ประเด็นเรื่องความชอบธรรมทางการเมืองและการวินิจฉัยคดีตามความเป็นจริงทางสังคมนั้น ยังมีอีกตัวอย่างหนึ่งคือ กรณีที่ผู้หญิงคนหนึ่งขโมยซาลาเปาเก่าๆ ลูกหนึ่งเพื่อนำไปให้กับลูกสาวที่หิวโหยรับประทาน และได้ถูกจับโดย รปภ.ที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง เดชะบุญที่อัยการสั่งไม่ฟ้องเนื่องจากสื่อมวลชนได้แสดงความคิดเห็นอย่างล้นหลามเกี่ยวกับเรื่องนี้ มีข้อคิดเช่นเดียวกันก็คือ
หญิงสาวผู้นี้กระทำผิดประมวลกฎหมายอาญาถูกจับย่อมจะเป็นจำเลยในทางกฎหมาย แต่ในทางสังคมและทางการเมือง หล่อนมีสิทธิ์จะถามได้หรือไม่ว่า ในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่งไม่มีงานทำ จนต้องกระทำสิ่งซึ่งเสียศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ด้วยการขโมยซาลาเปาเก่าๆ ลูกหนึ่ง เป็นอาชญากรรมที่รัฐมีส่วนทำให้เกิดขึ้นหรือไม่ เป็นอาชญากรรมที่มาจากการปกครองบริหารที่บกพร่องหรือไม่
สังคมทั้งสังคมควรจะถูกมองว่าเป็นจำเลยหรือไม่ที่ปล่อยให้สภาพอเนจอนาถเช่นนี้เกิดขึ้นในสังคมที่มีการส่งออกข้าวและอาหารไปเลี้ยงชาวโลก สังคมที่ก่อให้เกิด "รวยกระจุก จนกระจาย" เป็นสังคมที่มีสิทธิ์หรือไม่ที่จะกล่าวหาคนยากจนที่ทำการละเมิดกฎหมายเพื่อการอยู่รอดและด้วยความรักและเอื้ออาทรของแม่ที่มีต่อลูกในไส้โดยสัญชาตญาณว่าเป็นจำเลย ในความเป็นจริงสังคมต้องกล่าวคำขอโทษต่อเธอหรือไม่
No comments:
Post a Comment