*เดวิด สเตร็กฟัสส์ เป็นนักวิจัยเกียรติคุณแห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลามากกว่า 25 ปี
แปลโดย immeuble
แปลจาก Asian Nikkei Review* http://asia.nikkei.com/Politics-Economy/Policy-Politics/Thailand-s-polite-coup-should-put-itself-on-right-side-of-history-David-Streckfuss?n_cid=NARAN012
Thailand's 'polite coup' should put itself on right side of history
*Asian Nikkei Review เป็นนิตยสารภาษาอังกฤษด้านการเมืองและเศรษฐกิจ,ธุรกิจและตลาดในเอเชีย มีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นคณะรัฐประหารในประเทศไทยได้ขนานนามการโค่นล้มรัฐบาลเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมว่า “รัฐประหารที่สุภาพ” การเรียกให้มารายงานตัว, การคุมขังและสอบสวนนักการเมือง, นักวิชาการ, ศิลปินและนักกิจกรรมหลายร้อยคนโดยทั่วไปแล้วจำกัดอย่างสุภาพไม่เกิน 7 วัน สัญญาที่ลงนามโดยผู้ถูกเรียกให้มารายงานตัวว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมืองถูก “บังคับ” อย่างสุภาพ “การรุกให้มีความสุข” จัดให้โดยหัวหน้าคณะรัฐประหาร ด้วยฟรีคอนเสิร์ต, อาหาร, การตัดผม, หน่วยตรวจสุขภาพเคลื่อนที่ และผู้หญิงที่แต่งกายในชุดกากีสุดเซ็กซี่ ได้รับการสนับสนุนอย่างสุภาพโดยคณะรัฐประหาร
แต่เบื้องหลังพฤติกรรมอันแสนสุภาพของระบอบใหม่ที่ปกครองโดย “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” กลับเป็นสิ่งที่น้อยกว่าเป้าหมายอันสุภาพ : การบั่นทอนพลังของกลุ่มเคลื่อนไหวนิยมประชาธิปไตย, ปราบปรามทุกสัญญาณของต่อต้าน, และการทำให้การสร้างสถาบันที่จำเป็นสำหรับประชาธิปไตยอย่างยั่งยืนต้องเสื่อมถอยลงไป
การรัฐประหารครั้งนี้เป็นตอนล่าสุดของการต่อสู้อย่างยาวนานนับศตวรรษระหว่างกลุ่มชนชั้นนำที่มีฐานที่มั่นในกรุงเทพ ผู้ซึ่งไขว่คว้าอภิสิทธิ์ของพวกเขาอย่างน่าอิจฉา กับกลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาและกำลังค่อยๆ ถูกทำลายลง ผู้ซึ่งสนับสนุนค่านิยมเรื่องความเท่าเทียม, ความยุติธรรม, และการกระจายรายได้ประชาชาติที่เป็นธรรมมากขึ้น
วันดีๆ เมื่อครั้งอดีต
รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้บัญญัติเรื่องสิทธิไว้อย่างชัดเจนและเอื้อให้มีรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่เข้มแข็ง และยังจัดตั้งองค์กรอิสระ เช่น ศาลปกครอง, ศาลรัฐธรรมนูญ, และผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจของนักการเมืองและข้าราชการ
ทักษิณ ชินวัตรและพรรคไทยรักไทยของเขาได้เปลี่ยนแปลงการเมืองในระบบเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2544 ด้วยการเสนอและจัดหานโยบายสำหรับคนยากจน เช่น โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและสินเชื่อที่เข้าถึงได้สำหรับชุมชนที่มีรายได้น้อย แม้ว่าจะขึ้นชื่อเรื่องการทุจริตและสถิติด้านการละเมิด
สิทธิมนุษยชนที่เลวร้าย พรรคของทักษิณกลับยังคงชนะการเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดในการเลือกตั้งอีกสองครั้งถัดมา
ปฏิกิริยาของชนชั้นนำในกรุงเทพ อันหมายถึงกองทัพ, กลุ่มนิยมเจ้าสุดขั้ว, ชนชั้นนำเก่า, และชาวใต้บางส่วน ต่อภัยคุกคามอย่างแท้จริงนี้ (พร้อมๆ กับช่องทางใหม่ของการทุจริต) คือการปลุกปั่นให้มีการเคลื่อนไหวประท้วงโดยกล่าวอ้างว่าทักษิณได้ซื้อเสียงและเป็น “เผด็จการรัฐสภา” การประท้วงนี้ได้ทำให้เกิดรัฐประหาร พ.ศ. 2549 ในท้ายที่สุด
สำหรับผู้ก่อการรัฐประหารเหล่านั้น วิธีการของพวกเขาคือการหมุนประชาธิปไตยย้อนกลับ ในเวลาต่อมา รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ได้ลดอำนาจของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งลง, สลายคะแนนเสียงเลือกตั้งในชนบทให้เจือจางลง และเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายตุลาการโดยปราศจากกลไกความพร้อมรับผิดชอบของพวกเขา
ถึงกระนั้นก็ตาม พรรคที่นิยมทักษิณก็ยังคงชนะการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 และ 2554 แต่ในท้ายที่สุด นายกรัฐมนตรีทั้งสองคนก็ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งโดยฝ่ายตุลาการ
เคลื่อนไปสู่รัฐประหาร
ความพยายามที่ค่อนข้างชัดแจ้งอย่างเป็นระบบของชนชั้นนำในกรุงเทพในการรื้อทำลายประชาธิปไตยให้มากกว่าเดิมเกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน ในขั้นแรก คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ได้จับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ น้องสาวของทักษิณ “ใส่กุญแจมือ” (ไม่ให้) จัดการต่อการประท้วงของกลุ่ม กปปส. ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (คำวินิจฉัยของศาล รธน. ที่ว่าการชุมนุมของ กปปส. เป็นการชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ : ผู้แปล) ขั้นที่สอง พวกเขาระดมสรรพกำลังจากบรรดาองค์กร “อิสระ” ในการถอดถอนรัฐบาลรักษาการ และในขั้นที่สาม หลังจากที่ล้มเหลวในการถอดถอนรัฐบาล พวกเขาจัดการรัฐประหารยึดอำนาจ
กลุ่ม กปปส. ได้สร้างสภาวะความโกลาหลและสภาวะการไม่มีกฎหมายอย่างไม่เคยมีมาก่อน หลักนิติธรรมค่อยๆ ถูกทำให้เสื่อมลงอย่างถึงที่สุดด้วยคำตัดสินของบรรดาองค์กรอิสระที่มีอคติและแรงจูงใจทางการเมืองอย่างน่าประหลาดใจ สิ่งที่เป็นเรื่องใหม่ไม่ใช่อำนาจขององค์กรที่ไม่รับผิดชอบต่อสาธารณะและการแสดงบทบาทนำของตัวแสดงนอกรัฐธรรมนูญ แต่เป็นโลกที่เปิดกว้างมากขึ้นโดยเปรียบเทียบที่ทำให้กลไกเหล่านี้ทำงานชัดแจ้งเกินไป ตัวอย่างเช่น เมื่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถูกจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์อันเป็นผลมาจากการยุบสภาของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในเดือนธันวาคม เหล่าชนชั้นนำในกรุงเทพ หรืออย่างน้อยที่สุดฝ่ายที่พร้อมจะใช้กำลังของ กปปส. ตอบสนองราวกับว่าการเลือกตั้งเป็นรูปแบบที่ไม่สามารถยอมรับได้ของจักรวรรดินิยมตะวันตก ในหลายกรณีมีการสกัดกั้นผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ให้ไปใช้สิทธินั้นได้ ถึงกระนั้นในเดือนต่อมา การเลือกตั้งดูเหมือนจะเป็นระบบที่ยอดเยี่ยมที่รับประกันว่ามันปลอดภัย นั่นคือ วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งครึ่งหนึ่ง
การโยกย้ายหรือเปลี่ยนแปลงตำแหน่งข้าราชการในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งต่อต้านทักษิณเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่การโยกย้ายข้าราชการระดับสูงในรัฐบาลเพื่อไทยที่สนับสนุนทักษิณกลับมิชอบด้วยกฎหมาย กลุ่ม กปปส. ที่เรียกร้องสาธารณชนให้ร่วมโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้รับการวินิจฉัยโดยศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็นสิ่งที่กระทำได้ (คำวินิจฉัย ศาล รธน. ที่ว่าการชุมนุมของ กปปส. เป็นการชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ: ผู้แปล) ในขณะที่ศาลเดียวกันนี้ (ศาลรัฐธรรมนูญ) กลับวินิจฉัยว่าความพยายามของพรรคเพื่อไทยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งทั้งหมดกลับเป็นการกระทำที่ “ไม่เป็นประชาธิปไตย” และเป็นความพยายามที่จะ “ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
แต่กลุ่มชนชั้นนำในกรุงเทพ ที่แม้ว่าจะสามารถควบคุมองค์กรอิสระได้อย่างมหาศาล ก็ยังไม่สามารถทำให้รัฐบาลรักษาการหลุดจากตำแหน่งได้สักที
ทางเลือกเดียวที่เหลือ คือ การรัฐประหาร
คณะรัฐประหารชุดใหม่กลับไม่เป็นที่น่าเชื่อถืออย่างแปลกประหลาดในการให้เหตุผลต่อการทำรัฐประหารทั้งภายในประเทศและนอกประเทศ ในการกล่าวอ้างบทบาทของการเป็น “คนกลาง” คณะรัฐประหารยืนยันว่าการยึดมั่นในความเชื่อทางการเมืองของคู่ขัดแย้งทำให้การปรองดองเป็นไปไม่ได้ อีกทั้งยังอ้างว่า “ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม” เป็นสาเหตุของการรัฐประหาร
มันไม่ใช่ความลับที่ว่าการชุมนุมที่ต่อต้านประชาธิปไตยของ กปปส. ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ ซึ่งส่วนมากยืนดูอยู่เฉยๆ ในขณะที่ กปปส. เข้าขัดขวางการเลือกตั้ง มีการพูดกันมากมายว่าคณะผู้ก่อการรัฐประหารได้เริ่มดำเนินการตามโร้ดแม็ปที่ร่างโดย กปปส. ไม่มากก็น้อย
แรงผลักดันที่แท้จริงในการรัฐประหารครั้งนี้คือการกำจัดอิทธิพลของทักษิณและทำลายการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย บทเรียนที่เรียนรู้จากการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 คือ “มันยังหมุนประชาธิปไตยกลับไปไม่เพียงพอ” มันเป็นเรื่องตลกร้ายที่ว่าในท้ายที่สุดชนชั้นนำในกรุงเทพต้องทำลายรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ลง ทั้งที่พวกเขาเพียรพยายามอย่างหนักกว่าที่จะได้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกมา
การปรองดอง vs. การปราบปราม
ด้วยฤกษ์งามยามดีของหน่วยชั้นยอดของกองทัพ อย่าง “กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร” (กอ.รมน.) คณะรัฐประหารประกาศว่าการปรองดองเป็นหัวใจสำคัญในการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ ในการสร้างบรรยากาศที่นำไปสู่การร่วมมือกันอย่างสร้างสรรค์กับสาธารณชน, พวกเขาได้สนับสนุนกิจกรรมการรณรงค์ “คืนความสุขให้ประเทศไทย”
ในขั้นตอนแรกของแผนซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว คณะรัฐประหารกำลังใช้วิธีการ “ปรับเปลี่ยนทัศนคติ” และ “สลายความแตกต่าง” (สลายสีเสื้อ) ในทุกระดับของสังคม คณะรัฐประหารได้สัญญาว่าจะเป็นคนกลางอำนวยความสะดวกในการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูป เริ่มต้นจากระดับครอบครัวและทำงานต่อในระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และภูมิภาค และโดยการจัดการผ่านประชาเสวนา กอ.รมน. ตั้งใจที่รวบรวมความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปและส่งรายงานข้อค้นพบต่อ คสช. โดยที่กองทัพจะทำหน้าที่เพียงพาประชาชนมาเข้าด้วยกันและจะไม่ “ชี้นำทิศทาง” กระบวนการจะได้รับการยอมรับโดยสาธารณชนเพราะความคิดเห็นต่างๆ จะมาจากประชาชนทั่วไป พวกเขาสรุป
ติดอาวุธไปพร้อมกับข้อเสนอเหล่านี้ คสช. จะประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่งตั้งรัฐบาลชั่วคราวและสภาปฏิรูป
แนวทางการปฏิรูปนี้แทบจะเป็นที่แน่นอนว่ามันล้มเหลวที่จะแก้ไขปัญหาของประเทศไทย แม้แต่สุทธิชัย หยุ่นแห่งหนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น ที่สนับสนุนชนชั้นนำเก่า ก็ยอมรับว่าผู้เชี่ยวชาญ “สงครามจิตวิทยา” ของกองทัพไม่ครบเครื่องพอที่จะทำให้ภารกิจนี้สำเร็จ ซึ่งสุทธิชัย หยุ่นตั้งข้อสังเกตว่ามันมีแนวโน้มที่จะกลายเป็น “ปรากฏการณ์แสดงละครสำหรับชุมชนท้องถิ่น”
เหล่านายพลกำลังร้องขอเวลาและความเชื่อมั่นจากสาธารณชน แต่มันไม่มีการบ่งบอกว่าคณะรัฐประหารมีความสามารถเพียงพอที่จะทำงานนี้ แม้ว่าจะบริสุทธิ์ใจ ในแง่บวก คสช. ได้ตั้งข้อสังเกตว่าสองมาตรฐานในกระบวนการยุติธรรมได้ทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในศาล
แต่ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าผลของการปฏิรูปจะเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยน้อยลง, อำนาจที่เพิ่มมากขึ้นขององค์กรที่มาจากการแต่งตั้ง, และการจำกัดสิทธิอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ในท้ายที่สุดมันจะมีการเลือกตั้งอย่างแน่นอน แต่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะมีสิทธิที่จะเลือกน้อยลง กล่าวอีกนัยหนึ่ง วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด และสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น
กอ.รมน. กล่าวว่ายุทธศาสตร์ของพวกเขาวางอยู่บนพื้นฐานปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของกองทัพสหรัฐ บางที (พวกเขา) อาจจะไม่ได้สังเกตว่าแนวทางนี้ใช้สำหรับกองกำลังยึดครองต่างแดน แต่ก็ดูเหมือนว่าคณะรัฐประหารกำลังปฏิบัติต่อกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยอื่นๆ ในลักษณะที่เป็นศัตรู พวกเขากล่าวว่าพื้นที่เป้าหมายพิเศษอย่างยิ่งสำหรับ “การปรองดอง” คือพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่หัวใจสำคัญของกลุ่มเสื้อแดง ความพยายามที่จะปราบปรามกบฎเพื่อเอาชนะหัวใจและความคิดของมวลชน กองทัพได้วาดภาพสังคมไทยที่ทหารเข้าประจำการในทุกๆ หมู่บ้าน เพื่อ “จัดหาความช่วยเหลือและสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ”
ยุคที่ค่านิยมของฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่รวมอัตลักษณ์ไทยเข้าด้วยกันผ่าน “ความเป็นไทย” กำลังต้องหลีกทางให้กับค่านิยมใหม่ที่ไม่อาจขัดขืนได้ – ประชาธิปไตย, ความเท่าเทียม, ความยุติธรรม
บางทีอาจจะไม่ใช่เสื้อแดงจำนวนมากที่ต้องถูกปรับเปลี่ยนทัศนคติ แต่เป็นชนชั้นนำในกรุงเทพ และคณะรัฐประหารเองต่างหากที่ต้อง “ปรองดอง” กับความจริงใหม่นี้และจัดวางตัวเองในข้างที่ถูกต้องของประวัติศาสตร์
No comments:
Post a Comment