Sunday, October 26, 2014

โลกในศต.ที่ 21

เมื่อวานนี้ได้มีโอกาสแวะไปที่ห้างสหไทย อำเภอทุ่งสง เลยแวะเข้าไปในร้านหนังสือซีเอ็ด พบหนังสือออกใหม่ของอาจารย์จุลชีพ ชินวรรโณ อาจารย์ที่สอนผมสมัยแรกเข้าเรียนในระดับปริญญาเอก เมื่อปี 2552 ภาคฤดูร้อน ในรายวิชา ร.504 ความรู้เบื้องต้นทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ผมได้ทำสรุปการบรรยายของ รองศาสตราจารย์ ดร.จุลชีพ ชินวรรโณเก็บไว้ แล้วทำลิงก์ให้ดาวน์โหลดได้ฟรี ที่นี่
ปรากฏว่าเนื้อหาในการบรรยายทั้งหมด ปรากฏออกมาในรูปของหนังสือเล่มนี้สีสันสวยงาม (ดูภาพด้านล่าง) ใครสนใจอยากหามาเก็บไว้เป็นสมบัติส่วนตัว ขอแนะนำเลยนะครับ



Wednesday, October 22, 2014

จากยุคพลเอกเปรมถึงยุคนายชวน



รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้ยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม 2531 ภายหลังการเลือกตั้งได้มีเสียงเรียกร้องให้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พลเอกเปรม ติณสูลานนท์จึงไม่ยอมเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ แม้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่จะสนับสนุน ด้วยเหตุนี้ สภาผู้แทนราษฎรจึงลงมติเสนอชื่อพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณเป็นนายกรัฐมนตรี
ช่วงนี้เศรษฐกิจของเมืองไทยอยู่ในขั้นดี จากผลของการดำเนินงานของรัฐบาลที่ผ่านมา การก่อสร้างและธุรกิจที่ดินเจริญเติบโตมากจนประชาชนที่เป็นชาวไร่ชาวนาพากันขายที่ดิน และมีการซื้อขายที่ดินผ่านมืออย่างรวดเร็ว ประกอบกับการรบพุ่งต่อสู้กันของประเทศเพื่อนบ้านสงบลง รัฐบาลจึงประกาศนโยบายทำสนามรบให้เป็นสนามการค้า และพยายามดำเนินการให้คนไทยไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน
อย่างไรก็ดี ช่วงการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งก็ถูกขัดขวางจากการปฏิวัติของคณะทหารที่ใช้ชื่อว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัน ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2535 แล้วประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2532 และประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 แทน พร้อมกันนั้นได้เชิญนายอานันท์ ปันยารชุน มาเป็นนายกรัฐมนตรี
ภายหลังการเลือกตั้งในเดือนเมษายน 2535 สมาชิกสภาผู้แทนกลุ่มพรรคต่างๆ ที่เป็นเสียงข้างมากได้เชิญพลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบกเป็นนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 6 พฤษภาคม 2535 ระหว่างนั้นได้เกิดการประท้วงรัฐบาลจนเกิดการนองเลือดครั้งใหญ่จนรัฐบาลต้องลาออก เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2535 และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งนายอานันท์ ปันยารชุน เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งเพื่อยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ ภายหลังการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกนายชวน หลีกภัยเป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2535 

Thursday, October 16, 2014

การบริหารคนแบบคนใต้


"แล้วอีกอย่างหนึ่งนะที่สำคัญที่สุด คนนะไม่ใช่คอมพิวเตอร์ คนมันมีความร้อน มีอุณหภูมิ มีความร้อน ความหนาว แต่ละช่วง แต่ละวัน ฉะนั้น ที่สำคัญที่สุดการบริหารความรู้สึกของคนให้ได้ เรื่องใหญ่นะ บริหารความรู้สึกคน เราไม่รู้ว่าแต่ละวันเขาไปเจออะไรมา สมมติว่าเขาทะเลาะมากับแฟนที่บ้าน เราก็ต้องหมั่นสังเกต วิเคราะห์คนให้ออกว่าวันนี้ทำไมหน้าตาไม่เหมือนเมื่อวาน น้ำเสียงก็เหมือนกัน ต้องรู้ถึงความรู้สึกเขาให้ได้ เพราะฉะนั้น เวลาเราจะมอบงานก็อย่าไปมอบในช่วงนั้น เดี๋ยวมันก็ด่ากลับมาแหละ ถ้ารอได้ก็รอ เพื่อนอารมณ์ไม่ดี ขืนไปมอบหมายงานก็เป็นเรื่อง นี่คือการบริหารงานของคนใต้ แต่ละวันสำหรับบางคนเหมือนกับเปลี่ยนไป 3-4 เวลาเลย เช้า สาย บ่าย เย็น ไปกันคนละเรื่อง คืออารมณ์มันไม่เสถียร แต่บางคนอารมณ์เยือกเย็นเสถียรตลอด คนที่อารมณ์ร้อนก็จะร้อนตลอดอันนี้ไม่เป็นไร แต่ว่าที่มาแบบเย็นบ้าง ร้อนบ้าง เราเดาไม่ถูก เราก็ต้องหาทางเข้าให้ถูก
สัมภาษณ์ผู้อำนวยการโรงเรียนท่านหนึ่ง 

อาชีพที่รวยนิ้วมือ

"อาชีพนี้เป็นอาชีพที่รวยนิ้วมือ (เน้นเสียงหนัก) ไม่ได้ร่ำรวยอย่างอื่น มันเป็นคุณค่าทางใจ แต่ก็ถูกต่อว่าว่าครูเป็นหนี้เป็นสินเยอะแยะ แหม่แทบอยากจะฆ่าให้ตายเลยไอ้พวกที่ให้ข่าวอย่างนั้น ไปบอกว่าครูสร้างหนี้สร้างสิน แล้วทำไมคุณถึงไม่ไปดูว่าไอ้หนี้สินที่เขาเอาไปสร้างนะ เขาเอาไปทำอะไร เขามีที่ เขามีไร่ เขามีสวน เขาทำสวนยาง เขาทำสวนปาล์ม เป็นอาชีพเสริมของเขา เสาร์-อาทิตย์ เขาก็ไม่มีเวลาไปฉ้อโกงตรงไหน ไม่ไปเบียดเบียนตรงไหน ถูกไหมคะอาจารย์ ในเวลาราชการเขามาสอนเต็มที่ เท่าที่เขาจะทำได้ จะเห็นนะคะว่าไม่มีใครไปดูแลสวนของตนเองในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เขาไปเสาร์-อาทิตย์ เขาไปช่วงปิดเทอม แล้วคุณจะมาเบียดเบียนอะไรละกับครู" - สัมภาษณ์ครูในจังหวัดสุราษฎร์ธานีท่านหนึ่ง

Wednesday, October 15, 2014

PPT หน้าที่พลเมืองและจิตสำนึกสาธารณะ

พาวเวอร์พ้อยท์นี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา ทักษะชีวิต ที่ผมใช้สอนในหัวข้อ หน้าที่พลเมืองและจิตสำนึกสาธารณะให้กับนักศึกษาหมวดวิชาศึกษาทั่วไปชั้นปีที่ 1 ท่านใดสนใจ ดาวน์โหลดกันได้ ที่นี่ครับ



Tuesday, October 14, 2014

การทำซ้ำหัวตาราง

ปัญหาประการหนึ่งของการทำงานด้วย MS-Word ก็คือเรื่องหัวตารางที่เราพิมพ์ไว้ในหน้าที่ 1 แต่เมื่อทำงานต่อเนื่องไปยังหน้าที่ 2 แล้ว หัวตารางกลับไม่ได้ตามไปอยู่ในหน้าที่ 2 ด้วย หลายคนปล่อยเลยตามเลย สำหรับคนที่ยังไม่รู้ไม่ทราบ วิธีการเป็นอย่างนี้ครับ

ผลลัพธ์ที่ได้ เป็นอย่างภาพด้านล่างนี้นะฮะ



Monday, October 13, 2014

ข้อดีของประชาธิปไตยที่ถูกกำกับโดยเสรีนิยม

ข้อดีของประชาธิปไตยที่ถูกกำกับโดยเสรีนิยม (Liberal Democracy) ซึ่งพวกเผด็จการที่ปกครองประเทศอยู่ ณ ขณะนี้ไม่รู้จัก ก็คือ..

“เสรีนิยมเป็นแนวความคิดทางการเมืองที่อำนาจรัฐแม้จะเป็นอำนาจของเสียงข้างมากและเป็นอำนาจที่แข็งแกร่งแต่ก็จะจำกัดอำนาจของตนและปล่อยให้คนที่มีความคิด และความรู้สึกที่แตกต่างออกไปจากตนจะยังมีพื้นที่ที่จะยื่นอยู่ได้”

- โฆเซ่ ออร์เตก้า อี กาเซต์, 1930 -

http://fnfthailand.org/library-of-freedom/liberal-ideas

Sunday, October 12, 2014

วางมือจากสิ่งที่คุณทำสักพัก

"วางมือจากสิ่งที่คุณทำสักพัก แล้วใคร่ครวญดูสิว่า อะไรที่ทำแล้วได้ผล และอะไรที่ทำแต่ไม่เคยได้ผล คนบางคนก็ทำซ้ำอย่างเดิมอยู่นั่นแหละ มีแต่คนบ้าเท่านั้น ที่ทำอะไรแบบเดิมๆ แล้วคาดหวังว่าผลที่ได้จะแตกต่างไปจากสิ่งที่มันเป็นอยู่"
# มิตรสหายท่านหนึ่ง
หลักคิดนี้ ผมนำไปสอนนักศึกษาเรื่องการอ่านหนังสือเตรียมสอบ การอ่านหนังสือและจดโน้ตแบบเดิมๆ ก็เหมือนภาพด้านล่างนี้ หลายครั้งอ่านมาก อ่านเยอะเท่าไหร่ คะแนนและผลสอบที่ได้ก็ไม่ค่อยดี บางทีเราอาจต้องมาทบทวนวิธีการเดิมๆ ของเราเสียใหม่



 ถ้าอยากให้ผลการเรียนที่ได้รับ แตกต่างออกไป ลองวิธีการใหม่ๆ บ้างในการอ่านและจดโน้ต ตัวอย่างเช่น การทำแผนผังความคิด (Mind Map) แบบนี้

ใครสนใจวิธีการทำแผนผังความคิดโดยละเอียด อ่านได้จาก ลิงก์ต่อไปนี้
http://www.siraekabut.com/2013/07/mind-map/ 


Saturday, October 11, 2014

ออกแบบอย่างไรให้องค์กรแกร่ง

ผมมีโอกาสไปนั่งสนทนาพูดคุยกับอาจารย์รุ่นน้องในหลักสูตรทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์ ณ ร้านกาแฟแห่งหนึ่ง ระหว่างรอกินกาแฟน้องอาจารย์ก็หยิบหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจมาให้อ่านฆ่าเวลา เผอิญเปิดไปเจอหัวข้อที่น่าสนใจ เรื่อง "ออกแบบอย่างไรให้องค์กรแกร่ง"
อ่านแล้วเห็นว่าเนื้อหาน่าสนใจก็เลยถ่ายรูปเก็บไว้ตั้งใจว่าหากมีโอกาสก็จะเอามาสอนนักศึกษาทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์ที่ผมสอน เนื้อหาน่าสนใจอย่างไร? อ่านได้จากข้างล่างนี้ครับ



ประชาธิปไตยกับการทำน้ำหวาน

เมื่อวันพุธที่ 8 และวันศุกร์ที่ 10 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกที่ผมได้พบกับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่ลงทะเบียนเรียนวิชา 935-123 ทักษะชีวิต (Life Skills) ในหัวข้อ "หน้าที่พลเมืองและจิตสำนึกสาธารณะ" วิชานี้มีอาจารย์ร่วมกันสอนหลายท่าน และผมก็เป็นหนึ่งในนั้น รับผิดชอบสอนนักศึกษาทั้งหมด 5 กลุ่ม กลุ่มละ 1 ครั้ง ครั้งละ 3 ชั่วโมง เฉพาะวันพุธ และวันศุกร์ที่ผ่านมาเป็นนักศึกษากลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 5


ในหัวข้อที่เกี่ยวกับหน้าที่พลเมืองนั้น ผมบอกนักศึกษาว่า จะรู้ว่าพลเมืองมีหน้าที่อะไรนั้น ก็ต้องรู้ก่อนว่า เป็นพลเมืองในระบอบอะไร? จากนั้นจึงถามว่าปัจจุบันเราอยู่ภายใต้ระบอบการปกครองอะไร? เผด็จการหรือประชาธิปไตย?
จากนั้นผมก็เริ่มสอนเรื่องประชาธิปไตยว่า ประชาธิปไตยมีองค์ประกอบที่สำคัญและขาดไม่ได้ก็คือ "การเลือกตั้ง" แต่มีเฉพาะการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวยังไม่พอ และย้ำว่าปัจจุบันนี้ระบอบประชาธิปไตยที่นานาประเทศใช้กันอยู่คือ ระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีหรือระบอบเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democracy) อ่านรายละเอียดที่นี่
ถ้าองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ของประชาธิปไตย (Democracy) คือการเลือกตั้ง องค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ในการทำน้ำหวาน อย่างน้ำผลไม้กระเจี๊ยบ น้ำลำไย น้ำมะตูม น้ำมะพร้าว ฯลฯ ก็คือ "น้ำ" ฉะนั้น หากเปรียบว่าน้ำผลไม้ดังกล่าวคือ ประชาธิปไตย การเลือกตั้งก็คือน้ำ นั่นเอง
แต่การมีองค์ประกอบแค่น้ำเพียงอย่างเดียว ยังไม่พอที่จะเรียกว่าเป็นน้ำผลไม้ต่างๆ เช่นเดียวกัน การมีแต่การเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวยังไม่พอที่จะเป็นประชาธิปไตย แต่การจะเป็นประชาธิปไตยโดยให้ไม่มีการเลือกตั้งก็ไม่ได้ การเลือกตั้งจึงเป็นเงื่อนไขที่สำคัญและจำเป็น (necessary condition) แต่ก็เป็นเงื่อนไขที่ไม่เพียงพอ
ถ้าจะทำให้ประชาธิปไตยตั้งมั่นยั่งยืน นอกจากจะให้มีการเลือกตั้งแล้ว ยังจะต้องทำในเรื่องอื่นๆ อีกมาก นั่นคือ การสร้างสถาบันทางการเมืองอย่างรัฐสภา พรรคการเมือง สถาบันที่ดูแลเรื่องการเลือกตั้ง หน่วยงานต่างๆ ที่คอยตรวจสอบสถาบันทางการเมืองและนักการเมือง การสร้างสถาบันส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพ และคุ้มครองไม่ให้เกิดการละเมิดในเรื่องดังกล่าว ทั้งหมดนี้เราเรียกกันว่า กระบวนการของการสร้างประชาธิปไตย (Democratization)
อย่างไรก็ดี สำหรับประเทศไทยแล้ว ดูเหมือนว่า เฉพาะแค่ให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งอย่างที่ผมบอกไว้ว่า การเลือกตั้งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของประชาธิปไตย ไม่ต่างจาก "น้ำ" ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการทำน้ำหวานผลไม้ เฉพาะแค่การเลือกตั้งประเทศไทยเราก็ไม่ค่อยจะมีอย่างยั่งยืนถาวร เนื่องจากเกิดการรัฐประหารยึดอำนาจอยู่บ่อยครั้ง แล้วผู้ยึดอำนาจก็ใช้ระบบของ "การแต่งตั้ง" แทน หรือไม่ก็กำหนดให้ "การแต่งตั้ง" เป็นส่วนผสมอยู่ในระบบที่พวกเผด็จการที่ยึดอำนาจเขาควบคุมได้อยู่เสมอๆ เช่น การมี ส.ว. ที่มาจากทั้งการเลือกตั้งและการแต่งตั้ง เขาจะไม่ยอมให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งล้วนๆ แล้วอย่างนี้ จะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร มันก็เหมือนกับการที่เอา อย่างอื่นที่ไม่ใช่ "น้ำ" เทผสมลงไปเพื่อทำน้ำผลไม้ ก็รังแต่จะทำให้น้ำผลไม้เน่าเสียไปเปล่าๆ 

Wednesday, October 1, 2014

จัสติน เกรย์

มีบทกลอนบทหนึ่งที่เล่าเกี่ยวกับคนที่มีอีโก้สูง ที่ถึงแม้ว่าเขาจะแพ้ แต่ยังไงเขาก็ต้องเป็นคนถูกต้อง ซึ่งกล่าวว่า
พ่อหนุ่ม จัสติน เกรย์ ผู้ไม่เคยผิด
เขายอมตายเพื่อปกป้องความคิดตัวเอง
เขาจะเป็นฝ่ายถูก
เขาจะมีเหตุผลของตัวเอง
สำหรับเขาแล้ว การมีชีวิตอยู่พร้อมกับความผิด
มันก็เหมือนการตายทั้งเป็น

ทุกครั้งที่ผมเห็นคนรอที่จะข้ามถนนตรงทางม้าลาย ผมชอบนึกถึงบทกลอนนี้เสมอ เพราะผมกำลังเห็นคนที่มั่นใจที่สุดคนหนึ่ง ที่คิดว่าเขาเป็นคนที่ถูกต้องที่สุดกำลังจะเดินข้ามถนน ในขณะที่มีรถวิ่งผ่านเต็มไปหมด
ในหัวของเขาคิดเพียงสิ่งเดียวคือ รถทุกคันต้องหยุดให้เขาเดินข้ามถนนโดยไม่มีข้อแม้ใดๆ เขาทำสิ่งที่ถูกต้อง ดังนั้น คนอื่นต้องเป็นคนผิด ในโลกของความเป็นจริง ผมก็เห็นคนแบบนี้อยู่เหมือนกันคือ พวกที่ไม่ยอมรับความจริง โทษคนอื่น แทนที่จะโทษตัวเอง คนที่โต้เถียงคนอื่น แทนที่จะรับฟังคนอื่น เป็นคนที่มองโลกโดยใช้ความคิดตัวเองเป็นใหญ่ ไม่แคร์คนอื่น
ทุกครั้งที่ผมเจอคนแบบนี้ ผมมักจะเตือนสติตัวเองอยู่เสมอๆ ว่า ผมกำลังเป็น จัสติน เกรย์ อยู่หรือเปล่า 
 Robert T. Kiyosaki