Wednesday, June 11, 2014

มากซีมีเลียง รอแบสปีแยร์ (Maximilien Robespierre)

มากซีมีเลียง รอแบสปีแยร์ (Maximilien Robespierre, ค.ศ. ๑๗๕๘-๑๗๙๔) เป็นผู้นำคนหนึ่งในการปฏิวัติฝรั่งเศส ด้วยการอ้างถึงความชอบธรรมในการรักษาอุดมคติแห่งรัฐ เขาได้ส่งตัวฝ่ายตรงข้ามจำนวนหลายพันคนเข้าสู่กิโยตินท่ามกลางกระแสฆ่าล้างทางการเมืองครั้งใหญ่ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในชื่อยุคสมัยแห่งความน่าสะพึงกลัว ความรุนแรงครั้งใหญ่ในฝรั่งเศสนี้จบลงได้ด้วยการที่รอแบสปีแยร์ถูกจับและถูกประหารชีวิตในฤดูร้อนปี ค.ศ. ๑๗๙๔



รอแบสปีแยร์ไม่สะทกสะท้านใดๆ กับความวุ่นวายปั่นป่วนที่เขาเป็นผู้ก่อขึ้น "แท้จริงแล้ว ความน่าสะพึงกลัวก็เป็นเพียงความยุติธรรมที่ฉับไว รุนแรง และตรงไปตรงมา"

รอแบสปีแยร์เกิดที่เมืองอาร์ราส ทางตอนเหนือของฝรั่งเศส เขาเป็นนักเรียนที่มีพรสวรรค์ และประทับใจเป็นพิเศษกับแนวคิดปรัชญาแบบปัจเจกนิยมของฌอง-ฌาค รุสโซ (Jean Jacques Rousseau, ค.ศ. ๑๗๑๒-๑๗๗๘) ที่เขาได้อ่านตั้งแต่สมัยวัยรุ่น รอแบสปีแยร์ได้รับเลือกตั้งเข้าสู่สภาส่วนภูมิภาคในขณะที่เขาอายุเพียงยี่สิบเศษๆ ในปี ค.ศ. ๑๗๘๘ ขณะนั้นสถานะทางการเงินของฝรั่งเศสย่ำแย่ลงทุกขณะ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ (ค.ศ. ๑๗๕๔-๑๗๙๓) จำเป็นต้องเรียกประชุมสภาฐานันดรแห่งชาติเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๖๑๔ ในขณะนั้น ด้วยวัยเพียง ๓๐ ปี รอแบสปีแยร์ก็ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนจากเมืองอาร์ราสในการประชุมครั้งดังกล่าว

แต่การประชุมสภาก็ไม่สามารถบรรเทาความคับข้องใจของประชาชนที่มีต่อกษัตริย์ฝรั่งเศสในสมัยนั้นลงได้ การปฏิวัติฝรั่งเศสจึงเริ่มต้นขึ้นในวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๗๘๙ ด้วยการที่ประชาชนบุกเข้ายึดคุกบาสตีย์ ในคณะรัฐบาลที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นจากการปฏิวัตินั้น รอแบสปีแยร์โดดเด่นขึ้นมาในฐานะสมาชิกคนสำคัญของกลุ่มจาโคแบง ซึ่งเป็นกลุ่มซ้ายจัดในรัฐสภาในการประชุมรัฐสภา เขาได้เรียกร้องสิทธิอันเท่าเทียมกันในการเลือกตั้ง เสรีภาพในการนับถือศาสนา และการปฏิรูปกองทัพ

ในปี ค.ศ. ๑๗๙๒ รอแบสปีแยร์สนับสนุนให้มีการประหารชีวิตพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ปีถัดมา เขาก็ได้รับเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมาธิการว่าด้วยเรื่องความปลอดภัยสาธารณะ ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อหยุดยั้งความไม่สงบและจลาจลที่เกิดขึ้นทั่วฝรั่งเศสจากการปฏิวัติ แม้ว่าเขาจะเป็นเพียงหนึ่งเสียงจากสมาชิกจำนวน ๑๒ เสียงในคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าว แต่เขาก็ได้กลายเป็นหัวหน้าอย่างไม่เป็นทางการของคณะกรรมาธิการชุดนี้ และใช้ตำแหน่งของตนเองสั่งการให้เกิดความน่าสะพึงกลัวในครั้งนั้น

ชายและหญิงจำนวนหลายหมื่นคน ซึ่งรวมไปถึงมารี อองตัวแนตต์ (ค.ศ. ๑๗๕๕-๑๗๙๓) พระราชินีองค์ก่อนก็ถูกสังหารในช่วงยุคสมัยแห่งความน่าสะพึงกลัวนี้ด้วยข้อหาเล็กๆ น้อยๆ อย่างกักตุนธัญพืชหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล รอแบสปีแยร์เชื่่อว่าฝรั่งเศสตกอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการขั้นรุนแรงเพื่อปกป้องผลดีที่ได้รับจากการปฏิวัติ อย่างไรก็ตาม ในฤดูร้อนปีถัดมา อดีตพันธมิตรของเขาก็ไม่อาจทนได้อีกต่อไป รอแบสปีแยร์ถูกโค่นล้มอำนาจในการปฏิวัติที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๗๙๔ และถูกประหารชีวิตด้วยกิโยตินในสองวันต่อมา เขามีอายุได้ ๓๖ ปี

ข้อมูลเพิ่มเติม
๑. รอแบสปีแยร์ได้รับฉายาว่า I'Incorruptible หรือ "ผู้ที่ไม่สามารถติดสินบนได้" จากชื่อเสียงที่เป็นที่รู้จักกันไปทั่วว่าเป็นคนที่ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ซื่อสัตย์ และมุ่งมั่นอุทิศตนต่อการปฏิวัติ

๒. ส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมขนานใหญ่ในยุคหลังการปฏิวัติฝรั่งเศสคือ การที่คณะปฏิวัติสร้างปฏิทินขึ้นใหม่ โดยกำหนดให้ปี ค.ศ. ๑๗๙๒ ซึ่งเป็นปีที่ระบอบกษัตริย์ล่มสลาย เป็นปีที่หนึ่งแห่งยุคสมัยใหม่

๓. รอแบสปีแยร์เริ่มก้าวเข้าสู่เส้นทางการเมืองในปี ค.ศ. ๑๗๘๘ ในฐานะผู้แทนจากฐานันดรที่สามในสภาฐานันดรแห่งฝรั่งเศส ภายใต้ระบอบกษัตริย์ ประชาชนในฝรั่งเศสถูกแบ่งออกเป็นสามฐานันดร ฐานันดรที่หนึ่งคือเหล่านักบวช ฐานันดรที่สองประกอบด้วยขุนนางทั้งหลาย และฐานันดรที่สามคือคนอื่นๆ ที่เหลืออยู่ทั้งหมด

No comments:

Post a Comment