Wednesday, June 25, 2014

รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม

"รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม" คำคำนี้มาจากบทความชิ้นสำคัญของศาสตราจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรื่อง รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย (Thailand’s ‘‘cultural constitution’’) ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับประจำเดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๔ ปีที่ ๑๓ ฉบับที่ ๑

ต่อมาได้มีการพิมพ์รวมเล่มร่วมกับงานเขียนชิ้นอื่นๆ ของนิธิ ในชื่อหนังสือว่า ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์ ว่าด้วยวัฒนธรรม, รัฐ และรูปการจิตสำนึก (พิมพ์ครั้งแรกเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๘ พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๔๗ พิมพ์ครั้งที่ ๓ แล้วหรือไม่ผมไม่แน่ใจ แต่ที่มีอยู่ในมือคือฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ สำนักพิมพ์มติชน)


ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ เขียนถึงบทความชิ้นดังกล่าวของนิธิ เอียวศรีวงศ์ข้างต้นเอาไว้ว่า
กล่าวโดยรวบรัดที่สุด ข้อเสนอของนิธิในบทความนี้คือ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในการเมืองไทย ถูกกำหนดจากวัฒนธรรมยิ่งกว่าตัวบทซึ่งถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ...ขณะที่รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรในสังคมไทยต่ำต้อยจนถูกฉีกได้ทุกฉบับ รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมกลับเปลี่ยนยาก...
 เมื่ออ่านบทความนี้ต่อไป ผู้อ่านจะค้นพบความไม่ลงรอยระหว่างรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร กับ "รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม" ถึงขั้นเรียนรู้ว่า "รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม" มีสถานะสูงส่งกว่ารัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร...
นิธีบรรยายเรื่องนี้ละเอียด...พูดคราวๆ คือความคิดต่อสถาบันแทรกตัวในวัฒนธรรมไทยจนยากที่จะขาดสถาบันไปได้, สังคมไทยไม่ได้บัญญัติให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ก็ไม่แยกศาสนาจากเรื่องทางโลกแบบตะวันตก, คนไทยต้องการให้ทหารมีอิทธิพลทางการเมือง...[๑]
เมื่อลองนำรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทยมาใช้อธิบายการเมืองไทยสมัยทักษิณ ชินวัตร ศาสตราจารย์อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ เขียนไว้อย่างน่าสนใจยิ่งในหนังสือ "ประชาธิปไตย" คนไม่เท่ากัน (มีนาคม ๒๕๕๗) ว่า
พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นกลุ่มทุนใหม่ที่เพิ่งเติบโตขึ้นมานั้นไม่ยอมปฏิบัติตาม "รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมของชนชั้นสูง" และได้กระทำการอัน "สั่นคลอน" โครงสร้างอำนาจที่ได้รับการสถาปนาขึ้นมาในทศวรรษ ๒๕๒๐ เป็นต้นมา [๒]


พูดโดยสรุปรวบรัด ในบทความของนิธินั้น นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้ฟันธงลงไปเลยว่า
วัฒนธรรมทางการเมืองคือรัฐธรรมนูญที่แท้จริงของรัฐ
เพราะฉะนั้น การจะเข้าใจสังคมการเมืองไทยให้ถ่องแท้ที่สุดก็ต้องเข้าใจวัฒนธรรมไทยนั่นเอง ดังที่ Andrew Walker จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย กล่าวสรุปงานของนิธิไว้ในบทความชิ้นนี้ (The rural constitution and the everyday politics of
elections in Northern Thailand) ของเขา http://asiapacific.anu.edu.au/newmandala/wp-content/uploads/2008/05/walker-2008.pdf เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า

For Nidhi, this "cultural constitution" is much more important than any written document in accounting for the underlying rationale of Thai political life.
สำหรับผู้ที่สนใจ รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย ๒๕๕๗ ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ อ่านภาษาไทยกันได้ ที่นี่ และภาษาอังกฤษ ที่นี่
เชิงอรรถ

[๑] ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์. (๒๕๕๗). บทความพิเศษ: อ่านประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย (๕). มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ ๒๐-๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๗ ปีที่ ๓๔ ฉบับที่ ๑๗๖๖, น. ๓๒.

[๒] อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์. (๒๕๕๗). "ประชาธิปไตย" คนไม่เท่ากัน. กรุงเทพฯ: มติชน.






No comments:

Post a Comment