Thursday, June 19, 2014

ข้อสังเกตเรื่องท่าทีและจุดยืน

จากประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนมาทางด้านรัฐศาสตร์ ผมมีข้อสังเกตเพื่อทำความเข้าใจและวางท่าทีต่อเรื่องทางการเมือง ดังนี้


๑) สังคมการเมืองทุกแห่ง ไม่จำกัดเฉพาะสังคมการเมืองไทย ต่างล้วนมีอุดมการณ์ใหญ่อย่างน้อย ๒ ชุดที่ต่อสู้ ขับเคี่ยว แข่งขันกัน ผมเรียกอุดมกาณ์แรก ว่าเป็นอุดมการณ์กระแสหลักหรืออุดมการณ์อนุรักษนิยม ส่วนอุดมการณ์ที่ขึ้นมาท้าทายถือเป็นอุดมการณ์กระแสรอง หลายที่ในโลกนี้เรียกกันเป็นการทั่วไปว่าอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่เชิดชูคุณค่าหลักๆ ได้แก่ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม ความเท่าเทียมกัน เป็นต้น

๒) ในทุกสังคมการเมืองต่างก็มีชนชั้นปกครอง (Ruling Classes) หรือชนชั้นนำ (Elites) ซึ่งมีกันทั้ง ๒ ฝ่าย นั่นคือ ฝ่ายอนุรักษนิยมกระแสหลัก และฝ่ายท้าทายซึ่งเป็นกระแสรอง ชนชั้นปกครองหรือชนชั้นนำต่างก็มีลักษณะเป็นเครือข่าย (network) ที่จับมือเป็นพันธมิตรระหว่างกันทั้งแบบเข้มข้นและแบบหลวมๆ และกระจายอยู่ในทุกวงการ ได้แก่ วงการทหาร วงการวิชาการ วงการแพทย์ วงการธุรกิจเอกชน เป็นต้น

๓) นอกจากชนชั้นปกครองหรือชนชั้นนำแล้ว สังคมการเมืองทุกหนแห่งยังประกอบด้วยชนชั้นกลางซึ่งแบ่งได้หยาบๆ เป็นชนชั้นกลางตอนบน และชนชั้นกลางตอนล่างซึ่งอาจจับมือเป็นพันธมิตรข้ามชนชั้นกับพวกชนชั้นปกครองหรือชนชั้นนำทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัวเพราะถูกครอบงำ อนึ่ง ชนชั้นกลางโดยธรรมชาติแล้วจะมีพลังอำนาจในการส่งเสียง (voice) ได้ระดับหนึ่ง เพราะเป็นชนชั้นที่มีกำลังทางเศรษฐกิจและมีอิสระ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อิสระทางด้านเวลา) พอควรในการส่งเสียงให้ชนชั้นปกครองรับฟัง ผ่านเครื่องมือต่างๆ อาทิ พลังของการสื่อสารมวลชน ความรู้และการเข้าถึงกลไกในการต่อรองแบบต่างๆ เป็นต้น

๔) ชนชั้นล่าง ซึ่งเป็นชนชั้นทางสังคมที่มีพลังในการต่อรองน้อยสุด หรือแทบไม่มีพลังใดๆ ในการต่อรองกับชนชั้นปกครอง แต่ก็เป็นคนกลุ่มใหญ่ในสังคมซึ่งอาจถูกชักเชิดได้ง่าย


ข้อสังเกตสำคัญของผมในฐานะที่เป็นคนชั้นกลางคนหนึ่ง ผมยืนอยู่บนอุดมการณ์ชุดหนึ่งซึ่งเชื่อโดยส่วนตัวว่าเป็นอุดมการณ์กระแสรอง และในบรรดาผู้ที่ยืนอยู่บนอุดมการณ์กระแสรองเช่นเดียวกันกับผมไม่ว่าจะเป็นชนชั้นปกครองหรือชนชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นกลาง หรือชนชั้นล่าง แน่นอนว่า ต่างล้วนก็มีวิธีการในชุดอุดมการณ์กระแสรองร่วมกัน แต่ก็มีการขัดแย้งกันในรายละเอียดทางความคิดโดยไม่ได้มีลักษณะเป็นน้ำเนื้อหนึ่งเดียวกันอย่างแนบสนิท ๑๐๐%

หลายครั้งผมสังเกตเห็นว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์ ด่าทอ จัดหนักให้กับฝ่ายเดียวกัน (ผมหมายถึงกลุ่มที่มีอุดมการณ์ในแนวทางเดียวกัน นั่นคือ กระแสรอง) โดยไม่มองภาพใหญ่ให้เห็นว่า จุดยืนในภาพรวมนั้น พวกเขาทั้งหลายต่างก็มีจุดร่วมในอุดมการณ์ชุดเดียวกัน หากพิจารณาให้เห็นถึงแผนภาพทั้งหมดของการต่อสู้ดังที่ผมได้พูดในหัวข้อที่ ๑)

แทนที่จะเอาพลังสมอง เวลา และสรรพกำลังทั้งหมดทุ่มเทลงไปกับ "การประจัญบาน" (คำๆ นี้ผมหมายถึงอย่างอื่นที่ไม่ใช่เป็นการใช้ความรุนแรงนะครับ) ในรูปแบบต่างๆ กับฝ่ายอนุรักษนิยมซึ่งครองอำนาจนำทางอุดมการณ์ในฐานะที่เป็นกระแสหลักครอบงำสังคม แต่กลับมาเสียเวลามาวิพากษ์ วิจารณ์ ด่าทอ จัดหนักให้กับผู้ที่มีจุดยืนในแนวทางหรืออุดมการณ์เดียวกันกับตน

นับเป็นเรื่องที่น่าเสียดายยิ่งนัก

No comments:

Post a Comment