Thursday, June 26, 2014

ใจกลางของปัญหาการเมืองไทย

จากการที่ผมได้อ่านข้อเขียน ๓ ชิ้น [๑] ของรองศาสตราจารย์ธเนศ วงศ์ยานนาวา ในฐานะบรรณาธิการวารสารทางวิชาการรัฐศาสตร์สาร และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมเข้าใจและตีความจากสิ่งที่อาจารย์ธเนศเขียนได้ว่า ใจกลางของปัญหาการเมืองไทยอยู่ตรงที่การเมือง ศาสนา และระบบเครือญาติ (kinship) เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดังที่อาจารย์ธเนศ เขียนเอาไว้ว่า


"...เพราะเรื่องของเครือญาติสายเลือดลูกหลาน เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดทรัพย์สมบัติและอำนาจที่สืบทอดกันไป ใครจะได้ตำแหน่งได้สมบัติก็เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย เพราะถ้าไม่เป็นไปตามแผนการก็มีการล้มล้างกันได้" [๒]
ข้อเขียนทั้ง ๓ ชิ้นของอาจารย์ธเนศที่ผมนำมาโพสต์ไว้ ณ ที่นี้ ได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากงานชิ้นสำคัญของนักมานุษยวิทยา Marshall Sahlins [๓]

ผมขอคัดเนื้อหาฉบับเต็มๆ เนื้อๆ มาให้ได้อ่านกัน โดยเรียงตามลำดับ [๑] ดังนี้
(๑) สำหรับปี ๒๐๑๔ ก็เป็นปีใหม่ที่ระทึกใจ รุนแรง โดยสภาวะวิตกจริตจะปรากฏตั้งแต่ปลายปี ๒๐๑๓  แสดง "ความต่อเนื่อง" ประหนึ่งเวลาแห่งประวัติศาสตร์ยากที่จะหลุดออกจากผีแห่งกาลเวลาที่กำกับ "ความทรงจำ" ย้อนกลับไปไกลจนถึงเมื่อสี่สิบปีที่แล้ว สี่สิบกว่าปีน้อยๆ แห่งเวลาและความสำนึกแห่งอำนาจของการเมือง "มหาชน" (mass politic) ที่เชื่อมโยงกับปฏิบัติการของเหล่าเครือข่ายชนชั้นไม่ว่าจะเป็นชนชั้นไหน สงครามระหว่างครอบครัว สงครามของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ต่างฝ่ายต่างกระทำในนามของคนอื่นๆ การต่อสู้ของกลุ่มคนไปจนถึงครอบครัวกลายเป็นจักรกลสำคัญของการเปลี่ยนแปลงและการครอบครองอำนาจไปจนถึงการสถาปนาอำนาจ การสถาปนาผ่านกลไกแห่งความเป็นนามธรรมอย่าง "ประชาชน" ที่ "มาก่อนเวลา" และ "หลังเวลา" ไปพร้อมๆ กันประหนึ่งกรอบคิดรัฐธรรมนูญอเมริกัน "We the People" ยังคงหลอกหลอนประหนึ่งผีแห่งรัฐสมัยใหม่ไม่สามารถจะไปทั้งสวรรค์และนรก
      ดังที่ Marshall Sahlins นักมานุษยวิทยาชื่อดังชาวอเมริกันได้กล่าวไว้ว่า 'the elementary forms of kinship, politics and religion, are all in one' โดยสิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็พร้อมเสมอที่จะขัดแย้งกันเองหรือขัดกันภายในตัวเอง ผีของอรชุนก็ยังคงไม่ไปผุดไปเกิด (ดาวน์โหลดต้นฉบับเต็มๆ ได้ ที่นี่)
(๒) แต่สำหรับ Sahlins แล้ว 'the elementary forms of kinship, politics and religion are all in one' นี่เป็นประโยคที่ Sahlins ลงท้ายไว้ในบทความชื่อ "The Stranger-King of Elementary Forms of the Politics of Life" ...ระบบเครือญาติหรือการนับญาติที่ไม่ได้มีความสำคัญกับการเมืองสมัยใหม่อีกต่อไป...แต่พลังของเลือดย่อมข้นกว่าน้ำก็ยังเป็นสิ่งที่เห็นได้จากการเมืองไทยจนทำให้คำกล่าวของ Sahlins ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นสิ่งที่มีความหมาย เพราะเรื่องของเครือญาติสายเลือดลูกหลาน เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดทรัพย์สมบัติและอำนาจที่สืบทอดกันไป ใครจะได้ตำแหน่งได้สมบัติก็เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย เพราะถ้าไม่เป็นไปตามแผนการก็มีการล้มล้างกันได้ ใครเลือกจะอยู่กับอำนาจของใครในอนาคตก็เปรียบประดุจการแทงหวย ถ้าไม่ถูกกินก็ถือว่าโชคดีไป
(๓) สภาวะก่อนสมัยใหม่และสภาวะของสังคมโบราณเป็นสภาวะที่ไม่ได้แยกการเมืองออกจากศาสนา กรอบคิดปรากฏให้เห็นได้ในงานของ Georges Dumezeil กับการศึกษาตำนานของพวกอินโด-ยุโรเปี่ยน ให้ภาพของการเป็นหนึ่งเดียวกันของการเมืองและศาสนา ไปจนถึงทำให้เห็นได้ว่าไม่มีการแยกกันระหว่างตะวันออกและตะวันตก ครั้นถ้าใช้คำของนักมานุษยวิทยาอย่าง Marshall Sahlins แล้ว การเมือง ศาสนา และระบบเครือญาติ (kinship) ทั้งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน...
ดังนั้น ถ้าการเมือง/ศาสนา/เครือญาติ (ครอบครัว) ทั้งหมดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้วก็ทำให้ภาพของการเป็นผู้นำทางศาสนาและผู้นำทางการเมืองตลอดจนความเป็นเครือญาติเป็นอะไรที่แยกจากกันยาก
 อ้างอิง

     [๑] เอกสาร ๓ ชิ้นนี้ได้แก่ (๑) บทบรรณาธิการรัฐศาสตร์สาร ปีที่ ๓๕ ฉบับที่ ๑ (มกราคม-เมษายน ๒๕๕๗)  (๒) กิตติกรรมประกาศของหนังสือ ม (า) นุษย์โรแมนติค (สำนักพิมพ์ศยาม, ๒๕๕๖), หน้า ๗ และ (๓) บทความ Carl Schmitt และเอกเทวนิยม: ตำนานแห่งความเป็นรัฐ/การเมือง ใน รัฐศาสตร์สาร ปีที่ ๓๕ ฉบับที่ ๓ (กันยายน-ธันวาคม ๒๕๕๗), หน้า ๑๓๖.
     [๒] บทบรรณาธิการรัฐศาสตร์สาร ปีที่ ๓๕ ฉบับที่ ๑ (มกราคม-เมษายน ๒๕๕๗)
     [๓] Marshall Sahlins, "The Stranger-King, or Elementary Forms of Politics of Life", Indonesia and the Malay World, Vol. ๓๖, Issues. ๑๐๕ (July, ๒๐๐๘), pp. ๑๗๗-๑๙๙.

No comments:

Post a Comment