้อนกลับไปสู่ยุคโบราณ

คนที่สนับสนุนอาจจะมีความสุข ไม่เดือดร้อน ก็ยังใช้ชีวิตกันไปตามปกติ ทำมาหากินกันไปเหมือนเช่นทุกๆ วัน แต่นั่นมันเป็นความสุขในระดับปัจเจก ท่านไม่เคยพิจารณาให้สูงขึ้นไปอีกชั้นหนึง นั่นคือ ความทุกข์ในระดับสังคม การรัฐประหารอาจนำความสุขมาให้ในระดับปัจเจก โดยเฉพาะสำหรับฝ่ายอนุรักษนิยมและผู้ที่สนับสนุน แต่ก็ก่อทุกข์อย่างมากในระดับสังคม

ประการแรก ฝ่ายที่เขาไม่เห็นด้วย เขาเดือดร้อนแน่ๆ อย่างน้อยก็มีคนถูกเรียกตัว อย่างนักวิชาการที่เขาสนับสนุนการได้มาซึ่งผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่ได้มาด้วยการยึดอำนาจ คนเหล่านี้ถูกห้ามแสดงออก หรือห้ามคัดค้านโดยคำสั่งของผู้ที่มีกำลังหาใช่ด้วยเหตุผลไม่

ประการที่สอง การยึดอำนาจโดยรัฐประหารก็เท่ากับว่าผู้ยึดอำนาจไม่ได้เคารพกติกา โดยเฉพาะกติกาใหญ่ของสังคมนั่นคือรัฐธรรมนูญ ท่า่นเข้ามายึดแล้วฉีกรัฐธรรมนูญที่เป็นกติกาหลักของคนในสังคม แล้วสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นองค์อธิปัตย์ประกาศออกกฎหมายเอง โดยไม่รู้ว่าเอาความชอบธรรมมาจากไหน นอกจากปากกระบอกปืน ถ้าเล่นกันอย่างนี้ วันหนึ่งใครมีปืนมีรถถังก็เอามายึดอำนาจและสถาปนาตัวเองขึ้นปกครองประเทศอีก และจริงๆ ประเทศไทยเราก็ทำอย่างนี้มาตลอดจนกลายเป็นวัฒนธรรม ไม่เชื่อก็ลองอ่านบทความชิ้นนี้ดูสิครับ (สำหรับคนที่พออ่านภาษาอังกฤษได้นะ)
Why Democracy Struggles: Thailand's elite coup culture (ทำไมประชาธิปไตยถึงต้องดิ้นรน: วัฒนธรรมการก่อรัฐประหารของชนชั้นนำไทย) http://asiapacific.anu.edu.au/newmandala/wp-content/uploads/2013/12/Why-democracy-struggles-Farrelly.pdf



นี่จึงไม่ใช่ปัญหาระดับปัจเจก แต่เป็นปัญหาใหญ่ในระดับสังคม ซึ่งคนทั่วๆ ไปไม่ค่อยตระหนัก เพราะเห็นว่าเป็นปัญหาไกลตัว ไม่มองให้สูงขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง (หรือมองไม่เห็นก็ไม่ทราบ) มองไม่เห็นว่ามันกระทบกับการดำเนินชีวิตประจำวันของตัวเองสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะคนที่สนับสนุนการทำรัฐประหาร

ประการที่สาม ประเทศไทยไม่ได้อยู่เพียงลำพังในโลก โลกประกอบด้วยรัฐต่างๆ และมีการตกลงในเรื่องกติกาและคุณค่าสากลบางประการ เช่น เรื่องสิทธิพลเมือง เสรีภาพ ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ หลักประชาธิปไตยสากล อย่างเช่นคำพูดที่ว่า 'เราถือว่าความจริงต่อไปนี้ประจักษ์แจ้งในตัวเอง ความจริงที่ว่า มนุษย์ทุกคนถูกสร้างขึ้นมาให้เท่าเทียมกัน' (We hold these truths to be self-evident, that all men are created equal.http://share.psu.ac.th/blog/pisan-surat/16917 สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องทางสังคม และสากลโลกให้การรับรอง แต่การทำรัฐประหารทำลายสิ่งเหล่านี้ และสากลโลกไม่ยอมรับ ใครสนับสนุนการทำรัฐประหาร ก็เท่ากับสนุนการทำลายหลักสากลและไม่เคารพสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีที่ตัวเองมีนั่นเอง

สำหรับฝ่ายอนุรักษนิยมและผู้ที่สนับสนุนการรัฐประหารอาจจะมีความสุขในระดับปัจเจก แต่พึงตระหนักไว้เถิดว่าท่านได้ทำลายและก่อความทุกข์ในระดับสังคมที่ท่านอยู่และสังคมโลกเองก็ไม่ยอมรับ

Saturday, June 28, 2014

กระบวนการยุติ-ความเป็นธรรมไทย




"กระบวนการยุติธรรมไม่ได้มี ๒ มาตรฐาน เพราะไม่มีมาตรฐานเลย"
ศาสตราจารย์ ดร.คณิต ณ นคร



โดย ศ.ดร.คณิต ระบุว่า กระบวนการยุติธรรมไทยมีปัญหามานาน และมีปัญหาทั้งระบบ โดยมีสาเหตุสำคัญ ๒ ประการ คือ การที่ศาลยุติธรรมวางเฉย ซึ่งขัดกับหลักกฎหมาย และความไม่เข้าใจองค์กรอัยการ พร้อมระบุว่า สาเหตุที่ทำให้เกิด ป.ป.ช. และศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นมาจากการวางเฉยไม่ทำหน้าที่ตามกฏหมายของศาลยุติธรรม ทั้งนี้เห็นว่าการเกิด ป.ป.ช. เป็นการพัฒนาที่สิ้นเปลือง เพราะตามกฎหมายนั้นสำนักงานอัยการจะต้องทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว และคดีที่ ป.ป.ช. ขาดอายุความ ใครจะรับผิดชอบ

ดังนั้นการอภิวัฒน์กระบวนการยุติธรรมต้องทำให้มีประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่าย เพราะปัจจุบันมีกระบวนการหากินในกระบวนการยุติธรรมจำนวนมาก เช่น การใช้เงินประกันตัวจากความผิด ทำให้เกิดการกู้นอกระบบ และในยุคพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีการนำบริษัทประกันมาดำเนินธุรกิจในกระบวนการนี้ ทั้งที่ตามกฎหมายระบุชัดเจนว่าการขอประกันตัว ไม่ต้องมีหลักประกัน นอกจากนี้ศาลสูงสุดไทยยังเป็นที่เดียวในโลกที่พิจารณาในชั้นสืบข้อเท็จจริง ทั้งที่ในประเทศที่เจริญแล้วศาลสูงสุดต้องทำหน้าที่ทบทวนตรวจในทางเทคนิคข้อกฎหมายเท่านั้น

ขณะที่อัยการต้องทำหน้าที่คัดกรองคดีไม่ใช่ส่งฟ้องอย่างเดียว เพราะเท่าที่ทราบขณะนี้มีคดีค้างศาลอยู่กว่า ๒ หมื่นคดี นอกจากนี้ยังระบุว่า กระบวนการยุติธรรมไทยไม่ได้มี ๒ มาตรฐาน เพราะไม่มีมาตรฐานเลย โดยหากกระบวนการยุติธรรมไทยมีประสิทธิภาพปัญหาในบ้านเมืองจะไม่เกิด 
ที่มา http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1403945636 

รัฐชาติและรัฐตลาด


รัฐชาติและรัฐตลาดคืออะไร? 
หาคำตอบได้จากหนังสือเล่มนี้ ผมพิมพ์มาให้อ่านกันบางส่วน 
ดาวน์โหลดได้ ที่นี่

ทำน้อยให้ได้มาก


     วันนี้ผมไปยืนอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อว่า ทำน้อยให้ได้มาก ที่ร้านหนังสือซีเอ็ด ยืนอ่านได้ ๔-๕ บท ยอมรับว่าเป็นหนังสือที่ดี แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจซื้อ ไว้โอกาสหน้าจะหาซื้อมาอ่านให้ครบเล่ม (ดูหน้าตาและฟังทัศนะของผู้เขียนหนังสือเล่มดังกล่าวได้ ที่นี่)

      เท่าที่ผมอ่านจับใจความ สรุปได้ว่า ให้สนใจในสิ่งที่สำคัญที่สุดจริงๆ แล้วทำสิ่งนั้นให้เกิดผลกระทบในเชิงบวกต่อชีวิตให้มากที่สุด ส่วนสิ่งใดที่ไม่สำคัญก็คัดออก/ตัดออก ปล่อยๆ มันไป 

     พูดง่ายๆ ว่าให้ความสำคัญกับสิ่งที่สำคัญที่สุดจริงๆ เกาะติดกับเป้าหมาย แม้เป้าหมายจะใหญ่โต แต่ก็ให้แตกเป้าหมายใหญ่เป็นภาระงานย่อยๆ แล้วค่อยๆ ทำ ไต่ระดับ และให้รางวัลกับงานเล็กๆ ที่เดินไปสู่เป้าหมายใหญ่ เพราะเป้าหมายใหญ่ต้องอาศัยเวลาและกำลัง จะมุทะลุเอาให้สำเร็จโดยเร็วหรือให้ได้ดั่งใจเป็นเรื่องยาก เช่น บางคนอยากจะลดน้ำหนักให้ได้โดยเร็ว ลดอาหาร ออกกำลังกายหักโหม หรือใช้ยาช่วย ไม่นานคงท้อถอยไปเสียก่อน และงานวิจัยก็ชี้ว่าเป็นอย่างนั้นเสียมาก แต่หากตั้งเป้าหมายไว้เล็กๆ โดยกระจายมาจากเป้าหมายใหญ่ ก็จะง่ายขึ้นและเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ที่จะทำให้สำเร็จ (ดูบล็อกที่เกี่ยวข้องได้ที่นี่ บล็อกที่ ๑ เคล็ดลับทำงานโดยไม่ต่อเน็ต และบล็อกที่ ๒ การจดจ่อ)

     ผมอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว นึกถึงกฎ ๘๐/๒๐ ของพาเรโต กฏนี้อธิบายถึงข้อมูล ๒ ชุดที่เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกัน เขาพูดถึงการค้นหาข้อมูลชุดแรกที่จะนำไปสู่ความสำเร็จหรือสัมฤทธิ์ผลในข้อมูลชุดที่สอง โดยข้อมูลชุดแรกมีเพียง ๒๐% ที่จะนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์มากถึง ๘๐%  

     ยกตัวอย่างเช่น ในตู้เสื้อผ้าของเรามีเสื้อผ้าอยู่ทั้งหมด ๑๐๐% แต่เราใช้เสื้อผ้าเหล่านั้นตลอดทั้งอาทิตย์หรือตลอดเดือนจริงๆ หยิบมาใส่กันจริงๆ หากพูดกันเป็นตัวเลขก็คือหยิบมาใส่หรือเอามาใช้จาก ๑๐๐% เราเอามาใช้มากถึง ๘๐% นั้น มาจากเสื้อผ้าแค่เพียง ๒๐% เท่านั้นจากผ้าในตู้ ผ้าเหล่านั้นอาจเป็นเสื้อผ้าที่เราชอบ ถูกใจเรา ขนาดมันเหมาะ จะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ เราใช้เสื้อผ้านั้นแค่เพียง ๒๐% จากผ้าทั้งหมด ๑๐๐% (ดูภาพประกอบข้างล่าง)


     ข้อมูลในแท่งแรกพูดถึงเรื่องปริมาณเสื้อผ้าในตู้ ส่วนข้อมูลแท่งที่สองพูดถึงเรื่องสัดส่วนการเอาเสื้อผ้าจากในตู้มาสวมใส่ตลอดสัปดาห์หรือตลอดเดือน

     คนที่เข้าใจกฎนี้ เขาจะรู้ว่าอะไรคือเรื่องที่สำคัญและต้องใส่ใจ ส่วนเรื่องที่ไม่สำคัญก็ปล่อยๆ มันไป เพราะมันไม่นำไปสู่สัมฤทธิ์ผล พูดแบบภาษาฝรั่ง เขาเรียกว่า
     It lies in making the most of our time by focusing on the most important things, instead of everything.
     ลองนึกถึงหนังสือที่เราซื้อมา ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยได้อ่าน แต่ที่ซื้อมาแล้วหยิบมาอ่านบ่อยอ่านมาก มากถึงร้อยละ ๘๐ มาจากจำนวนหนังสือเพียงร้อยละ ๒๐ ที่ซื้อมา ของอย่างอื่นก็เหมือนกัน รองเท้า กระเป๋า นาฬิกา ลิปสติก เข็มขัด เน็คไท ปากกา ฯลฯ เพราะนี่มันเป็นกฎ ไม่เชื่อลองอ่านเพิ่มเติมได้

     

Friday, June 27, 2014

การทำความเข้าใจการเมือง

จากการเฝ้าสังเกตความคิดเห็นและทัศนะต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในสื่อออนไลน์และเฟสบุ๊ค
ผมมีข้อสังเกตส่วนตัว ดังนี้



๑) ระดับความรู้ความเข้าใจของคนเราในเรื่องการเมืองแตกต่างกันหลายระดับ ย้ำนะครับว่า แตกต่างกันหลายระดับ เหตุที่เป็นเช่นนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเข้าถึงข้อมูลของคนเราในเรื่องต่างๆ แตกต่างกันเพราะการศึกษาและการเรียนรู้ของคนเรา ตลอดจนระดับความเข้าใจและความสนใจของคนเราแตกต่างกัน ข้อมูลหลายอย่างก็โดนภาครัฐปิดกั้นการเข้าถึง หนังสือที่เกี่ยวกับเรื่องสำคัญๆ ทางการเมืองบางเล่มก็โดนแบนโดยทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำให้ความรู้ความเข้าใจไหลเวียนเป็นกระแสหลักอยู่เพียงเรื่องเด่นอยู่เรื่องเดียว นั่นคือ เรื่องที่รัฐไทยต้องการให้คนไทยได้รู้ในสิ่งที่รัฐต้องการเพื่อความมั่นคงแห่งรัฐ ความรู้ความเข้าใจเหล่านี้ได้รับการสถาปนาจนกลายเป็น "ระบอบความจริงของรัฐ" ซึ่งไม่ใช่เรื่องจริงในระดับสากลหรือสัจจธรรม เพราะรัฐปิดกั้นและไม่เปิดโอกาสให้ความรู้ชุดอื่นๆ ที่เป็นกระแสรองขึ้นมาท้าทาย หวั่นเกรงเรื่องความมั่นคง และอำนาจที่จะสูญเสียไป

๒) การที่คนเราจะรู้และเข้าใจการเมืองแบบลึกๆ คนคนนั้นจะต้องออกแรงทำการบ้านหรือวิจัยด้วยตนเองซึ่งต้องอาศัยความอดทน มีวินัย เปิดใจกว้างๆ แบบชาไม่ล้นถ้วยลองอ่านข้อมูลความรู้ชนิดอื่นๆ ที่แตกต่างไปจากที่ตนเองเชื่อ ยกตัวอย่างเช่น คนที่เคยชอบอ่านแต่เว็บไซต์ของผู้จัดการออนไลน์, สำนักข่าวเจ้าพระยา, หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์, เว็บไซต์ของหน่วยงานของรัฐ อยากให้ลองเปิดใจอ่านเว็บไซต์ทางเลือกเช่น มติชนออนไลน์, ประชาไท, ข่าวสด ฯลฯ แล้วเอาข้อมูลมาชั่งน้ำหนักคิดทบทวนหรือเปรียบเทียบดู ก็จะเกิดความเข้าใจอะไรต่างๆ ได้มากขึ้น

๓) การทำความเข้าใจในเรื่องการเมืองที่ดีที่สุด อย่าอ่านแต่เฉพาะข่าวรายวัน แต่ควรเอาเวลาไปอ่านงานวิจัย เพราะจะได้เห็นภาพแบบตานก (bird's eye view) เพราะการจมอยู่กับข้อมูลข้อเท็จจริงรายวันทำให้ไม่เห็นภาพรวมหรือช่วงระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น มองแต่ตัวบุคคลเป็นหลัก แต่ไม่ได้มองให้ลึกเห็นถึงกลุ่มพลังต่างๆ ที่ถักถอกันเป็นเครือข่ายของการต่อสู้ทั้งสองฝ่าย และมีอำนาจแตกต่างกัน เปรียบง่ายๆ เหมือนกับมองเห็นกระดานหมากรุกทั้งกระดาน การศึกษาจากงานวิจัยจะช่วยให้เห็นว่า ควรจะเพ่งเล็งหรือให้ความสำคัญกับกลุ่มพลังกลุ่มใดเป็นหลักที่เป็นตัวแปรสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง


๔) การทำความเข้าใจการเมืองให้ถ่องแท้ ควรให้ความสนใจระดับตัวบุคคลให้น้อยลง แต่ควรหันไปสนใจการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้าง (แบบแผน, กติกา, กฎหมาย, นโยบาย, การบริหารของหน่วยงานและท่าทีของผู้บริหารระดับนโยบาย ฯลฯ) และระดับอุดมการณ์/วัฒนธรรม ซึ่งได้แก่ ระบบคุณค่าต่างๆ เช่น สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม ฯลฯ เพราะการมองในสองแบบหลังนี้ (ระดับโครงสร้าง และระดับอุดมการณ์/วัฒนธรรม) สะท้อนว่าตัวเราคิดในระดับที่สูงขึ้นมาจากระดับข้อเท็จจริง เหมือนกับการที่คนคนหนึ่งพูดถึงเรื่อง 'ผลไม้' แต่คนจำนวนมาก พูดได้แค่เรื่องของ 'เงาะ มังคุด ลำไย ฯลฯ' คนแบบแรกนั้นสามารถคิดได้ในระดับนามธรรมแล้ว แต่คนแบบหลังคิดได้ในระดับข้อเท็จจริงเท่านั้น หากยกตัวอย่างกับเรื่องการเมือง คนแบบแรกอาจพูดด้วยศัพท์นามธรรม เช่น ชนชั้นกลาง, ชนชั้นนำ, ระบอบเผด็จการทหาร, เครือข่ายสถาบัน แต่คนแบบหลังจะพูดได้แค่ ไอ้คนนั้น นายคนนี้ ชั่วอย่างนั้น ชั่วอย่างนี้ พูดได้แต่ระดับข้อเท็จจริงหรือข่าวรายวันเท่านั้นเอง เพราะคิดในระดับนามธรรมไม่ค่อยจะได้


ต่อต้านสหรัฐและชาติยุโรป


จุดยืนของสหรัฐและชาติยุโรปที่ใช้กับทุกประเทศทั่วโลก คือ ต่อต้านการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่มีการเลือกตั้ง ประชาชนไม่มีสิทธิตัดสินใจทางการเมือง แล้วจะนำมาสู่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและตัดเงินช่วยเหลือ
 ขณะเดียวกันก็เกิดกระแสรักชาติในหมู่คนไทยที่มีจุดยืนสนับสนุนให้ คสช. เข้ายึดอำนาจ
ด้วยการชูประเด็นต่อต้านสินค้าอเมริกาบ้าง ต่อต้านสินค้าจากกลุ่มอียูบ้าง นี่ไม่รู้ว่าในบอลโลกที่กำลังแข่งกันอย่างเมามันอยู่นี้ จะต้องต่อต้านไม่ดูทีมยุโรปที่ลงเตะด้วยหรือเปล่า
 หรือกระแสต่อต้านของผู้มีอุดมการณ์รักชาติสุดโต่งเหล่านี้จะยังยืดเยื้อไปอีกหลายปีหรือไม่ เพราะจบจากบอลโลกในเดือนหน้า อีก ๒ ปีถัดไป ก็จะมีเกมบอลที่ยิ่งใหญ่ระดับน้องๆ บอลโลกเกิดขึ้นอีก นั่นคือ บอลยูโรหรือบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป ที่เปรียบกันว่าเป็นบอลครึ่งโลก 
อีกทั้งในบอลโลกและบอลยูโร คนไทยก็จะแห่กันดูอย่างจริงจัง ต้องมีการถ่ายทอดสดแบบนี้ในทุกๆ ๒ ปี ในบอลยูโร ๒๐๑๖ จะเกิดบรรยากาศอะไรในหมู่ผู้มีอุดมการณ์ชาตินิยมสุดโต่งในบ้านเรา โปรดติดตาม - วงศ์ ตาวัน, ชกคาดเชือก. 
 


อำนาจแบบเส้นเลือดฝอย

     พอพูดถึงเรื่อง 'อำนาจ' หลายคนมักจะคิดไปถึงอำนาจการปกครอง อำนาจอธิปไตย อำนาจฝ่ายต่างๆ อาทิ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ มองอำนาจเป็นก้อนๆ เป็นแท่งๆ

     แต่สำหรับนักคิดหลังสมัยใหม่หรือโพสต์โมเดิร์นนั้น ได้เสนอให้มองอำนาจในรูปแบบที่ต่างออกไปกล่าวคือ อำนาจเปรียบเหมือนเส้นเลือดฝอย ไม่ใช่เส้นเลือดใหญ่ เป็นอำนาจที่แผ่ซ่านอยู่ในความสัมพันธ์ระหว่างกันของผู้คนในชีวิตประจำวันของคนเรา เช่น ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างคนในที่ทำงานเดียวกัน ระหว่างเพื่อนร่วมงาน หัวหน้างานกับพนักงานในบริษัท คนขับรถโดยสารกับผู้โดยสาร กระเป๋ารถเมล์กับบรรดาผู้โดยสาร คนขับรถตู้กับคนจัดการคิว ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างหมอกับคนไข้ เพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียน สายสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างครูกับนักเรียน ระหว่างคนในชุมชนเดียวกัน ระหว่างคนในครอบครัว หรือคนที่เป็นแฟนกัน ความสัมพันธ์ที่กล่าวมาทั้งหมดต่างเป็นเรื่องการเมืองทั้งสิ้น เป็นการเมืองเรื่องของอำนาจที่แผ่ซ่านอยู่ในชีวิตประจำวันเหมือนเส้นเลือดฝอย




     นักคิดสกุลโพสต์โมเดิร์นอย่างมิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault, ค.ศ. ๑๙๒๖-๑๙๘๔) ได้เสนอให้มองอำนาจแบบเส้นเลือดฝอยหรือก็คืออำนาจในแนวนอนซึ่งเกี่ยวข้องอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนในทุกๆ ระดับ เป็นอำนาจที่คอยทำหน้าที่กำกับควบคุมสมาชิกในสังคมทั้งที่เป็นแบบควบคุมกันเองและแบบที่กระทำโดยรัฐซึ่งมีลักษณะที่ซับซ้อน ซึมลึก เพราะเป็นอำนาจที่แผ่ซ่านและไหลเวียนอยู่ในทุกอณูและในทุกๆ พื้นที่ของสังคม ไม่ว่าจะเป็นในบ้าน ในคุก ในที่ทำงาน บนท้องถนน (เช่น การขับรถชิดซ้ายซึ่งทุกคนกระทำกันจนกลายเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน การเห็นไฟแดงก็ต้องจอดรถ จะเลี้ยวขวาก็ต้องเปิดไฟกระพริบให้สัญญาณ เป็นต้น) ในโรงพยาบาล และในโรงเรียน



     อำนาจพวกนี้ไม่ได้ไหลทางเดียว แต่ไหลย้อนไปย้อนมา ทุกทิศทุกทาง และไม่อาจระบุทิศทางที่ชัดเจนได้ เพราะมันแผ่ซ่านไปทั่ว เป็นอำนาจที่เหมือนกับว่าทุกคนกระทำกับทุกคน ไม่มีหัวไม่มีหาง เป็นได้ทั้งอำนาจเชิงลบ และอำนาจเชิงบวกเพราะอำนาจแบบนี้มันสร้างอะไรได้ด้วย อาทิเช่น การสถาปนาให้เหตุผล (rationality) มีคุณค่าอยู่เหนือความไม่มีเหตุผล ทำให้เรื่องที่ไม่มีเหตุผลเป็นเรื่องที่ไม่ถูกตามหลักวิชา

อ่านเพิ่มเติมได้ใน

นพพร ประชากุล. (๒๕๕๒). 'มองหลากมุมโพสต์โมเดิร์น' ยอกอักษร ย้อนความคิด. กรุงเทพฯ: อ่าน. หน้า ๔๘๐-๔๘๑.

Thursday, June 26, 2014

ใจกลางของปัญหาการเมืองไทย

จากการที่ผมได้อ่านข้อเขียน ๓ ชิ้น [๑] ของรองศาสตราจารย์ธเนศ วงศ์ยานนาวา ในฐานะบรรณาธิการวารสารทางวิชาการรัฐศาสตร์สาร และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมเข้าใจและตีความจากสิ่งที่อาจารย์ธเนศเขียนได้ว่า ใจกลางของปัญหาการเมืองไทยอยู่ตรงที่การเมือง ศาสนา และระบบเครือญาติ (kinship) เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดังที่อาจารย์ธเนศ เขียนเอาไว้ว่า


"...เพราะเรื่องของเครือญาติสายเลือดลูกหลาน เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดทรัพย์สมบัติและอำนาจที่สืบทอดกันไป ใครจะได้ตำแหน่งได้สมบัติก็เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย เพราะถ้าไม่เป็นไปตามแผนการก็มีการล้มล้างกันได้" [๒]
ข้อเขียนทั้ง ๓ ชิ้นของอาจารย์ธเนศที่ผมนำมาโพสต์ไว้ ณ ที่นี้ ได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากงานชิ้นสำคัญของนักมานุษยวิทยา Marshall Sahlins [๓]

ผมขอคัดเนื้อหาฉบับเต็มๆ เนื้อๆ มาให้ได้อ่านกัน โดยเรียงตามลำดับ [๑] ดังนี้
(๑) สำหรับปี ๒๐๑๔ ก็เป็นปีใหม่ที่ระทึกใจ รุนแรง โดยสภาวะวิตกจริตจะปรากฏตั้งแต่ปลายปี ๒๐๑๓  แสดง "ความต่อเนื่อง" ประหนึ่งเวลาแห่งประวัติศาสตร์ยากที่จะหลุดออกจากผีแห่งกาลเวลาที่กำกับ "ความทรงจำ" ย้อนกลับไปไกลจนถึงเมื่อสี่สิบปีที่แล้ว สี่สิบกว่าปีน้อยๆ แห่งเวลาและความสำนึกแห่งอำนาจของการเมือง "มหาชน" (mass politic) ที่เชื่อมโยงกับปฏิบัติการของเหล่าเครือข่ายชนชั้นไม่ว่าจะเป็นชนชั้นไหน สงครามระหว่างครอบครัว สงครามของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ต่างฝ่ายต่างกระทำในนามของคนอื่นๆ การต่อสู้ของกลุ่มคนไปจนถึงครอบครัวกลายเป็นจักรกลสำคัญของการเปลี่ยนแปลงและการครอบครองอำนาจไปจนถึงการสถาปนาอำนาจ การสถาปนาผ่านกลไกแห่งความเป็นนามธรรมอย่าง "ประชาชน" ที่ "มาก่อนเวลา" และ "หลังเวลา" ไปพร้อมๆ กันประหนึ่งกรอบคิดรัฐธรรมนูญอเมริกัน "We the People" ยังคงหลอกหลอนประหนึ่งผีแห่งรัฐสมัยใหม่ไม่สามารถจะไปทั้งสวรรค์และนรก
      ดังที่ Marshall Sahlins นักมานุษยวิทยาชื่อดังชาวอเมริกันได้กล่าวไว้ว่า 'the elementary forms of kinship, politics and religion, are all in one' โดยสิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็พร้อมเสมอที่จะขัดแย้งกันเองหรือขัดกันภายในตัวเอง ผีของอรชุนก็ยังคงไม่ไปผุดไปเกิด (ดาวน์โหลดต้นฉบับเต็มๆ ได้ ที่นี่)
(๒) แต่สำหรับ Sahlins แล้ว 'the elementary forms of kinship, politics and religion are all in one' นี่เป็นประโยคที่ Sahlins ลงท้ายไว้ในบทความชื่อ "The Stranger-King of Elementary Forms of the Politics of Life" ...ระบบเครือญาติหรือการนับญาติที่ไม่ได้มีความสำคัญกับการเมืองสมัยใหม่อีกต่อไป...แต่พลังของเลือดย่อมข้นกว่าน้ำก็ยังเป็นสิ่งที่เห็นได้จากการเมืองไทยจนทำให้คำกล่าวของ Sahlins ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นสิ่งที่มีความหมาย เพราะเรื่องของเครือญาติสายเลือดลูกหลาน เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดทรัพย์สมบัติและอำนาจที่สืบทอดกันไป ใครจะได้ตำแหน่งได้สมบัติก็เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย เพราะถ้าไม่เป็นไปตามแผนการก็มีการล้มล้างกันได้ ใครเลือกจะอยู่กับอำนาจของใครในอนาคตก็เปรียบประดุจการแทงหวย ถ้าไม่ถูกกินก็ถือว่าโชคดีไป
(๓) สภาวะก่อนสมัยใหม่และสภาวะของสังคมโบราณเป็นสภาวะที่ไม่ได้แยกการเมืองออกจากศาสนา กรอบคิดปรากฏให้เห็นได้ในงานของ Georges Dumezeil กับการศึกษาตำนานของพวกอินโด-ยุโรเปี่ยน ให้ภาพของการเป็นหนึ่งเดียวกันของการเมืองและศาสนา ไปจนถึงทำให้เห็นได้ว่าไม่มีการแยกกันระหว่างตะวันออกและตะวันตก ครั้นถ้าใช้คำของนักมานุษยวิทยาอย่าง Marshall Sahlins แล้ว การเมือง ศาสนา และระบบเครือญาติ (kinship) ทั้งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน...
ดังนั้น ถ้าการเมือง/ศาสนา/เครือญาติ (ครอบครัว) ทั้งหมดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้วก็ทำให้ภาพของการเป็นผู้นำทางศาสนาและผู้นำทางการเมืองตลอดจนความเป็นเครือญาติเป็นอะไรที่แยกจากกันยาก
 อ้างอิง

     [๑] เอกสาร ๓ ชิ้นนี้ได้แก่ (๑) บทบรรณาธิการรัฐศาสตร์สาร ปีที่ ๓๕ ฉบับที่ ๑ (มกราคม-เมษายน ๒๕๕๗)  (๒) กิตติกรรมประกาศของหนังสือ ม (า) นุษย์โรแมนติค (สำนักพิมพ์ศยาม, ๒๕๕๖), หน้า ๗ และ (๓) บทความ Carl Schmitt และเอกเทวนิยม: ตำนานแห่งความเป็นรัฐ/การเมือง ใน รัฐศาสตร์สาร ปีที่ ๓๕ ฉบับที่ ๓ (กันยายน-ธันวาคม ๒๕๕๗), หน้า ๑๓๖.
     [๒] บทบรรณาธิการรัฐศาสตร์สาร ปีที่ ๓๕ ฉบับที่ ๑ (มกราคม-เมษายน ๒๕๕๗)
     [๓] Marshall Sahlins, "The Stranger-King, or Elementary Forms of Politics of Life", Indonesia and the Malay World, Vol. ๓๖, Issues. ๑๐๕ (July, ๒๐๐๘), pp. ๑๗๗-๑๙๙.

พี่เบิ้มในการเมืองไทย


กรอบความคิดอำนาจอธิปัตย์สูงสุดและเป็นเอกภาพปรากฏให้เห็นในความคิดของ Jean Bodin อำนาจขององค์อธิปัตย์นั้นจะอยู่ในระนาบเดียวกันกับผู้ถูกกฎบังคับใช้ไม่ได้ ผู้ใช้กฎใช้ "มือ" บังคับใช้กฎฉันใด ผู้ใช้ "มือ" นั้นก็ไม่สามารถที่จะใช้ "มือ" บังคับใช้ "มือ" นั้นเองได้ ถ้าจะกล่าวอย่างง่ายๆ การมัดมือตนเองเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ผู้ออกกฎจึงเป็นผู้บังคับใช้กฎมากกว่าที่จะเป็นผู้ถูกควบคุมจากกฎ ในแง่นี้ กฎของผู้ออกกฎมีไว้ใช้กับคนอื่นๆ การเป็นองค์อธิปัตย์จึงอยู่เหนือกฎหมาย อำนาจแห่งองค์อธิปัตย์เป็นอำนาจแห่งการสร้างในทำนองเดียวกันอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าแต่เป็นผู้อยู่เหนือสรรพสิ่งที่พระองค์สร้าง 
ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 
บทนำ Carl Schmitt: "ตำนานแห่งเทว ว่าด้วยมิตรและศัตรู"
รัฐศาสตร์สาร ปีที่ ๓๕ ฉบับที่ ๓ (กันยายน-ธันวาคม ๒๕๕๗), น.  ๑๘-๑๙ 

Wednesday, June 25, 2014

ว่าด้วยคำว่ารัฐ

คำว่า รัฐ อาจสรุปในเชิงแนวคิดได้ว่าคือ 
1) รัฐบาล 
2) ระบบราชการหรือการบริหาร 
3) ชนชั้นปกครอง 
4) ระเบียบในเชิงปทัสถานอย่างที่ Clifford Geertz เรียกว่า “Negara” 

สำหรับนักวิชาการอื่นๆ สรุปรวบยอดแนวคิดรัฐว่าเป็นองค์การทางการเมืองที่ซับซ้อนประกอบด้วยองค์ประกอบ 10 ประการต่อไปนี้ คือ 
1) เขตแดน 2) ประชากร 3) ความต่อเนื่อง 4) รัฐบาล 5) หน้าที่ด้านต่างๆ (ความมั่นคง, กฎระเบียบ, ความยุติธรรม, สวัสดิการ) 6) ทรัพยากร 7) การคลัง 8) ระบบราชการ 9) อำนาจอธิปไตย และ 
10) การดำรงอยู่ของส่วนอื่นๆ ของสังคมภายในรัฐ

แต่สิ่งที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับรัฐในแง่ที่เป็น จินตกรรม/จินตนาการ ก็คือองค์ประกอบในข้อที่ 3) ว่าด้วยความต่อเนื่อง กับข้อที่ 9) อำนาจอธิปไตย ซึ่งองค์ประกอบ 2 ประการนี้สัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด

สำหรับอำนาจอธิปไตยนั้นได้ให้องค์ประกอบที่จำเป็นในการถ่ายโอนสิ่งที่เป็นนามธรรมไปสู่ความเข้าใจของประชาชนในรัฐ ขณะที่ความต่อเนื่องทำหน้าที่เชื่อมโยงสิ่งที่เป็นนามธรรม ประวัติศาสตร์มีบทบาทอย่างสำคัญในการเชื่อมโยง 2 องค์ประกอบดังกล่าวนี้ เพราะเหตุว่า อำนาจของประวัติศาสตร์นั้นไม่ได้อยู่ที่เอกสารตำราในเชิงวิชาการและไม่ได้เป็นเรื่องของเหตุการณ์ตามลำดับกาลเวลา แต่ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของการให้ความหมายในเชิงวัตถุวิสัยโดยผู้คนกลุ่มหนึ่งๆ ในฐานะชนชั้นปกครองได้หยิบยื่นให้แก่ประวัติศาสตร์ในฐานะที่พวกเขาพยายามอย่างหนักที่จะรักษาชุมชนจินตกรรมของพวกเขาเอาไว้ซึ่งมันจะช่วยนิยามความเป็นวิถีชีวิตของพวกเขาหรือชนชั้นของผู้ปกครองเอาไว้

ความเมตตากรุณาแบบไทยๆ

กล่าวได้ว่าชนชั้นกลางในสังคมไทยเป็นกลุ่มคนที่มีความ "เมตตากรุณา" ฝังอยู่ แต่ความ "เมตตากรุณา" เป็นความรู้สึกที่มีเงื่อนไขกำกับอยู่ด้วย นั่นคือเป็นความ "เมตตากรุณา" ต่อผู้ที่อยู่เบื้องล่างและต้องเป็นผู้ที่ไม่เผยตนขึ้นมาเท่าเทียมเป็นอันขาด

หากเผยอขึ้นมาเท่าเทียม ก็ไม่สามารถแสดงความเมตตาได้ ปฏิบัติการต่อความอยุติธรรมที่ผ่านมาของสังคมไทย จึงเป็นการแสดงความ "เมตตากรุณา" ต่อผู้ที่ต้องยอมสยบอยู่ภายใต้ความอยุติธรรมนั้น และเมื่อได้รับความ "เมตตากรุณา" ไปแล้ว ก็ต้องสำนึกในบุญคุณให้มากและต้องตอบแทนบุญคุณด้วย (หน้า ๑๓๓)

รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม

"รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม" คำคำนี้มาจากบทความชิ้นสำคัญของศาสตราจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรื่อง รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย (Thailand’s ‘‘cultural constitution’’) ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับประจำเดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๔ ปีที่ ๑๓ ฉบับที่ ๑

ต่อมาได้มีการพิมพ์รวมเล่มร่วมกับงานเขียนชิ้นอื่นๆ ของนิธิ ในชื่อหนังสือว่า ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์ ว่าด้วยวัฒนธรรม, รัฐ และรูปการจิตสำนึก (พิมพ์ครั้งแรกเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๘ พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๔๗ พิมพ์ครั้งที่ ๓ แล้วหรือไม่ผมไม่แน่ใจ แต่ที่มีอยู่ในมือคือฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ สำนักพิมพ์มติชน)


ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ เขียนถึงบทความชิ้นดังกล่าวของนิธิ เอียวศรีวงศ์ข้างต้นเอาไว้ว่า
กล่าวโดยรวบรัดที่สุด ข้อเสนอของนิธิในบทความนี้คือ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในการเมืองไทย ถูกกำหนดจากวัฒนธรรมยิ่งกว่าตัวบทซึ่งถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ...ขณะที่รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรในสังคมไทยต่ำต้อยจนถูกฉีกได้ทุกฉบับ รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมกลับเปลี่ยนยาก...
 เมื่ออ่านบทความนี้ต่อไป ผู้อ่านจะค้นพบความไม่ลงรอยระหว่างรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร กับ "รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม" ถึงขั้นเรียนรู้ว่า "รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม" มีสถานะสูงส่งกว่ารัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร...
นิธีบรรยายเรื่องนี้ละเอียด...พูดคราวๆ คือความคิดต่อสถาบันแทรกตัวในวัฒนธรรมไทยจนยากที่จะขาดสถาบันไปได้, สังคมไทยไม่ได้บัญญัติให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ก็ไม่แยกศาสนาจากเรื่องทางโลกแบบตะวันตก, คนไทยต้องการให้ทหารมีอิทธิพลทางการเมือง...[๑]
เมื่อลองนำรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทยมาใช้อธิบายการเมืองไทยสมัยทักษิณ ชินวัตร ศาสตราจารย์อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ เขียนไว้อย่างน่าสนใจยิ่งในหนังสือ "ประชาธิปไตย" คนไม่เท่ากัน (มีนาคม ๒๕๕๗) ว่า
พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นกลุ่มทุนใหม่ที่เพิ่งเติบโตขึ้นมานั้นไม่ยอมปฏิบัติตาม "รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมของชนชั้นสูง" และได้กระทำการอัน "สั่นคลอน" โครงสร้างอำนาจที่ได้รับการสถาปนาขึ้นมาในทศวรรษ ๒๕๒๐ เป็นต้นมา [๒]


พูดโดยสรุปรวบรัด ในบทความของนิธินั้น นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้ฟันธงลงไปเลยว่า
วัฒนธรรมทางการเมืองคือรัฐธรรมนูญที่แท้จริงของรัฐ
เพราะฉะนั้น การจะเข้าใจสังคมการเมืองไทยให้ถ่องแท้ที่สุดก็ต้องเข้าใจวัฒนธรรมไทยนั่นเอง ดังที่ Andrew Walker จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย กล่าวสรุปงานของนิธิไว้ในบทความชิ้นนี้ (The rural constitution and the everyday politics of
elections in Northern Thailand) ของเขา http://asiapacific.anu.edu.au/newmandala/wp-content/uploads/2008/05/walker-2008.pdf เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า

For Nidhi, this "cultural constitution" is much more important than any written document in accounting for the underlying rationale of Thai political life.
สำหรับผู้ที่สนใจ รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย ๒๕๕๗ ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ อ่านภาษาไทยกันได้ ที่นี่ และภาษาอังกฤษ ที่นี่
เชิงอรรถ

[๑] ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์. (๒๕๕๗). บทความพิเศษ: อ่านประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย (๕). มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ ๒๐-๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๗ ปีที่ ๓๔ ฉบับที่ ๑๗๖๖, น. ๓๒.

[๒] อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์. (๒๕๕๗). "ประชาธิปไตย" คนไม่เท่ากัน. กรุงเทพฯ: มติชน.






อะไรคือปัญหาเชิงโครงสร้าง

ผมเคยเขียนและโพสต์ถึงปัญหาในเชิงโครงสร้างไว้ในบล็อกหนึ่งแล้ว
ดูที่นี่ http://s3930201.blogspot.com/2014/06/3.html

แต่ก็อยากจะเขียนเพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติมในรายละเอียดอีก เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยสร้างความเข้าใจไขความกระจ่างให้กับคนทั่วๆ ไปที่ยังดูปัญหาระดับนี้ (ระดับโครงสร้าง) ไม่ออก ผมอยากจะยกตัวอย่างอันหนึ่งซึ่งอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุลกล่าวปาฐกถาพิเศษเอาไว้เนื่องในงานเปิด "หมุด ๑๔ ตุลา" จัดโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๖ ณ บริเวณลานโพธิ์ท่าพระจันทร์ ชื่อของปาฐกถานี้ คือ "ความฝันเดือนตุลา: ๔๐ ปีแห่งการแสวงหาเสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นธรรมในประเทศไทย"



อาจารย์เสกสรรค์ ได้กล่าวไว้ช่วงหนึ่งซึ่งน่าสนใจมากสำหรับผม เนื้อหาดังกล่าวเป็นการแยกประเด็นให้เห็นชัดเจนระหว่างปัญหาในระดับตัวบุคคล กับปัญหาในระดับโครงสร้าง ดังนี้

ผู้คนในประเทศไทยควรจะต้องตระหนักให้มากขึ้นว่าปัญหาของประเทศไม่ได้เกิดจากการโกงบ้านกินเมืองอย่างเดียว แม้ว่าสิ่งนั้นจะมีจริงและสมควรแก้ไข แต่คนที่ดูเหมือนมือสะอาดก็ใช่ว่าจะผุดผ่องอันใดนักหนา เพราะเงื่อนไขที่ก่อเรื่องมากกว่าคือ ระบบที่ทำให้คนจำนวนหนึ่งรวยได้อย่างเหลือล้นโดยไม่ต้องโกง ขณะคนส่วนใหญ่ลำบากได้อย่างเหลือเชื่อทั้งๆ ที่ไม่ได้เกียจคร้าน  (ตัวหนานี่ผมเน้นเองนะครับ)
จะเห็นได้ว่าการมองทะลุปัญหาตัวบุคคลเพื่อจะให้เห็นไปถึงปัญหาในระดับโครงสร้างนั้น ต้องอาศัยระดับการมองที่สูงขึ้นไป ในทัศนะผมเห็นว่าเป็นปัญหาใหญ่ เพราะคนส่วนใหญ่มองเห็นแต่ระดับบุคคลเช่นว่า ชีวิตลำบากเพราะเกียจคร้าน ไม่ขยัน  (เหมือนอย่างในภาพข้างล่างนี้ที่เป็นวาทกรรมที่ว่า "คนเรามีต้นทุนชีวิตไม่เท่ากัน" แต่ไม่เคยถามต่อว่า โครงสร้างอะไรที่ทำให้คนเรามีต้นทุนชีวิตที่ไม่เท่ากัน)

ทั้งๆ ที่เมื่อมองในระดับโครงสร้างหรือที่อาจารย์เสกสรรค์ใช้คำว่า "ระบบ" ก็จะเห็น "ความจริง" อีกอย่างที่อยู่เหนือขึ้นไปและมีส่วนในการกำหนดตัวบุคคล เพราะถ้าระบบหรือโครงสร้างไม่ได้รับการปรับเปลี่ยนหรือแก้ไข ขยันให้ตาย ชีวิตก็ไม่ได้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแต่ประการใด ในทางตรงกันข้าม สำหรับโครงสร้างที่เอื้อให้กับคนบางกลุ่ม ถึงแม้เขาไม่ต้องออกแรงขยันอะไรเลย แต่ทุกอย่างก็เอื้อให้ชีวิตดีขึ้น เราเรียกลักษณะเช่นนี้ว่า ปัญหาระดับโครงสร้างนั่นเอง



ปัญหาระดับโครงสร้างนี้นี่เองที่ทำให้สังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำกันสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับสังคมอื่น อย่างที่นักวิชาการมักเรียกกันว่า "รวยกระจุก จนกระจาย" นั่นเอง

Monday, June 23, 2014

สังคมปิดหูปิดตา


เชื่อได้เลยว่าหลายคนยังไม่เคยอ่าน

๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕

วันนี้เมื่อ ๘๒ ปีที่แล้วกับประกาศคณะราษฎร์ ฉบับที่ ๑


เชื่อได้เลยว่าหลายคนยังไม่เคยอ่าน

http://thaibalsta.org/uploads/king/manifest1.pdf


แสนยนิยมคืออัลไล

แสนยนิยม (Militarism)
 คือแนวคิดนิยมทหาร ได้แก่ การที่ประชาชนยอมรับค่านิยมที่เกี่ยวกับทหาร ความรักชาติ ความมีระเบียบวินัยเข้มงวด ความเข้มแข็ง ความแข็งแกร่ง ซึ่งอาจนำไปสู่การยอมให้ทหารมาปกครองประเทศ หรือการนิยมใช้กำลังทหารเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายทั้งในประเทศและต่างประเทศ

รัฐบาลทหาร (Military Government)
คือการปกครองโดยคณะทหาร ภายหลังจากการยึดครองอำนาจรัฐด้วยกำลังทหาร และจัดการปกครองด้วยอำนาจเผด็จการ ผู้ปกครองใช้อำนาจการตัดสินใจโดยไม่ใช้กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย ในบางครั้งใช้วิธีการควบคุมบังคับและการลงโทษที่รุนแรงเด็ดขาดกับฝ่ายที่คัดค้านไม่เห็นด้วยในทางการเมือง ใม่ใช้กระบวนการพิจารณาคดีตามหลักนิติธรรม ในบางกรณีรัฐบาลทหารได้เป็นรัฐบาลอยู่นาน เพราะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนบางส่วนที่นิยมการมีผู้นำที่เข้มแข็ง เช่น รัฐบาลของพันโท อับเดล นัสเซอร์ (Abdel Nasser) แห่งประเทศอียิปต์ ที่ก่อรัฐประหารใน ค.ศ. ๑๙๕๒ และต่อมาได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีใน ค.ศ. ๑๙๕๖ จนกระทั่งถึงแก่กรรมใน ค.ศ. ๑๙๗๐ การปกครองของนายพลปิโนเชต (Pinochet) ในประเทศชิลี ระหว่าง ค.ศ.๑๙๗๓ - ๑๙๘๙ การปกครองของนายพลซูฮาร์โต ในประเทศอินโดนีเซีย ค.ศ. ๑๙๖๘ การปกครองโดยรัฐบาลทหารในสหภาพพม่าตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๖๒ จนถึงปัจจุบัน การปกครองประเทศไทยภายหลังการปฏิวัติเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑ โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จนถึงวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยใน พ.ศ. ๒๕๑๑
สฤษดิ์ ธนะรัชต์

แหล่งที่มา
ราชบัณฑิตยสถาน. (๒๕๕๖). พจนานุกรมศัพท์รัฐศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: อรุณการพิมพ์. น. ๑๗๐ - ๑๗๑. 

Sunday, June 22, 2014

ความคิดประชาธิปไตยแบบไทย


ท่านใดสนใจวิทยานิพนธ์เล่มนี้ของ 
เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช. (๒๕๓๖). ความคิดประชาธิปไตยแบบไทย
วิทยานิพนธ์หลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการปกครอง 
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 

ดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็มได้ที่นี่ http://tdc.thailis.or.th/tdc/search_result.php

หรือจะดูงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเรื่องนี้ Thai-Style Democracy 
ที่นี่ https://www.dropbox.com/s/5ps6h09plb4zc8h/Hewison%20Thai-Style-Democracy-Chula-2009.pdf
หรือ
ที่นี่ http://www.prachatai.com/english/node/1292

๒ ทัศนะตรงข้ามว่าด้วยรัฐประหาร

ลิงก์ต่อไปนี้เป็น ๒ ข้อเขียนทางด้านวิชาการ เขียนโดยศาสตราจารย์ทั้งคู่


คนแรกให้เหตุผลสนับสนุนการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙
ลิงก์นี้ http://www.thaiworld.org/thn/thailand_monitor/answera2.php?question_id=578

ส่วนอีกคนเห็นตรงข้ามและกล่าวสรุปฟันธงทิ้งท้ายเอาไว้ว่า
"รัฐประหารคราวนี้ (๑๙ กันยายน ๒๕๔๙) เราได้เห็นความคิดที่ฝังลึกในภูมิปัญญาของปัญญาชนเหล่านี้ชัดเจน กรอบของความคิดนี้มีคนเรียกว่าประชาธิปไตยแบบภูมิปัญญาไทย แต่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นอภิชนาธิปไตยที่มีประชาธิปไตยเป็นแต่เปลือก"
คลิกอ่านที่นี่ http://invisiblenews.exteen.com/20061108/entry-1

อ่านและพิจารณากันเอาเองนะครับ

ระบอบการปกครองแบบไทยๆ

ปกติ เวลาผมเขียนหรือโพสต์เนื้อหาอะไรใส่ไปในโลกออนไลน์ ผมมีกลุ่มเป้าหมายมุ่งไปที่บุคคลทั่วๆ ไป โดยเฉพาะพวกคนชั้นกลางเป็นหลัก ไม่ได้มีเจตนาโดยตรงที่จะให้พวกนักวิชาการ นักศึกษาปริญญาโทหรือนักศึกษาปริญญาเอก หรือบรรดาอาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้รู้หรือนักปราชญ์อ่าน

เป้าหมายแท้จริงของผมมุ่งจะให้ข้อมูลกับคนทั่วๆ ไปที่เป็นคนชั้นกลางๆ ที่ไม่ประสีประสากับเรื่องราวทางการเมือง รัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ให้ได้คิดกับข้อมูลที่ผมเสนอออกไป

เนื้อหาต่อไปนี้ก็เช่นกัน ผมไม่อยากอ้างแหล่งที่มา เพราะไม่อยากจะให้สนใจว่าใครเป็นคนเขียน เอาเป็นว่าให้สนใจเนื้อหาที่เขาเขียนก็แล้วกัน ก็เหมือนๆ กับการเสนอให้สนใจที่เนื้อหาอย่าสนใจว่าเอามาจากเว็บไซต์ไหนหรือใครเป็นคนพูด แต่ให้ดูว่าเขาพูดหรือเขียนว่าอะไร จากนั้นก็ให้ผู้อ่านลองเก็บเอาไปคิดเองหรือถ้าหากมีเวลาก็ค้นคว้าเพิ่มเติมต่อเอาเอง

ระบอบการปกครองแบบไทยๆ



ปัจจุบันเราเรียกระบอบการปกครอง หรือ form of government ของไทยเราว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ควรที่จะเรียกอีกแบบหนึ่ง คือ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีคณะรัฐมนตรีบริหารราชการ ... เป็นรูปแบบที่จงใจจะจำกัดความหลากหลาย ไม่ใช่เฉพาะในเชิงสังคมวัฒนธรรมอย่างเดียวเท่านั้น แต่ทว่าเป็นการจำกัดความหลากหลายในระดับที่ผมเรียกว่า ระดับ existentialist (การดำรงอยู่) เป็นความหลากหลายในเชิงความเป็นตัวตนของมนุษย์ ใน existential activity (กิจกรรมการดำรงอยู่) หรือเป็น existential diversity (ความหลากหลายของการดำรงอยู่) 
 โดยพื้นฐานแล้ว ความเป็นมนุษย์เราคืออะไร ในความคิดผม สิ่งที่เป็นหัวใจของมนุษย์เลยคือ freedom คือ เสรีภาพ* ... ถ้ามนุษย์ไม่สามารถจะคิดอะไรที่อยากจะคิดได้ ไม่สามารถที่จะพูดอะไรในสิ่งที่ตัวเองอยากพูดได้ ก็ไม่ใช่มนุษย์แล้ว ฉะนั้น โดยระบอบการปกครองแบบนี้ เนื้อแท้ของมันออกแบบให้จำกัด existence ของเรา

*เสรีภาพ (freedom) : ความมีเสรี สภาพที่เป็นอิสระ หมายความถึงสิทธิของบุคคลที่จะกระทำการใดๆ ได้อย่างอิสระ โดยไม่เป็นการล่วงล้ำสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น และไม่เป็นกรขัดต่อกฎหมาย เสรีภาพแบ่งออกเป็นเสรีภาพในฐานะที่เป็นมนุษย์ หรือสิทธิของมนุษยชน และเสรีภาพในฐานะที่เป็นพลเมืองของประเทศ

เสรีภาพในฐานะที่เป็นมนุษย์ เช่น เสรีภาพในร่างกาย เสรีภาพในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัว เสรีภาพในเคหสถาน เสรีภาพในการถือศาสนา เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในทางวิชาการ

ส่วนเสรีภาพในฐานะที่เป็นพลเมืองของประเทศ เช่น เสรีภาพในการมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ เสรีภาพในการชุมนุม เสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม เป็นพรรคการเมือง
พจนานุกรมศัพท์รัฐศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, น. ๑๑๘


Saturday, June 21, 2014

สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย

อย่าอคติ พอเห็นว่าเป็นเว็บไซต์ 'ประชาไท' ก็ไม่คิดจะเปิดใจเรียนรู้หรือเปิดใจอ่านเนื้อหาข้างใน
หากมีหัวใจที่ใฝ่เรียนรู้ โดยเฉพาะเรื่องราวทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย ผมขอแนะนำให้ลองอ่านบทความชิ้นนี้ดู แม้จะเป็นเว็บไซต์ที่เราไม่ชอบหรือรังเกียจก็ตาม ลองเปิดใจ (open mind) อ่านดู


 



"ในที่สุด โอกาสครอบรอบ 82 ปีประชาธิปไตยไทยก็ได้เวียนมาถึงอีกครั้ง ในบรรยากาศที่เหลือเชื่อจนผู้ก่อการคณะราษฎรไม่มีทางที่จะสร้างจินตนาการล่วงหน้าได้ว่า ประชาธิปไตยจะมีการพัฒนาลดเลี้ยวอย่างนี้ ในโอกาสนี้ก็อยากจะทบทวนเล่าถึงคณะราษฎร ซึ่งเป็นกองหน้าที่นำประชาธิปไตยมาสู่สังคมไทย แม้ว่าจะถูกฝ่ายขุนศึกและพวกอนุรักษ์นิยมสลิ่มทำลายเสียมากมายก็ตาม




คณะราษฎรเริ่มต้นโดยนักเรียนไทยในปารีส 2 คน คือ นายปรีดี พนมยงค์ นักเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม และ นายประยูร ภมรมนตรี นักเรียนทุนส่วนตัวที่ไปเรียนวิชารัฐศาสตร์ ทั้งสองคนได้แลกเปลี่ยนกันเรื่องปัญหาการเมืองของประแทศสยามเสมอ วันหนึ่งในเดือนสิงหาคมของ พ.ศ.2467 ทั้งสองคนไปกินอาหารที่ร้านอังรีมาร์แตง นายประยูรจึงชักชวนนายปรีดีว่า “เราได้พูดเรื่องการเมืองมามากแล้ว สมควรจะลงมือเสียที” นายปรีดีก็ตอบตกลง แต่ต่อมาอีก 2-3 วันนายปรีดีเกิดความไม่แน่ใจ เพราะคุณประยูรเป็นนายทหารมหาดเล็กของรัชกาลที่ 6 มาก่อน อาจะเป็นสายลับมาลวงล่อ จึงมาถามคุณประยูรว่าที่คุยกันไว้จะเอาจริงหรือ คุณประยูรก็ยืนยัน เพราะเห็นว่าบ้านเมืองควรจะเปลี่ยนแปลงเป็นระบอบรัฐธรรมนูญเช่นอารยประเทศ และถือเป็นการแบ่งเบาภาระของพระมหากษัตริย์"

ที่มา http://prachatai.org/journal/2014/06/54152

อันที่จริง ผู้เขียนบทความชิ้นนี้ เคยทำวิจัยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยไว้หลายชิ้น แต่ชิ้นหนึ่งที่ผมอยากแนะนำให้อ่านจริงๆ จะได้รู้ที่มาที่ไปของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศนี้

เล่มนี้เลยครับ สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย แล้วท่านจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไรในประเทศนี้
https://www.dropbox.com/s/u5869u9bmh4rni9/%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%98%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%9B%E0%B9%84%E0%B8%95%E0%B8%A2%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2.pdf

ลุงกำนันไม่ได้ทิ้ง แต่ชิ่งแระ


อ่านข่าวฉบับเต็ม ที่นี่ http://www.manager.co.th/AstvWeekend/ViewNews.aspx?newsid=9570000069782


เห็นภาพ “ลุงกำนัน-สุเทพ เทือกสุบรรณ” เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)ใส่อุปกรณ์ระโยงรยางค์หลังผ่าตัดหัวไหล่แล้ว ก็รู้สึกเห็นใจในความเสียสละที่อาสามาเป็นผู้นำมวลมหาประชาชนยิ่งนัก
       
           แต่วันนี้ ดูเหมือนว่า ลุงกำนันของมวลมหาประชาชนจะดูสบายอกสบายใจขึ้นเป็นกอง เนื่องจากภาระในการ “ปฏิรูป” ที่ชูธงในการชุมนุมได้ถูกปลดเปลื้องพันธนาการออกไปจนหมดสิ้น...

ปัญหาการศึกษาไทยอยู่ตรงไหน


      บทความนี้มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ ประการแรก ชี้ให้เห็นถึงกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างสำคัญในฐานะที่เป็นบริบทสภาพแวดล้อมทางการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทย ประการที่สอง เสนอข้อถกเถียงว่าการนำนโยบายหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานไปปฏิบัติยังคงอยู่ภายใต้กรอบโครงสร้างเดิมและไม่อาจปรับตัวตามกระแสการเปลี่ยนแปลงได้ทัน บทความนี้เป็นการศึกษางานวิจัยและการทบทวนวรรณกรรม จากการศึกษาพบว่า แม้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยได้มีการใช้มาแล้ว 2 ฉบับนับตั้งแต่ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และกำลังจะมีการประกาศใช้ฉบับใหม่ซึ่งมีการปรับเนื้อหากลุ่มสาระวิชาที่ลดลง แต่ยังคงเน้นหลักสูตรอิงมาตรฐาน อย่างไรก็ดี จากการศึกษาพบว่า ในแง่ของการนำนโยบายหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานไปปฏิบัติยังคงไม่สอดคล้องอย่างมีนัยสำคัญกับบริบทสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง เพราะติดอยู่กับกรอบคิดในระดับโครงสร้างเดิม 3 ประการ กล่าวคือ 
     (1) หลักสูตรยังคงดำเนินไปภายใต้โครงสร้างแบบรวมศูนย์อำนาจโดยมีระบบราชการจากส่วนกลางเป็นกลไกขับเคลื่อน 
     (2) หลักสูตรยังคงอิงอยู่กับโครงสร้างของกรอบคิดตามทฤษฎีการนำนโยบายไปปฏิบัติแบบบนลงล่าง และ 
     (3) โครงสร้างวิธีคิดและปรัชญาเบื้องหลังของหลักสูตรยังคงมีลักษณะของความเป็นอนุรักษนิยมอันเป็นผลมาจากอิทธิพลทางด้านอุดมการณ์หลักที่ครอบงำการศึกษาไทยมาอย่างยาวนาน สำหรับข้อเสนอแนะมี 2 ประการ คือ (1) การปรับโครงสร้างกรอบคิดใหม่ด้วยการกลับหัวกลับหางโครงสร้างกรอบคิดเดิม กล่าวคือ เน้นการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง ยึดแนวทางทฤษฎีการนำนโยบายไปปฏิบัติจากล่างสู่บน และเน้นปรัชญาที่มีลักษณะเสรีนิยมมากขึ้น และ (2) ในการแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษา พึงตระหนักว่า หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานถือเป็นองค์ประกอบที่จำเป็นอันจะขาดเสียมิได้ในการแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษา และยังจะต้องตระหนักอีกด้วยว่า ในการแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยให้ประสบผลสำเร็จได้นั้น เงื่อนไขในเชิงบริบทสภาพแวดล้อมทั้งระดับโลกและระดับภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริบทสภาพแวดล้อมของการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนมีความสำคัญอย่างมากและขาดไม่ได้ในการนำเข้ามาพิจารณาเพื่อแก้ปัญหา

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่นี่
https://www.dropbox.com/s/dg7a443ban73q8r/%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%99.pdf

แด่ผู้ที่สนับสนุนรัฐประหาร

ถ้าคนไทยยังรับได้กับการทำรัฐประหารยึดอำนาจของทหาร จะด้วยเหตุผลอันใดก็แล้วแต่
เลิกพูดถึงเรื่องการสร้างประชาธิปไตยแบบสากลกันได้เลย เพราะหัวใจของประชาธิปไตยก็คือการไม่รัฐประหารยึดอำนาจพรากอำนาจ 'อธิปไตย' ไปจากประชาชน ซึ่งตัวเราเองทุกคนต่างก็เป็นประชาชนคนหนึ่งนั่นเอง

การรัฐประหารยึดอำนาจก็คือการยึดอำนาจของประชาชน แล้วสถาปนาระบอบการปกครองของผู้ยึดอำนาจเองซึ่งมีได้หลายรูปแบบด้วยกัน ทั้งที่เป็นแบบคณะบุคคล (คณาธิปไตย/อภิชนาธิปไตย) หรือโดยคนๆ เดียว (ทรราชย์/ราชาธิปไตย) แต่ทั้งหมดก็ล้วนเป็นเผด็จการทั้งนั้น

ที่มาของภาพ
ส.ศิวรักษ์. (๒๕๔๓). แนวคิดทางปรัชญาการเมืองของอริสโตเติล. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: ศยาม.

หากว่ายังรับได้หรือให้การสนับสนุนกับการรัฐประหารยึดอำนาจ ก็อย่ามาอ้างเรื่องศักดิ์ศรี สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และความยุติธรรมกันเลย เพราะท่านได้ยกของพวกนี้ไปให้คนที่ยึดอำนาจจากท่านไปเรียบร้อยแล้ว เขาจะทำอะไรมันก็เรื่องของเขา จะแก้กฏหมาย ล้มล้างรัฐธรรมนูญ เขียนกติกาอะไรใหม่ เรียกใครให้มารายงานตัว จำคุก กักขัง บังคับ จำกัดสิทธิเสรีภาพและการแสดงออกมันก็เรื่องของเขาไม่จำต้องปรึกษาท่านหรือตัวแทนของท่าน (ส.ส.) แต่อย่างใด

ในนามของสิ่งที่คณะรัฐประหารอ้าง ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะอ้างเพื่อความสงบเรียบร้อยและรักษาระเบียบทางสังคม (social order) เพื่อประโยชน์ของประเทศ เพื่อแผ่นดิน เพื่อคุณงามความดีหรือศีลธรรมส้นตีนหมาอะไรก็ตามเถอะ หรือเพื่อความมั่นคง เพื่อความผาสุกของคนทั้งหมด และเพื่ออะไรต่อมิอะไรอีกมากมายแล้วแต่จะอ้าง เขาเหล่านั้นจะทำสิ่งต่างๆ ให้เอง ไว้ใจเขา เชื่อมั่นเขา คาดหวังเอาได้จากเขา

ในระบอบแบบนี้ บอกได้เลยว่า ไม่ใช่ประชาธิปไตยหรือระบอบที่ประชาชนเป็นใหญ่ แต่เป็นระบอบที่ท่านสนับสนุนให้ทำลายศักดิ์ศรีและเสรีภาพของตัวท่านเอง

ท่านอาจจะชอบ เพราะมันดูรวดเร็วดี จัดการปัญหาอะไรต่างๆ ได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ถูกกับจริตของตัวเองที่ชอบอะไรที่เป็น 'อัศวินขี่ม้าขาว' หรือเหมือนในหนังภาพยนตร์ที่มีพระเอกเข้ามาจัดการกับเหล่าร้าย แต่นั่นมันในหนัง ชีวิตจริงไม่มีใครเป็นผู้ร้ายได้ตลอดกาล และไม่มีใครเป็นพระเอกได้ตลอดไป เพราะมนุษย์เรามีดีมีชั่ว ชั่วๆ ดีๆ มีขาวมีดำในตัวคนคนเดียวกันนี้คละเคล้าปะปนกันไป อีกทั้งยังมีผลประโยชน์ของตัวเอง มีเพื่อนพ้องน้องพี่ของกลุ่มตัวเอง ขององค์กรตัวเอง ของสถาบันตัวเองที่ต้องรักษาและปกป้องกันทั้งนั้น ไม่เว้นแม้แต่วงการทหาร หากศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองทั้งของโลกและของไทยท่านก็จะเข้าใจเรื่องนี้ได้ดีทีเดียว

เพราะฉะนั้น อย่าได้หวังว่าในโลกแห่งความเป็นจริงจะมีอัศวินขี่ม้าขาวมาแก้ปัญหาให้กับโลก ไม่เชื่อก็ขอให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ก็แล้วกัน

หากรัฐประหารมันดีจริง ประเทศไทยคงไม่ต้องมีการรัฐประหารมากมายติดอันดับโลกหรอกครับ และปัญหาใหญ่ๆ ในประเทศนี้คงแก้ได้ไปนานแล้ว

แต่ที่ประเทศนี้ยังมีรัฐประหารอยู่ ก็เพราะมีวิธีคิดของคนจำนวนหนึ่ง (ผมเรียกว่าคนชั้นกลางระดับบนทั้งกรุงเทพฯ ในเมืองและต่างจังหวัด) ที่ยังคงให้การสนับสนุน ส่งเสริม ไม่เปลี่ยนแปลงในวิธีคิด ยอมรับ อำนาจของคนอื่น ยอมทน ยอมเสียศักดิ์ศรีของตัวเอง เพื่อหวังจะแก้ปัญหาให้กับประเทศนี้แบบมักง่าย เอาแต่ได้ ไม่สนใจวิธีการว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องวัฒนธรรมที่ต้องแก้ไขและเรียนรู้กันไปซึ่งผมประเมินว่าอาจต้องใช้เวลานับทศวรรษ หรือชั่วรุ่นอายุคนกันเลยทีเดียว

ตราบใดที่วิธีคิดของท่านยังคงให้ท้ายหรือสนับสนุนให้ทหารรัฐประหารยึดอำนาจ ตราบนั้นประชาธิปไตยแบบที่สากลโลกยอมรับคงไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย และเราก็คงต้องเรียนรู้อะไร อะไรกันไปอีกนาน

ความยุติธรรมในประเทศไทย

ข่าวกรณีของจาตุรนต์ ฉายแสง 
ชวนให้นึกถึงหนังสือแปล เล่มนี้

บทสนทนาตอนหนึ่งในหนังสือชวนให้ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับ 
"ความยุติธรรมในประเทศนี้" 
ว่า มันเหมือนหรือต่างจาก "ความยุติธรรม" ตามสามัญสำนึกของเราอย่างไร?

ทนายจำเลย คลาริสซ่า 
                ท่านได้รับฟังหลักฐานจากผู้เชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์หลายต่อหลายท่านว่าการตรวจ
สอบดินระเบิดเจลิกไนต์ที่ใช้เป็นพื้นฐานมาตัดสินว่าผู้ยื่นอุทธรณ์มีความผิดนั้น ล้วนแต่เชื่อถือไม่ได้
ทั้งสิ้น เชื่อถือไม่ได้พอๆ กับหลักฐานของนักพิสูจน์ลายนิ้วมือที่ฝ่ายอัยการใช้มาฟ้องร้องดำเนินคดี...
             ท่านได้ฟังหลักฐานจากเจ้าหน้าที่เรือนจำจำนวนหนึ่งว่าผู้ยื่นอุทธรณ์ถูกซ้อมสะบักสะบอม
ว่าที่พวกเขาตาเขียวช้ำ ซี่โครงหักและมีบาดแผลถลอกปอกเปิกนั้นหาใช่เกิดจากนิสัยวิตถารประเภท
อยู่ดีๆ ก็ชอบทุ่มตัวตกบันไดลงมาซึ่งทั้งห้ามีตรงกันตามที่เจ้าหน้าที่กล่าวอ้างในตอนนั้นไม่
              ท่านได้ฟังและเห็นหลักฐานที่มิอาจบ่ายเบี่ยงเป็นอื่นได้ว่าบันทึกที่จดปากคำผู้ยื่นอุทธรณ์
นั้นได้ถูกปลอมแปลงขึ้นภายหลังโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ทำการสอบสวน เราพิสูจน์จนได้ข้อยุติว่า
เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รับผิดชอบคดีนี้ เมื่อรังแกข่มขู่ลูกความของดิฉันจนรีดเค้นเอาคำสารภาพได้แล้วยัง
มิหนำใจ ก็ถึงกับตกแต่งแก้ไขหลักฐานของตนเองโดยเขียนหน้าต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ในสมุด
บันทึกของพวกเขาขึ้นใหม่หมด

อัยการ ออกุสตุส 
                เพื่อนผู้รอบรู้ของกระผมขอให้เรายอมรับว่ามีข้อสงสัยที่มีเหตุผลว่าผู้ยื่นอุทธรณ์เป็นตัว
การวางระเบิดร้านกาแฟแมวกับแตงจริงหรือไม่ ทว่าท่านผู้พิพากษาที่เคารพ อะไรหรือคือข้อสงสัยที่
มีเหตุผล? เมื่อไหร่จึงมีเหตุผลที่จะสงสัย? ใครกันที่เรามีเหตุผลจะสงสัย?.....
              “ท่านผู้พิพากษาที่เคารพ กระผมต้องขอถามว่ามีเหตุผลหรือไม่ที่จะสันนิษฐานว่าคนเหล่านี้
มิใช่ผู้ก่ออาชญากรรมอันสยดสยองรายนี้ในเมื่อบัดนี้สิบห้าปีผ่านไป แทบไม่มีโอกาสเหลือแล้วที่จะ
คนพบตัวผู้ต้องหาเผื่อเลือกรายอื่นมาดำเนินคดี? มีเหตุผลหรือไม่ที่จะล้มเลิกสมมติฐานที่น่าเชื่อใน
สภาพที่ไม่มีสมมติฐานแย้งที่น่าเชื่อใดๆ อยู่เลย? กระผมใคร่ตั้งข้อสังเกตว่าข้อโต้แย้งของผู้อุทธรณ์
ไม่มีเค้ารอยข้อเสนอแนะใดๆ เลยว่าใครล่ะที่อาจเป็นผู้ก่ออาชญากรรมรายนี้ ถ้าหากพวกเขาบริสุทธิ์
จริง?”

ผู้พิพากษาถ้วนเท่ากับ อธิบดีศาลสูง
                จำต้องกล่าวย้ำซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างไม่รู้เหนื่อยหน่ายในศาลแห่งนี้ว่าคติบทพื้นฐานของความ
ยุติธรรมแห่งประโยชน์นครคือ ประโยชน์สุขของประชาชนคือกฎหมายสูงสุด คติบทนี้ประยุกต์ใช้
ได้ดียิ่งกับคำถามเบื้องหน้าเรา เรามีเหตุผลที่จะสงสัยก็ต่อเมื่อประโยชน์สุขของประชาชนเรียกร้อง
ต้องการให้สงสัยเท่านั้น หาไม่แล้วก็ไม่มีเหตุผลที่จะสงสัย ก็แล้วประโยชน์สุขโดยรวมจะได้รับการ
ส่งเสริมเพิ่มพูนขึ้นด้วยการสงสัยความเที่ยงตรงต่อสัจจะและซื่อสัตย์สุจริตของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
รวมทั้งปรีชาญาณของผู้พิพากษากับคณะลูกขุนของเรากระนั้นหรือ? การปลูกฝังความสงสัยดัง
กล่าวให้เกิดขึ้นจะไปรับใช้ผลประโยชน์ใคร?
               “กฎหมายคือกลไกมหึมาเพื่อผลิตสิ่งดีงามในอนาคตขึ้นมาจากเรื่องเลวร้ายในอดีต โดย
เฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายอาญานั้นมุ่งสนองตอบต่อความอยุติธรรม อาชญากรรมและการประพฤติผิด
เล็กๆ น้อยๆ ในอดีตด้วยการประยุกต์ใช้ระบบการลงอาญาที่จำแนกตามความผิดขั้นหนักเบาอย่าง
ละเอียดเพื่อเพิ่มการประพฤติดีในอนาคตให้สูงสุดโดยผ่านการป้องปราม
                หากจะให้กลไกนี้ดำเนินงานด้วยดี มีเงื่อนไขจำเป็นสามประการ ประการแรก อาชญา-
กรรมต้องถูกลงโทษ ประการที่สอง การลงโทษต้องสาสมกับความผิด ประการที่สาม ต้องเชื่อกันทั่ว
ไปว่าอาชญากรถูกลงโทษ ความเชื่อประการสุดท้ายนี้จะปล่อยให้ถูกบ่อนทำลายไม่ได้ไม่ว่าจะต้อง
แลกด้วยอะไร
                ยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่เราต้องเผชิญกับการรณรงค์ก่อการร้ายต่อวิถีชีวิตแบบประ-
โยชน์นครโดยบรรดาพวกต่อต้าน วิถีชีวิตของเราอย่างไม่ลดละเลิกรา ก็ยิ่งจะต้องยึดหลักประการนี้
ให้มั่นเป็นพิเศษ พวกที่มีศักยภาพจะกลายเป็นผู้ก่อการร้ายและอาชญากรจักต้องถูกยับยั้งไว้ด้วย
ความกลัวผลลัพธ์แห่งการกระทำของตน
                ก็แลความสงสัยที่เราได้รับการเชิญชวนให้มีในวันนี้ย่อมจักไม่ปลุกเร้าความกลัวดังกล่าว
ให้หนักหน่วงรุนแรงขึ้น เป็นที่รู้กันว่ามีผู้กล่าวว่าความยุติธรรมควรจะตาบอด นั่นเป็นเท็จ ความ
ยุติธรรมต้องหูหนวกต่างหาก หนวกต่อความสงสัยประดามีที่จะบ่อนทำลายการธำรงความ
ความยุติธรรม.....
                ระบบยุติธรรมของเราทั้งหมดจะดำเนินงานได้ก็ต่อเมื่อทุกคนเชื่อว่ามันดำเนินงานไปด้วยดี
ผู้คิดจะกระทำผิดต้องถูกทำให้เชื่อว่าความผิดที่เขาคิดทำจะไม่คุ้ม และคนอื่นที่เหลือทุกคนก็ต้องถูก
ทำให้เชื่อว่าผู้คิดจะกระทำผิดเชื่อเช่นนั้น ด้วยวิธีการนั้นเราก็ลดทอนการละเมิดกฎหมายให้เหลือต่ำ
สุด และเพิ่มทั้งความมั่นคงและความรู้สึกมั่นคงของเราได้สูงสุดด้วย
                ลองดูคดีที่คุณเห็นวันนี้สิ คำพิพากษาอันเดิมที่ตัดสินลงโทษผู้ยื่นอุทธรณ์ช่วยค้ำจุนความ
เชื่อของทุกคนว่าระบบดำเนินงานไปด้วยดี คุณอาจจะพูดก็ได้ว่าคำพิพากษาอันหนึ่งช่วยรักษาคำ
พิพากษาอีกอันไว้ ขืนกลับคำพิพากษาอันแรก คุณก็บ่อนทำลายคำพิพากษาอันหลังเท่านั้นเอง
                ท่านกำลังบอกว่า นิโคลาสถาม ถ้าหากคนทั้งห้าบริสุทธิ์ ก็จะต้องบูชายัญพวกเขาเพื่อ
เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมยังงั้นหรือครับ?”
                “แหม ภาษาของคุณจัดจ้าน ศาสตราจารย์ ผู้พิพากษากล่าว ถ้าให้ผมพูด ผมจะไม่ใช้คำ
อย่างบูชายัญหรอก อันที่จริงนั่นเป็นแนวคิดที่แทบไม่มีใครเข้าใจในประโยชน์นคร มันเป็นอุปมา
อุปไมยทางศาสนาที่ตกทอดมาจากอดีต ไม่ค่อยเหมาะสมกับสภาพการณ์ของเราเท่าไรนัก
ผมชอบอุปมาอุปไมยทางเศรษฐกิจหรือการค้ามากกว่า พูดอย่างนี้เถอะว่าสิ่งที่เราเผชิญวันนี้เป็น
เรื่องของการได้อย่างเสียอย่าง
                นิโคลาสถามยืนเพราะคำถามนี้ยังรบกวนใจเขาอยู่ แต่สมมตินะครับ เขาถามผู้พิพากษา
ว่านักหนังสือพิมพ์เห็นชายคนหนึ่งอ้างปาว ๆ อยู่บนหลังคาคุกว่าเขาบริสุทธิ์ เขาควรจะสอบสวน
คำอ้างนั้นหรือเดินหนีไปเสียเฉยๆ ดี?”
                “โอ๊ย เดินหนีไปเลย!” ผู้พิพากษาถ้วนเท่ากับบอก ช่างหัวมัน ผมได้รับจดหมายเยอะแยะ
จากคนคุกที่บอกว่าพวกมันถูกพิพากษาผิด ๆ ผมเกรงว่าผมคงโยนจดหมายพวกนั้นลงตะกร้าเศษ
กระดาษไปหมดแล้ว