ศาสตราจารย์
ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศักดิ์ ได้เสนอวิธีคิดที่น่าสนใจยิ่งไว้ 10 วิธีคิดด้วยกัน ใครที่ฝึกฝนจนเกิดเป็นทักษะติดตัวและใช้จนเกิดความชำนาญ
เชี่ยวชาญ และแคล่วคล่อง บุคคลผู้นั้นก็จะได้ชื่อว่าเป็น “ผู้ชนะสิบคิด” หรือเป็นผู้ที่ได้ชื่อว่ามีทักษะการคิดเชิงระบบครอบคลุมถึง
10 วิธีด้วยกัน รายละเอียดของแต่ละวิธี มีดังนี้
(ดาวน์โหลด PDF ได้ที่นี่ https://www.dropbox.com/s/fgetqlnmp8zqa0k/How%20to%20develop%20systems-thinking%20skills.pdf)
(ดาวน์โหลด PDF ได้ที่นี่ https://www.dropbox.com/s/fgetqlnmp8zqa0k/How%20to%20develop%20systems-thinking%20skills.pdf)
1.
การคิดเชิงสร้างสรรค์ (creative
thinking) คือ
การขยายขอบเขตความคิดออกไปจากกรอบความคิดเดิมที่มีอยู่สู่ความคิดใหม่ๆ
ที่ไม่เคยมีมาก่อน เพื่อค้นหาคำตอบที่ดีที่สุดกับปัญหาที่เกิดขึ้น การคิดเชิงสร้างสรรค์เปรียบเสมือการฝ่าวงล้อมจากสิ่งเก่าๆ
หรือการกล้าแหวกม่านประเพณีทางความคิดที่ยึดถือปฏิบัติอยู่สู่สิ่งใหม่ที่ดีและเหมาะสมกว่า
ซึ่งหากเราเรียนรู้วิธีคิดอย่างสร้างสรรค์และกล้าที่จะใช้ประโยชน์จากมัน
เราจะพบว่าการคิดสร้างสรรค์ได้นำไปสู่การพัฒนาใหม่ทั้งการพัฒนาสติปัญญาของตนเองการพัฒนางานและการพัฒนาสังคมที่เป็นอยู่ไม่หลงติดอยู่กับความงมงาย
ความเชื่อและการกระทำเลียนแบบผู้อื่นอย่างขาดความเข้าใจซึ่งมักจะนำไปสู่ความด้อยพัฒนาในที่สุด
ในโลกตะวันตกนั้น
มีนักประดิษฐ์ผู้ที่เป็นสัญลักษณ์ของการใช้ความคิดสร้างสรรค์และเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปก็คือ
ลิโอนาร์โด ดาวินชี อย่างกรณี “ลิโอนาร์โด
ดาวินชีกับเฮลิคอปเตอร์” ดาวินชีเกิดความคิดในการผลิตเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์จากส่วนประกอบของแมลงปอไม้ไผ่
ซึ่งเป็นของเล่นของเด็กๆ
เครื่องบินนี้ช่วยแก้ปัญหาเครื่องบินที่ต้องใช้พื้นที่สนามบินขนาดใหญ่เพื่อใช้ในการทะยานขึ้นและร่อนลง
สำหรับกรณีของประเทศไทยเรานั้น ตัวอย่างการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาเรื่องหนึ่งซึ่งเป็น
พระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ก็คือ “การใช้เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำแก้ปัญหาน้ำเสียในประเทศไทย” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ องค์พระประมุขของปวงชนชาวไทย
ทรงให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนชาวไทยทุกเรื่อง
และทรงแสดงพระปรีชาสามารถด้านความคิดสร้างสรรค์เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ของประชาชน
ดังปรากฏเป็นผลงานที่รู้จักกันทั่วไปหลายโครงการ ตัวอย่างที่จะนำมากล่าวถึงในที่นี้คือผลที่เกิดจากพระปรีชาสามารถด้านความคิดสร้างสรรค์ของพระองค์ท่านในการแก้ปัญหาน้ำเสียโดยใช้เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำที่รู้จักกันในชื่อของ
“กังหันน้ำชัยพัฒนา” ซึ่งเป็นเครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำแบบหมุนช้าที่ทรงพัฒนามาจากกังหันที่ใช้กระแสน้ำมีกระบวยเทลงท่อ
ทรงนำมาสร้างเป็นกังหันน้ำที่ลอยอยู่บนทุ่นลอยซึ่งมีลักษณะสองทุ่นประกบกัน
ตรงกลางมีใบมีดขับเคลื่อนน้ำหมุนรอบเป็นวงกลม
วงกลมนี้มีเครื่องยนต์ที่ตักน้ำขึ้นไปแล้วปล่อยน้ำเป็นฝอยลงมา และเนื่องจากกระบวยระหว่างที่หมุนขึ้นไป
เอาน้ำขึ้นไปแล้วปล่อยลงมานั้น น้ำและหยดน้ำจะสัมผัสกับอากาศอย่างทั่วถึง
ทำให้ออกซิเจนสามารถละลายผสมกับน้ำได้เร็ว
และในช่วงที่น้ำเสียถูกยกขึ้นมาและน้ำตกลงมาจะถูกกระทบสัมผัสกับอากาศจะทำให้ฟองอากาศจมตามลงไปด้วย
ทำให้มีการถ่ายเทออกซิเจนส่วนหนึ่ง นอกเหนือไปจากนั้นตัวกังหันนี้จะหมุนตลอดเวลา
จึงเป็นผลให้ออกซิเจนเข้าไปผสมผสานกับน้ำเน่าเสียที่ต้องการบำบัด
ทำให้เกิดกระแสไหลของน้ำตามกังหันที่หมุนด้วย ทำให้น้ำไหลในทิศทางที่ต้องการ
นับเป็นเครื่องกลที่ใช้แก้ปัญหาการบำบัดน้ำเสียอย่างได้ผล
เป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลายทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
ในเรื่องของการคิดเชิงสร้างสรรค์นี้
อเล็กซานเดอร์ ออสบอร์น ได้นำเสนอแนวความคิด 9 ประการ
ในการคิดเชิงสร้างสรรค์และหาแนวทางใหม่ๆ ทางธุรกิจเพื่อปรับปรุงผลิตภัณฑ์เดิม
ออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือการแตกแขนงรูปแบบของสินค้าแบบใหม่ๆ แนวคิดทั้ง 9 ได้แก่
(1)
การคิดว่าจะเอาไปใช้อย่างอื่นได้หรือไม่
(2)
ดัดแปลงใช้อย่างอื่นได้หรือไม่
ทำให้คิดว่ามีอะไรอีกหรือไม่ที่เหมือนสิ่งนี้
อาจทำให้เกิดแนวคิดการลอกเลียนแบบในระยะแรกแล้วดัดแปลงให้มีความแตกต่างออกไป
(3)
ปรับเปลี่ยนได้หรือไม่
ทำให้เกิดการลองทำสิ่งต่างๆ กับวัตถุหรือชิ้นงานที่สนใจ เช่น จับให้ บิดไป เปลี่ยนสี เติมกลิ่น เปลี่ยนรูปร่าง
ทำให้เคลื่อนไหวแบบอื่น ฯลฯ ตัวอย่างเช่น
การปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ของอาหารประเภทพิซซ่าให้มีหน้าตาแตกต่างกันหลากหลาย
หรือให้มีหน้าหลายชนิดในแผ่นเดียวกัน หรือเปลี่ยนจากลักษณะแผ่นกลมเป็นแบบม้วน
เป็นต้น
(4)
เพิ่มหรือขยายได้หรือไม่
ทำให้เกิดความคิดที่จะลองเพิ่มเวลา เพิ่มความถี่ เพิ่มความหนา เพิ่มขนาด
เพิ่มความแข็ง ทำให้มีค่ามากขึ้น เพิ่มส่วนประกอบให้มากขึ้น ฯลฯ
(5)
ลดหรือหดลง
ทำให้เกิดการลองลดขนาด อัดให้แน่นขึ้น ย่อส่วนลง ตัดให้สั้น ลดราคาให้ ถูกลง ตัดบางส่วนทิ้ง ทำให้ช้าลง ฯลฯ
(6)
มีสิ่งที่ทดแทนได้หรือไม่
ทำให้เกิดความคิดที่จะหาของมาทดแทนของที่มีอยู่ เช่น ส่วนประกอบอื่น วัสดุอื่น
กระบวนการ หรือพลังงานรูปแบบอื่นๆ ฯลฯ
(7)
จัดใหม่ได้หรือไม่
ทำให้เกิดความคิดที่จะจัดองค์ประกอบใหม่ จัดเรียงใหม่ เปลี่ยนตารางการทำงาน
เปลี่ยนสถานที่การทำงาน จัดลำดับความสำคัญใหม่ ฯลฯ
(8)
สลับที่ได้หรือไม่
ทำให้เกิดความคิดกลับด้าน สลับสิ่งของ คิดย้อยกลับ
สลับบทบาทหน้าที่หรือลองเปลี่ยนขั้ว ฯลฯ
(9)
ผสมรวมได้หรือไม่
ทำให้เกิดความคิดที่จะรวมแนวคิด รวมแผนก รวมวัตถุประสงค์ รวมผลิตภัณฑ์เช่นเดียวกัน
เหมือนการรวมส่วนประกอบของผงกาแฟ ครีมเทียม น้ำตาลไว้ในซองเดียวกัน
หรือลองรวมเอาแชมพูสระผมกับครีมนวดผมไว้ในขวดเดียวกัน เป็นต้น
แนวความคิดทั้ง
9
นี้ เป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดความคิดและสิ่งที่สร้างสรรค์ได้ดี
ถ้าได้ทดลองนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน
อาจทำให้ชีวิตเราเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้
2.
การคิดเชิงประยุกต์ (applicative
thinking) คือ
ความสามารถในการนำเอาสิ่งที่มีอยู่เดิม
ไปปรับใช้ประโยชน์ในบริบทใหม่ได้อย่างเหมาะสม โดยยังคงหลักการของสิ่งเดิมไว้ การคิดเชิงประยุกต์จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานของสิ่งที่มีอยู่เดิมในบริบทใหม่ได้อย่างเหมาะสม
อีกทั้งช่วยให้เราหลุดจากการเป็นทาสของประสบการณ์
ทาสของการดำเนินชีวิตตามความเคยชิน
แต่ปรับตัวเข้ากับยุคสมัยและสถานการณ์ที่สภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงไป
3.
การคิดเชิงกลยุทธ์ (strategic
thinking) คือ ความสามารถในการกำหนดแนวทางที่ดีที่สุดภายใต้เงื่อนไข
ข้อจำกัดต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ
การคิดเชิงกลยุทธ์เป็นการคิดที่จะนำเราไปสู่ชัยชนะตามเป้าหมายที่ต้องการ
โดยรู้วิธีการเตรียมความพร้อมเพื่อเอาชนะอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น
เริ่มด้วยการคิดวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน การวิเคราะห์ประเมินจุดอ่อน/จุดแข็งของตนเองและฝ่ายตรงข้าม การประเมินความได้เปรียบ/เสียเปรียบจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
รวมทั้งการคิดคาดการณ์อนาคตที่อาจเกิดขึ้นอันจะนำไปสู่การกำหนดทางเลือกกลยุทธ์ที่มีโอกาสจะประสบความสำเร็จมากที่สุดตามเป้าหมายที่วางไว้
ในทางตรงกันข้ามหากเราไม่รู้วิธีการคิดเชิง
กลยุทธ์เราย่อมตกเป็นเหยื่อและพ่ายแพ้ต่อผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการวางกลยุทธ์มากกว่าอย่างง่ายดาย
เพื่อให้เกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้น
ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างการคิดเชิงกลยุทธ์ของขงเบ้ง (ผู้หยั่งรู้ดินฟ้ามหาสมุทร) จาก
“สามก๊ก” ฉบับเจ้าพระยาพระคลังหน ตอน “ขงเบ้งดีดพิณลวงสุมาอี้” ซึ่งคัดมาจากเนื้อเรื่องตอนที่
73 เล่มที่ 3 หน้า 1227 – 1230 เนื้อความมี ดังนี้
สุมาอี้จึงว่ากับเตียวคับว่า
เราจะยกกองทัพไปตีขงเบ้งตำบลจำก๊ก แต่ทว่าจะเดินกองทัพไปทางเมืองเสเสียจึงจะได้ ด้วยเมืองเสเสียนั้นขงเบ้งซ่องสุมเสบียงอาหารไว้เป็นอันมากเป็นที่สำคัญอยู่
ถ้าเราได้เมืองเสเสียแล้ว
ก็จะได้เมืองลำอั๋น เมืองเทียนซุยด้วยเพราะเป็นทางร่วมตลอดถึงกัน
ถ้าแลขงเบ้งหนีมาถึงที่ท่านซุ่มทหารอยู่ จงยกออกตีตัดเอาเสบียงให้จงได้
เตียวคับรับคำก็คำนับลายกทหารไป สุมาอี้จึงแต่งให้ซินต๋ำ ซินหงีอยู่รักษาเมืองหลิวเซีย
จัดแจงกองทัพแล้วก็ยกมา
ในฝ่ายของขงเบ้งก็ให้ทหารทั้งปวงตระเตรียมเสบียงอาหารให้พร้อม
จึงให้เตียวเอ๊กคุมทหารเป็นกองหน้า
สำหรับจะได้ชำระทางให้ทหารไปได้โดยสะดวกเกณฑ์เกียงอุย ม้าต้าย 2 นายเป็นกองหลัง ให้ตั้งรอปากทางป้องกันทหารทั้งปวงซึ่งจะยกไปอย่าให้มีอันตราย
จึงแต่งคนให้รีบไปบอกผู้ซึ่งรักษาเมืองเทียนซุย เมืองลำอั๋น เมือง เสเสีย ทั้งสามเมืองให้ทิ้งเมืองเสีย
ให้รีบยกหนีเข้าไปเมืองฮันต๋งเถิด ขงเบ้งจัดแจงเสร็จแล้วก็คุมทหารห้าพันยกไปเมืองเสเสีย
ครั้นถึงจึงเกณฑ์ทหาร 2,500 นาย ไปขนข้าวปลาอาหารทุกตำบล
แล้วตัวขงเบ้งนั้นก็คุมทหารกึ่งหนึ่งเข้าตั้งอยู่ในเมือง
ขณะนั้นมาใช้มาบอกว่า สุมาอี้ยกทหารมาแล้ว
ขงเบ้งแจ้งดังนั้นก็ตกใจ ทหารทั้งปวงก็หน้าซีดไปสิ้นทุกคน ขงเบ้งน้อยตัวแลทหารผู้ใหญ่ก็ไม่อยู่มิรู้ที่จะสู้รบประการใด
จึงขึ้นไปดูบนเชิงเทิน เห็นทหารสุมาอี้ยกมาเป็นอันมากดังหนึ่งจะเหยียบเมืองเสีย
จึงให้ทหารรื้อถอนธงที่ปักไว้บนกำแพงนั้นลงเสียสิ้นแล้วให้เปิดประตูเมืองไว้ทั้งสี่ด้าน
จัดทหารแลชาวบ้านให้กวาดทางประตูเมืองเป็นปรกติอยู่ประตูละยี่สิบคน
มิให้สะดุ้งสะเทือน แล้วก็ขับให้ทหารทั้งปวงเข้าซุ่มเสียมิให้พูดจากันเป็นปากเสียง
จึงว่าเราจะคิดกลยุทธ์อันหนึ่งให้สุมาอี้ถอยไปจงได้
ถ้าผู้ใดเจรจากันอื้ออึงไปจะตัดศีรษะเสีย สั่งแล้วขงเบ้งก็แต่งตัวโอ่โถงพาเด็กน้อย
2
คนขึ้นไปบนหอรบ ให้เด็กนั้นถือกระบี่คนหนึ่ง
คนหนึ่งถือแส้ยืนอยู่ทั้งสองข้าง แล้วตั้งกระถางธูปบูชาไว้ข้างหน้า
ก็นั่งดีดกระจับปี่เล่นอยู่
ฝ่ายทหารกองหน้าสุมาอี้ยกเข้ามาใกล้เชิงกำแพงเมือง
แลขึ้นไปดูบนหอรบเห็นขงเบ้งนั่งดีดกระจับปี่อยู่ก็คร้ามใจ กลับออกไปบอกสุมาอี้ว่า
บัดนี้ข้าพเจ้ายกเข้าถึงเชิงกำแพง เห็นเมืองเงียบอยู่ มีแต่คนประตูละ 20 คนนั่งกวาดหยากเยื่อเฉยอยู่ แล้วตัวขงเบ้งนั้นขึ้นนั่งดีดกระจับปี่เล่นอยู่บนหอรบเห็นประหลาดนัก
จะเข้าเมืองนั้นก็เกรงจะถูกกล ขงเบ้ง จึงกลับมาบอกท่าน
สุมาอี้ได้ฟังดังนั้นก็หัวเราะแล้วจึงว่า
ขงเบ้งนี้จะอาจกระนั้นเจียวหรือเรามิเชื่อจะไปดูเอง สุมาอี้ขึ้นม้าพาทหารไปประมาณ
20
คน ยืนอยู่แค่ไกลเชิงกำแพงแลขึ้นไปเห็นขงเบ้งแต่งตัวโอ่โถง
หน้าตาแช่มชื่นบานสบายอยู่ ก็คิดว่ากองทัพเรายกมาเป็นการจวนตัวถึงเพียงนี้ ขงเบ้งหามีความสะดุ้งใจไม่
กลับดีดกระจับปี่เล่นเสียอีกเล่า ชะรอยจะแต่งกลไว้ลวงเราเป็นมั่นคง
คิดฉะนั้นแล้วก็กริ่งใจกลัวว่าขงเบ้งจะซุ่มทหารไว้ ก็ชักม้าพาทหารกลับไป
ความกลัวมิทันจะจัดแจงทหารก็ให้กองหน้าเป็นกองหลังขับทหารรีบถอยทหารออกมา
สุมาเจียวผู้บุตรจึงห้ามว่า
เหตุไฉนบิดาจึงมากลัวขงเบ้งดังนี้
ขงเบ้งนี้เป็นคนสิ้นทหารสุดความคิดสู้เรามิได้แล้ว ก็ซังตายแข็งใจทำกลเปล่าๆ อยู่
สุมาอี้จึงว่า
ตัวเจ้าหนุ่มแก่ความยังมิสู้สันทัดเคยกลขงเบ้ง อันขงเบ้งเป็นคนมีสติปัญญาชำนาญในการสงครามนัก
จะทำการสิ่งใดก็แน่นอน เคยทำกลศึกมีชัยมาหลายครั้ง เจ้ามีสติปัญญาแต่เพียงนี้
จะล่วงดูหมิ่นขงเบ้งเป็นผู้ใหญ่แก่ในการศึกษานั้นมิบังควร
แม้จะขืนทำล่วงเกินไปก็จะต้องด้วยกลของขงเบ้งพากันตายเสียสิ้น
ซึ่งถ้อยคำของเจ้าว่าเราจะเชื่อฟังมิได้ แล้วก็เร่งขับทหารทั้งปวงให้รีบไป
ขงเบ้งเห็นสุมาอี้ยกทหารกลับไปก็ตบมือหัวเราะ
ทหารทั้งปวงจึงถามว่า สุมาอี้ยกทหารมา 15 หมื่นจะทำร้ายท่าน
การจวนตัวอยู่ถึงเพียงนี้ เหตุใดท่านจึงมิกลัวตบมือหัวเราะเสียอีกเล่า ขงเบ้งจึงว่า
ซึ่งเราหัวเราะทั้งนี้เพราะเห็นสุมาอี้รู้มิเท่าเรา
สำคัญว่าเราซุ่มทหารไว้ก็ตกใจกลัวหนีไปเอง อันกลอุบายนี้เรามิทำก็จำทำ
ด้วยจนใจจวนตัวอยู่แล้วก็จำเป็น แลสุมาอี้กลับไปครั้งนี้เห็นจะไปทางน้อยริมเขาบุกกองสันเป็นมั่นคง
ก็จะพบกองทัพกวนหิน เตียวเปาซึ่งไปซุ่มอยู่
จะต้องด้วยกลของเราทำไว้จะไม่เสียทีเปล่า
ทหารทั้งปวงได้ฟังขงเบ้งว่าก็ยินดี
ชวนกันลงมาคำนับแล้วว่า ถ้าเป็นใจข้าพเจ้าทั้งปวงนี้ที่ไหนจะแข็งใจอยู่ได้
ก็จะทิ้งเมืองเสียพากันหนีไป ขงเบ้งจึงว่า
ถ้าจะทำใจอ่อนทิ้งเมืองเสียเหมือนท่านว่านั้น ทหารเรา 2,500 สักหยิบมือหนึ่งหรือจะหนีทหาร 15 หมื่นพ้น
เขาก็จะไล่จับเอาดังหนู ประเดี๋ยวหนึ่งก็จะจูงจมูกมาได้สิ้น
ว่าแล้วก็ตบมือหัวเราะ ทหารทั้งปวงก็ดีใจ
ดังที่ได้ยกเป็นตัวอย่างข้างต้น
จะเห็นได้ว่าทักษะการคิดเชิงกลยุทธ์นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง
ส่งผลต่อการแพ้ชนะในการรบ และหากนำมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต
ชีวิตของเราก็จะดำเนินไปสู่ชัยชนะตามเป้าหมายที่ต้องการได้อย่างง่ายดาย เปรียบประดุจ
“ขงเบ้งดีดพิณลวงสุมาอี้”
4.
การคิดเชิงบูรณาการ (integrative
thinking) คือ
ความสามารถในการเชื่อมโยงแนวความคิดหรือองค์ประกอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
เข้าหาแกนหลักได้อย่างเหมาะสม
เพื่ออธิบายหรือให้เหตุผลสนับสนุนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง การคิดเชิงบูรณาการเป็นการคิดบนฐานความเข้าใจในสัจธรรมที่ว่าสิ่งต่างๆ
นั้นไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งใดแต่เชื่อมโยงกับสิ่งต่างๆ
มากกว่าหนึ่งสิ่งอย่างเป็นเหตุผลสัมพันธ์กันทั้งเหตุผลที่เชื่อมกันโดยตรงและโดยอ้อม
ดังนั้น
ในการพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่งจึงจำเป็นต้องมององค์ประกอบแวดล้อมให้รอบด้าน
การคิดเชิงบูรณาการจึงเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้เรามองเรื่องเรื่องเดียวได้อย่างครบถ้วนทุกแง่ทุกมุมสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ได้อย่างมีเหตุผล
ทำให้เรามองเห็นภาพทั้งภาพเข้าใจบริบททั้งหมดไม่ตกหล่นในประเด็นสำคัญๆ
เมื่อเห็นความเชื่อมโยงทั้งหมดจึงทำให้เกิดความเข้าใจและตัดสินใจไม่ผิดพลาด
5.
การคิดเชิงอนาคต (futuristic
thinking) คือ ความสามารถในการคาดการณ์
สิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอย่างมีหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม การคิดเชิงอนาคตจะช่วยให้เข้าใจสภาพปัจจุบันและคาดการณ์ภาพอนาคตได้
ช่วยให้เราขยายขอบเขตการมองชีวิตให้กว้างออกไปจากกรอบที่เคยมองแต่เพียงชีวิตประจำวันหรือความเคยชินตามปกติโดยมองออกไปว่าในสังคมรอบๆ
ตัวเรามีสิ่งใดเกิดขึ้นบ้าง
วิเคราะห์ว่าสิ่งเหล่านั้นจะส่งผลกระทบต่อเราอย่างไรทั้งทางตรงและทางอ้อม
หากเรารู้แต่ละสิ่งสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างไร
เราก็จะสามารถคาดการณ์ได้ว่าจะมีผลกระทบต่อกันในอนาคตอย่างไรและจะต้องเตรียมพร้อมในการรับมืออย่างไร
6.
การคิดเชิงวิพากษ์ (critical
thinking) คือ
ความตั้งใจที่จะพิจารณาตัดสินเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยไม่เห็นคล้อยตามข้อเสนออย่างง่ายๆ
แต่ตั้งคำถามท้าทายหรือข้อสมมติที่อยู่เบื้องหลัง
และพยายามเปิดแนวทางความคิดออกสู่ลู่ทางต่างๆ ที่แตกต่างจากข้อเสนอนั้น เพื่อให้สามารถได้คำตอบที่สมเหตุสมผลมากกว่าข้อเสนอเดิม
การคิดวิพากษ์เป็นกระบวนการคิดที่มีเป้าหมายเพื่อนำไปสู่การค้นหาข้อเท็จจริงและความจริง
การเปลี่ยนแปลงใหม่ เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีกว่า
ถูกต้องเหมาะสมกับการดำเนินชีวิตและบริบทแวดล้อมมากกว่า ที่สำคัญคือเกิดผลดีแก่ชีวิตและสังคมส่วนรวมมากกว่า
เพราะหากปราศจากการคิดเชิงวิพากษ์
เรามักจะคิดว่าสิ่งที่ปฏิบัติกันอยู่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง การตัดสินสิ่งใดๆ
จะไม่ผ่านกระบวนการกลั่นกรองทางความคิดเชิงโต้แย้ง
ซึ่งอาจทำให้เราตัดสินใจผิดและส่งผลร้ายได้ในที่สุด
7.
การคิดเชิงวิเคราะห์ (analytical
thinking) คือ การจำแนกแจกแจงองค์ประกอบต่างๆ
ของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และหาความสัมพันธ์เชิงเหตุผล
ระหว่างองค์ประกอบเหล่านั้น เพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของสิ่งที่เกิดขึ้น การคิดเชิงวิเคราะห์เปรียบเหมือนการเห็นผลลัพธ์ของบางสิ่งแล้วไม่ด่วนสรุปทันทีว่าเกิดจากสาเหตุใดมีองค์ประกอบใดมีความเป็นมาอย่างไร
แต่พยายามหาข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเสียก่อนว่าผลลัพธ์ที่เราเห็นนั้นเกิดจากสาเหตุที่แท้จริงคืออะไร
โดยมาจากสมมติฐานที่ว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมานั้นย่อมมีที่มาที่ไป ย่อมมีเหตุมีผลและมีองค์ประกอบย่อยๆ
ซ่อนอยู่ภายในซึ่งอาจจะสอดคล้องหรือตรงกันข้ามกับสิ่งที่ปรากฏภายนอก
ทำให้เราเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างกระจ่างก่อนที่จะเชื่อหรือสรุปสิ่งนั้น
8.
การคิดเชิงสังเคราะห์ (synthesis-type
thinking) คือ
ความสามารถในการดึงองค์ประกอบต่างๆ มาผสมผสานเข้าด้วยกันเพื่อให้ได้สิ่งใหม่ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ
การคิดเชิงสังเคราะห์จะช่วยให้เราไม่ต้องคิดสิ่งต่างๆ
เหมือนกับว่าสิ่งนั้นไม่เคยเกิดขึ้นมากก่อนเลยแต่สามารถนำสิ่งที่คนอื่นคิดหรือไปปฏิบัติมาแล้วมาใช้ประโยชน์ได้โดยดูจากเรื่องเดียวกันในหลายๆ
ที่ หลายๆ แห่งทั้งที่เกี่ยวข้องกันโดยทางตรงและที่เกี่ยวข้องกันโดยทางอ้อม
เอามาผสมกันเป็นทางออกของปัญหาและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ
คนที่คิดเชิงสังเคราะห์เป็นและสังเคราะห์ได้อย่างรวดเร็วย่อมได้เปรียบกว่าคนที่สังเคราะห์ไม่ได้
เพราะสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่สังเคราะห์เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ได้มากกว่า
9.
การคิดเชิงเปรียบเทียบ (comparative
thinking) คือ
การพิจารณาเทียบเคียงความเหมือนหรือความแตกต่าง ระหว่างสิ่งนั้นกับสิ่งอื่นๆ
เพื่อให้เกิดความเข้าใจ สามารถอธิบายเรื่องนั้นได้ เพื่อประโยชน์ในการคิด
การแก้ปัญหา การหาทางเลือกเรื่องใดเรื่องหนึ่ง การคิดเชิงเปรียบเทียบเป็นการคิดที่สำคัญยิ่งเพราะเป็นการคิดที่ก่อให้เกิดประโยชน์มาก
การคิดเชิงเปรียบเทียบในลักษณะวิเคราะห์ข้อมูลจะช่วยลดข้อผิดพลาดของการอ้างเหตุผลและทำให้การตัดสินใจเลือกถูกต้องมากขึ้น
การคิดเชิงเปรียบเทียบในลักษณะอุปมาจะช่วยทำให้เรื่องยากและซับซ้อนเข้าใจได้ง่ายขึ้น
ส่วนการคิดเชิงเปรียบเทียบเพื่อการแก้ปัญหาจะช่วยจุดประกายความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ
ซึ่งหากเราขาดความสามารถในการคิดมิตินี้ไปจะทำให้การคิดของเราในเรื่องต่างๆ
ผิดพลาดได้ง่าย
10.
การคิดเชิงมโนทัศน์ (conceptual
thinking) คือ ความสามารถในการประสานข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่เกี่ยวกับเรื่องหนึ่งเรื่องใดได้อย่างไม่ขัดแย้ง
แล้วนำมาสร้างเป็นแนวความคิดรวบยอดหรือกรอบความคิดเกี่ยวกับเรื่องนั้น การที่เราต้องเรียนรู้วิธีคิดเชิงมโนทัศน์นั้นเนื่องมาจากกรอบความคิดในแต่ละเรื่องของเราจำกัดด้วยประสบการณ์
ความรู้และบริบทแวดล้อมที่แตกต่างกันไม่เพียงพอต่อการนำไปตีความเหตุการณ์ต่างๆ
ที่เกิดขึ้นได้อย่างเข้าใจ
อีกทั้งมโนทัศน์ที่เรามีนั้นอาจจะไม่ถูกต้องไม่สมเหตุสมผลหรือมีความขัดแย้งกันเองส่งผลให้เราวินิจฉัย
ตัดสิน หรือแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างผิดพลาด ดังนั้น
การเรียนรู้วิธีการคิดเชิงมโนทัศน์จะช่วยให้เราไม่ตัดสินหรือตีความสิ่งใดอย่างไม่รอบคอบและจะช่วยให้เราสร้างเลนส์ในการมองโลกในเรื่องต่างๆ
ได้อย่างคมชัด เพราะเรามีความคิดและเหตุผลเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ อย่างคมชัดนั่นเอง
หากคนเรารู้จักวิธีคิดเชิงระบบในทางโลกและสามารถพัฒนาทักษะการคิดได้ครบทั้ง
10
วิธีดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นก็จะช่วยให้ประสบความสำเร็จได้ไม่ยากและจะไม่ผิดพลาดในการตัดสินใจทำสิ่งใดๆ
เพราะจะไม่หลงเชื่อสิ่งใดอย่างงมงายแต่จะคิดไตร่ตรองอย่างละเอียดรอบคอบมีระบบมีระเบียบก่อนตัดสินใจ
สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยวิธีการที่สร้างสรรค์และสามารถดำเนินชีวิตอย่างมีกลยุทธ์ทำให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ได้
อีกทั้งสามารถเตรียมความพร้อมให้กับอนาคตที่จะมาถึงได้อย่างรอบคอบ อนึ่ง
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นโปรดดูภาพ Mind Map ด้านล่างนี้ประกอบ
อ้างอิง
เกรียงศักดิ์
เจริญวงศักดิ์. (2546). การคิดเชิงสร้างสรรค์. กรุงเทพมหานคร:
ซัคเซสมีเดีย.
เกรียงศักดิ์
เจริญวงศักดิ์. (2546). การคิดเชิงประยุต์. กรุงเทพมหานคร:
ซัคเซสมีเดีย.
เกรียงศักดิ์
เจริญวงศักดิ์. (2546). การคิดเชิงกลยุทธ์. กรุงเทพมหานคร:
ซัคเซสมีเดีย.
เกรียงศักดิ์
เจริญวงศักดิ์. (2546). การคิดเชิงบูรณาการ. กรุงเทพมหานคร: ซัคเซสมีเดีย.
เกรียงศักดิ์
เจริญวงศักดิ์. (2546). การคิดเชิงอนาคต. กรุงเทพมหานคร:
ซัคเซสมีเดีย.
เกรียงศักดิ์
เจริญวงศักดิ์. (2546). การคิดเชิงวิพากษ์. กรุงเทพมหานคร: ซัคเซสมีเดีย.
เกรียงศักดิ์
เจริญวงศักดิ์. (2546). การคิดเชิงวิเคราะห์. กรุงเทพมหานคร: ซัคเซสมีเดีย.
เกรียงศักดิ์
เจริญวงศักดิ์. (2546). การคิดเชิงสังเคราะห์. กรุงเทพมหานคร: ซัคเซสมีเดีย.
เกรียงศักดิ์
เจริญวงศักดิ์. (2546). การคิดเชิงเปรียบเทียบ. กรุงเทพมหานคร: ซัคเซสมีเดีย.
เกรียงศักดิ์
เจริญวงศักดิ์. (2546). การคิดเชิงมโนทัศน์. กรุงเทพมหานคร: ซัคเซสมีเดีย.
หมายเหตุ
ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดบทความฉบับสมบูรณ์ได้
ที่นี่ https://www.academia.edu/7208236/How_to_develop_systems-thinking_skills
หมายเหตุ
ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดบทความฉบับสมบูรณ์ได้
ที่นี่ https://www.academia.edu/7208236/How_to_develop_systems-thinking_skills
No comments:
Post a Comment