Friday, June 27, 2014

การทำความเข้าใจการเมือง

จากการเฝ้าสังเกตความคิดเห็นและทัศนะต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในสื่อออนไลน์และเฟสบุ๊ค
ผมมีข้อสังเกตส่วนตัว ดังนี้



๑) ระดับความรู้ความเข้าใจของคนเราในเรื่องการเมืองแตกต่างกันหลายระดับ ย้ำนะครับว่า แตกต่างกันหลายระดับ เหตุที่เป็นเช่นนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเข้าถึงข้อมูลของคนเราในเรื่องต่างๆ แตกต่างกันเพราะการศึกษาและการเรียนรู้ของคนเรา ตลอดจนระดับความเข้าใจและความสนใจของคนเราแตกต่างกัน ข้อมูลหลายอย่างก็โดนภาครัฐปิดกั้นการเข้าถึง หนังสือที่เกี่ยวกับเรื่องสำคัญๆ ทางการเมืองบางเล่มก็โดนแบนโดยทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำให้ความรู้ความเข้าใจไหลเวียนเป็นกระแสหลักอยู่เพียงเรื่องเด่นอยู่เรื่องเดียว นั่นคือ เรื่องที่รัฐไทยต้องการให้คนไทยได้รู้ในสิ่งที่รัฐต้องการเพื่อความมั่นคงแห่งรัฐ ความรู้ความเข้าใจเหล่านี้ได้รับการสถาปนาจนกลายเป็น "ระบอบความจริงของรัฐ" ซึ่งไม่ใช่เรื่องจริงในระดับสากลหรือสัจจธรรม เพราะรัฐปิดกั้นและไม่เปิดโอกาสให้ความรู้ชุดอื่นๆ ที่เป็นกระแสรองขึ้นมาท้าทาย หวั่นเกรงเรื่องความมั่นคง และอำนาจที่จะสูญเสียไป

๒) การที่คนเราจะรู้และเข้าใจการเมืองแบบลึกๆ คนคนนั้นจะต้องออกแรงทำการบ้านหรือวิจัยด้วยตนเองซึ่งต้องอาศัยความอดทน มีวินัย เปิดใจกว้างๆ แบบชาไม่ล้นถ้วยลองอ่านข้อมูลความรู้ชนิดอื่นๆ ที่แตกต่างไปจากที่ตนเองเชื่อ ยกตัวอย่างเช่น คนที่เคยชอบอ่านแต่เว็บไซต์ของผู้จัดการออนไลน์, สำนักข่าวเจ้าพระยา, หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์, เว็บไซต์ของหน่วยงานของรัฐ อยากให้ลองเปิดใจอ่านเว็บไซต์ทางเลือกเช่น มติชนออนไลน์, ประชาไท, ข่าวสด ฯลฯ แล้วเอาข้อมูลมาชั่งน้ำหนักคิดทบทวนหรือเปรียบเทียบดู ก็จะเกิดความเข้าใจอะไรต่างๆ ได้มากขึ้น

๓) การทำความเข้าใจในเรื่องการเมืองที่ดีที่สุด อย่าอ่านแต่เฉพาะข่าวรายวัน แต่ควรเอาเวลาไปอ่านงานวิจัย เพราะจะได้เห็นภาพแบบตานก (bird's eye view) เพราะการจมอยู่กับข้อมูลข้อเท็จจริงรายวันทำให้ไม่เห็นภาพรวมหรือช่วงระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น มองแต่ตัวบุคคลเป็นหลัก แต่ไม่ได้มองให้ลึกเห็นถึงกลุ่มพลังต่างๆ ที่ถักถอกันเป็นเครือข่ายของการต่อสู้ทั้งสองฝ่าย และมีอำนาจแตกต่างกัน เปรียบง่ายๆ เหมือนกับมองเห็นกระดานหมากรุกทั้งกระดาน การศึกษาจากงานวิจัยจะช่วยให้เห็นว่า ควรจะเพ่งเล็งหรือให้ความสำคัญกับกลุ่มพลังกลุ่มใดเป็นหลักที่เป็นตัวแปรสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง


๔) การทำความเข้าใจการเมืองให้ถ่องแท้ ควรให้ความสนใจระดับตัวบุคคลให้น้อยลง แต่ควรหันไปสนใจการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้าง (แบบแผน, กติกา, กฎหมาย, นโยบาย, การบริหารของหน่วยงานและท่าทีของผู้บริหารระดับนโยบาย ฯลฯ) และระดับอุดมการณ์/วัฒนธรรม ซึ่งได้แก่ ระบบคุณค่าต่างๆ เช่น สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม ฯลฯ เพราะการมองในสองแบบหลังนี้ (ระดับโครงสร้าง และระดับอุดมการณ์/วัฒนธรรม) สะท้อนว่าตัวเราคิดในระดับที่สูงขึ้นมาจากระดับข้อเท็จจริง เหมือนกับการที่คนคนหนึ่งพูดถึงเรื่อง 'ผลไม้' แต่คนจำนวนมาก พูดได้แค่เรื่องของ 'เงาะ มังคุด ลำไย ฯลฯ' คนแบบแรกนั้นสามารถคิดได้ในระดับนามธรรมแล้ว แต่คนแบบหลังคิดได้ในระดับข้อเท็จจริงเท่านั้น หากยกตัวอย่างกับเรื่องการเมือง คนแบบแรกอาจพูดด้วยศัพท์นามธรรม เช่น ชนชั้นกลาง, ชนชั้นนำ, ระบอบเผด็จการทหาร, เครือข่ายสถาบัน แต่คนแบบหลังจะพูดได้แค่ ไอ้คนนั้น นายคนนี้ ชั่วอย่างนั้น ชั่วอย่างนี้ พูดได้แต่ระดับข้อเท็จจริงหรือข่าวรายวันเท่านั้นเอง เพราะคิดในระดับนามธรรมไม่ค่อยจะได้


No comments:

Post a Comment